กลุ่มเสี่ยง "โรคฝีดาษลิง" จากชาวไนจีเรีย กรมวิทย์ฯ เผย ผลเป็นลบทั้งหมด

25 ก.ค. 2565 | 16:35 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2565 | 23:38 น.
1.4 k

กรมวิทย์ฯ เผย กลุ่มเสี่ยง "โรคฝีดาษลิง" จากชาวไนจีเรีย ผลเป็นลบทั้งหมด ขณะที่ลูกบิดประตู-ผ้าปู มีผลบวกแต่ยังระบุไม่ได้ว่า สามารถแพร่เชื้อต่อได้หรือไม่

25 กรกฎาคม 2565 จากกรณีการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกรณีพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรายแรกของไทยที่จังหวัดภูเก็ต ความคืบหน้าล่าสุด นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า การตรวจหาเชื้อฝีดาษลิงในกลุ่มเสี่ยงสูง 27 รายที่เชื่อมโยงกับผู้ติดเชื้อชาวไนจีเรียนั้น ผลออกมาเป็นลบทั้งหมด

 

ส่วนการตรวจสิ่งแวดล้อม เช่น ลูกบิดประตู ผ้าปูต่าง ๆ พบผลเป็นบวก แต่ยังระบุไม่ได้ว่าสามารถแพร่เชื้อต่อได้หรือไม่ พร้อมย้ำการติดเชื้อต้องมีความใกล้ชิดกันมาก ทั้งนี้ มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ช่วยป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ และได้นำตัวอย่างเชื้อที่เก็บจากแผลของผู้ติดเชื้อรายแรกในไทย มาเพาะเชื้อเพิ่ม ก่อนนำไปทดสอบกับภูมิคุ้มกันของคนไทยที่เคยปลูกฝีดาษ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบการแพร่เชื้อฝีดาษลิงทางอากาศ พร้อมจัดทำประกาศเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในวันนี้ (25 ก.ค.) เพื่อปลดล็อกให้โรคฝีดาษลิงดำเนินการตรวจในห้องแล็บระดับ 2 ได้

 

ขณะที่มีรายงานว่า นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจ.ภูเก็ต เปิดเผยถึงเรื่องนี้สอดคล้องกันว่า ผลจากการเก็บตัวอย่างผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 19 ราย ไปส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการออกมาเป็นลบทั้ง 19 ราย และได้มีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยมีเจ้าหน้าที่จะโทรถามอาการทุก 7 วัน 14 วันและ 21 วัน และในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเมื่อครบกักตัว 21 วันจะมีการเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอีกครั้ง

พร้อมกันนี้ขอความร่วมมือประชาชนอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากโรคฝีดาษลิงติดต่อกันได้ยากกว่าโรคโควิด 19 ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดโดยตรงกับผู้ที่มีอาการโรคฝีดาษลิง ซึ่งมีตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนองที่ผิวหนังตามตัว

 

รวมทั้งการสัมผัสเมื่อมีเพศสัมพันธ์ การป้องกันฝีดาษวานรทำได้โดยสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้บ่อย เลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก และปาก ระวังสัตว์กัดหรือข่วน ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยฝีดาษลิง

 

ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข เตรียมแนวทางเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง หลังองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยยกระดับศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรมควบคุมโรค เป็นระดับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้สามารถสั่งการเฝ้าระวังมีความครอบคลุมทั่วประเทศ