ดอลลาร์พุ่งสูงสุดรอบ 20 ปี ล่าสุดใกล้แตะ 1:1 เมื่อเทียบยูโร

12 ก.ค. 2565 | 06:04 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2565 | 13:18 น.
4.2 k

ดอลลาร์สหรัฐดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคืนวานใกล้แตะระดับ 1.00 เทียบยูโร ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยูโรโซน

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ พุ่งขึ้น 1.07% สู่ระดับ 1.008 เมื่อเทียบ ยูโร ณ เวลา 22.16 น.ของวันที่ 11 ก.ค. (ตามเวลาไทย) ขณะที่แข็งค่า 0.94% สู่ระดับ 137.36 เยน ส่วนยูโรขยับขึ้น 0.03% สู่ระดับ 138.53 เยน และ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.79% สู่ระดับ 107.85

 

ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้นนี้ เป็นผลมาจากการที่นักลงทุนพากันเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ขณะที่กังวลว่า ประเทศในกลุ่มยูโรโซนจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นจากราคาน้ำมันที่ทะยานขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดจากการที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน

นักลงทุนพากันเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินปลอดภัยในเวลานี้

นอกจากนี้ ยุโรปยังกำลังเผชิญวิกฤตพลังงาน หลังจากที่รัสเซียประกาศจะยุติการส่งก๊าซธรรมชาติผ่านทางท่อส่งก๊าซ “นอร์ดสตรีม1” (Nord Stream1) ให้แก่ยุโรปวานนี้ (11 ก.ค.)

ข่าวระบุว่า บริษัทนอร์ดสตรีม ( Nord Stream AG)  ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการท่อส่ง Nord Stream 1 ประกาศยืนยันว่า ทางบริษัทจะปิดท่อส่งดังกล่าวในวันจันทร์ (11 ก.ค.) อ้างเหตุผลว่าเพื่อทำการซ่อมบำรุงจนถึงวันที่ 21 ก.ค.นี้ ท่อดังกล่าวเป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมายังเยอรมนีผ่านทางทะเลบอลติก

 

อย่างไรก็ดี มีความวิตกกันว่า แม้เมื่อ Nord Stream 1 เสร็จสิ้นการซ่อมบำรุงในวันที่ 21 ก.ค. รัสเซียก็จะยังคงตัดการส่งก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรปอยู่ดี

 

ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปีเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ คาดว่าจะยิ่งส่งผลกระทบซ้ำเติมเศรษฐกิจยูโรโซนให้ซบเซาลงไปอีก

ขณะเดียวกัน นักลงทุนมองว่าตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการแข็งค่าของดอลลาร์ต่อไป

 

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 372,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 250,000 ตำแหน่ง         

 

นักลงทุนพากันคาดการณ์ว่า เฟดมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 1.00% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนก.ค.นี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่ง

 

FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 4.6% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค. และให้น้ำหนัก 95.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%

 

ก่อนหน้านี้ นักลงทุนเคยคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเฟดเดือนก.ค. แต่ล่าสุดตัวเลขคาดการณ์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ได้หายไป และแทนที่ด้วยคาดการณ์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00%

 

ขณะเดียวกัน ตลาดจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนมิ.ย.ในวันพุธนี้ (13 ก.ค.) ซึ่ง นักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี CPI ของสหรัฐจะพุ่งขึ้น 8.8% ซึ่งสูงกว่าระดับ 8.6% ของเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา