สื่อต่างประเทศรายงานว่า ผู้ประท้วง จำนวนหลายพันคนที่โกรธแค้นเกี่ยวกับการบริหารประเทศของรัฐบาลและ วิกฤติเศรษฐกิจ ที่กำลังกัดกร่อนคุณภาพชีวิตของประชาชนชาว ศรีลังกา ให้ถดถอยลงไปทุก ๆวัน ได้พากันมุ่งหน้าไปยัง ทำเนียบประธานาธิบดี โคฐาภยะ ราชปักษะ และกรูกันเข้าไปบุกยึดไว้ตั้งแต่วันเสาร์ (9 ก.ค.) พร้อมกับจุดไฟเผาบ้านพักของนายรานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน พวกเขาประกาศว่าจะประท้วงเช่นนี้ต่อไปและจะยึดทำเนียบประธานาธิบดีไว้จนกว่าทั้งประธานาธิบดีและนายกฯ จะลาออก
สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐรายงานว่า ประธานาธิบดีราชปักษะได้ถูกทหารนำตัวไปยังสถานที่ปลอดภัยซึ่งไม่เปิดเผยว่าเป็นที่ใด ก่อนที่จะการประท้วงใหญ่ครั้งล่าสุดจะเริ่มขึ้น ถือเป็นวิกฤติทางการเมืองครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของศรีลังกา
ก่อนหน้านี้ ทั้งประธานาธิบดีราชปักษะ และนายกรัฐมนตรีวิกรมสิงเห ต่างก็ให้คำมั่นกับรัฐสภาศรีลังกาว่าจะลงจากตำแหน่งในวันพุธที่ 13 กรกฎาคมนี้ เพื่อให้มีการส่งต่ออำนาจการบริหารอย่างราบรื่น แต่ผู้ประท้วงยังคงต้องการให้ผู้นำทั้งสองคน “ลาออกในทันที”
ภาพเหตุการณ์ที่ถูกแชร์ว่อนในโลกโซเชียลมีเดียแสดงให้เห็นประชาชนจำนวนมาก บุกเข้าไปในทำเนียบซึ่งก็คือบ้านพักประจำตำแหน่งอันใหญ่โตหรูหราของปธน.ราชปักษะ พวกเขากรูกันเข้าไปในห้องโถงอันโอ่อ่า บางคนถือธงชาติศรีลังกาโบกสะบัด หลายคนขึ้นบันไดไปยังชั้นบน พวกเขานั่งอยู่ตามระเบียงทำเนียบ ตะโกนด่าทอผู้นำศรีลังกาที่บัดนี้หลบหนีออกไปแล้ว ภาพจารึกในประวัติศาสตร์คือ ผู้ประท้วงจำนวนมากกระโจนลงไปในสระว่ายน้ำหรูฟู่ของทำเนียบประธานาธิบดีเพื่อดับความรุ่มร้อน และลิ้มชิมความฉ่ำเย็นของอภิสิทธิ์ชีวิตหรูอยู่สบายที่พวกเขาไม่เคยได้รับ
รายงานระบุว่า ผู้ประท้วงอีกส่วนหนึ่งใช้รถโดยสาร รถบรรทุก และรถไฟเดินทางเข้ามาในกรุงโคลอมโบ เพื่อเข้ามาสมทบกับมวลมหาประชาชนในเมืองหลวง พวกเขาโบกธงสีดำและธงชาติศรีลังกา ต่างตะโกนขับไล่ประธานาธิบดีให้ลงจากตำแหน่งในทันที
รัฐบาลศรีลังกาส่งเจ้าหน้าที่เกือบ 20,000 นายเข้าปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนและปกป้องความปลอดภัยรอบทำเนียบปธน. แต่ถึงกระนั้น เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถสกัดกั้นบรรดาผู้ประท้วงที่พยายามบุกเข้าไปด้านในของทำเนียบให้ได้ มีรายงานว่าผู้ประท้วงหลายสิบคนได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโคฐาภยะ ราชปักษะ และน้องชาย คือ นายมหินทรา ราชปักษะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งไขก๊อกออกไปก่อนที่นายรานิล วิกรมสิงเห จะเข้ามารับตำแหน่งแทน ได้ตกเป็นเป้าวิจารณ์ถึงความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการบริหารประเทศ นำไปสู่การประท้วงขับไล่ออกจากตำแหน่งที่กลายเป็นเหตุรุนแรงในช่วงที่ผ่านมาของศรีลังกา
นายรานิล วิกรมสิงเห ซึ่งก้าวขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนพฤษภาคม ออกมายอมรับว่า เศรษฐกิจของประเทศได้ “ล่มสลาย” ลงไปแล้ว เพราะขาดแคลนเงินสำหรับการนำเข้าอาหารและพลังงานที่จำเป็นในการขับเคลื่อนประเทศ รัฐบาลชุดปัจจุบัน พยายามมองหาช่องทางแก้ปัญหาด้วยการกู้ยืมเงินจากจีน อินเดีย และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
นายกฯ วิกรมสิงเห ซึ่งเข้ามารับเผือกร้อนได้ไม่กี่สัปดาห์ในการกู้วิกฤตเศรษฐกิจประเทศ ยอมรับว่า ศรีลังกากำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ก้นบึ้งของวิกฤติ ภาพของประชาชนที่ต้องอดมื้อกินมื้อเพราะภาวะขาดแคลนอาหารและสินค้าจำเป็น ต้องต่อแถวรอคิวยาวเหยียดเพื่อซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง กลายเป็นความเป็นจริงอันโหดร้ายของศรีลังกา ซึ่งเคยได้ชื่อว่า เป็นประเทศหนึ่งที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นในตัวผู้นำเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ประท้วงมองว่า นายวิกรมสิงเห ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 6 ครั้ง มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีราชปักษะ เขาจึงถูกมองอย่างเคลือบแคลงใจ และถูกกล่าวหาไปด้วยว่า พยายามปกป้องตระกูลราชปักษะมากเกินไป
ดังนั้น ส่วนหนึ่งของผู้ประท้วงขึงมองว่า นายกฯวิกรมสิงเห ก็เป็นพวกเดียวกับปธน.ราชปักษะ ดังนั้นพวกเขาจึงพากันบุกไปเผาบ้านพักของนายกฯ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (9 ก.ค.) ด้วยเช่นกัน แต่เจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายวิกรมสิงเห หนีออกไปยังสถานที่ปลอดภัยได้ก่อนแล้ว
นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกาเกิดจากปัจจัยภายในประเทศ ทั้งการบริหารที่ล้มเหลวและปัญหาการทุจริตที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน
ปัจจุบัน รัฐบาลศรีลังกามีภาระหนี้ 51,000 ล้านดอลลาร์ และไม่สามารถที่จะชำระดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวได้ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และความกังวลเรื่องความปลอดภัยหลังจากเกิดเหตุก่อการร้ายเมื่อ 3 ปีก่อน
ซ้ำร้ายค่าเงินศรีลังกายังร่วงหนักถึง 80% ทำให้การนำเข้าสินค้าต่าง ๆ แพงขึ้นอย่างมาก และทำให้ภาวะเงินเฟ้อของประเทศเป็นปัญหาที่ยากเกินควบคุม ด้วยต้นทุนราคาอาหารพุ่งสูง 57%
จากปัจจัยทั้งหลายที่กล่าวมา ได้ผลักให้ศรีลังกาดำดิ่งเข้าสู่ภาวะ “ล้มละลาย” ไม่มีเงินสำหรับการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง นม แก๊สหุงต้ม หรือแม้แต่กระดาษชำระ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการทุจริตซึ่งไม่เพียงทำลายความมั่งคั่งของประเทศ แต่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการกู้วิฤตการเงินของศรีลังกาอีกด้วย
ที่มา: วีโอเอ