นายกฯใหม่ศรีลังกา รับเผือกร้อนเศรษฐกิจพังพินาศ เร่งเจรจา IMF ทำแผนฟื้นชีพ

23 มิ.ย. 2565 | 10:29 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มิ.ย. 2565 | 17:45 น.

นายกฯคนใหม่ของศรีลังกา ยอมรับว่า เศรษฐกิจของประเทศได้ "พังพินาศ" ลงแล้วโดยสิ้นเชิง หลังเกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร พลังงาน ไฟฟ้า และสินค้าจำเป็นมาเนิ่นนานหลายเดือน ตอกย้ำภาวะวิกฤตที่ทุกคนต้องเผชิญ ขอเวลารัฐบาลเร่งเจรจา IMF และหาแหล่งกู้เงินมาช่วยพยุงสถานะของประเทศ

นายรานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของ ศรีลังกา ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ได้ออกมายอมรับต่อสมาชิกรัฐสภาเมื่อวันพุธ (22 มิ.ย.) เกี่ยวกับ สถานการณ์เศรษฐกิจ ที่ทรุดหนักของประเทศ โดยไม่ได้ระบุถึงความคืบหน้าใหม่ ๆมากนัก ทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่า เขาน่าจะมีจุดประสงค์เพียงเพื่อต้องการเน้นย้ำให้นักการเมืองฝ่ายค้านเห็นว่า เขาแบกรับหน้าที่อันยากลำบากเปรียบเสมือน เผือกร้อน ที่รับต่อมาจากรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงได้ในเร็ววัน เนื่องจากเศรษฐกิจของศรีลังกาเต็มไปด้วยภาระหนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวก็หดหายไป ทั้งยังถูกซ้ำเติมด้วยผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก

 

ในสัปดาห์นี้ เขาต้องเผชิญกับสมาชิกสภาจากพรรคฝ่ายค้านหลักทั้งสองพรรคที่ไม่เข้าร่วมการประชุมสภาเพื่อประท้วงนายวิกรมสิงเห ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้  

รานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของศรีลังกา

ทั้งนี้ นายรานิล วิกรมสิงเห เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของศรีลังกา เขากลับมารับตำแหน่งเมื่อเดือนพ.ค.หลังจากที่นายกฯคนก่อนถูกประชาชนลุกฮือประท้วงใหญ่จนต้องไขก๊อกลาออกไป  เปิดทางให้นายวิกรมสิงเหกลับมาครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ควบกับตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง

ปัญหาใหญ่ที่นายวิกรมสิงเห ออกมาพูดถึงและเหมือนจะขอความเห็นใจไปด้วยในขณะเดียวกันก็คือ เขาเข้ามารับตำแหน่งในขณะที่บ้านเมืองเกิดเหตุประท้วงรุนแรงเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่รัฐบาลชุดก่อนก็ดำเนินการล่าช้าในการแก้ไขปัญหา จนทุนสำรองระหว่างประเทศของศรีลังกาก็ร่อยหรอลงแทบไม่เหลือ     

 

นายกฯคนใหม่ของศรีลังกากล่าวว่า ศรีลังกาไม่สามารถซื้อพลังงานนำเข้าได้ เนื่องจากบริษัทพลังงานของรัฐบาล ซึ่งก็คือบริษัท ซีลอน ปิโตรเลียม คอร์ปอเรชัน (Ceylon Petroleum Corporation) เป็นหนี้อยู่ถึง 700 ล้านดอลลาร์ ทำให้ไม่มีประเทศหรือองค์กรใดต้องการขายน้ำมันให้ศรีลังกา

 

วิกฤตทุนสำรองระหว่างประเทศของศรีลังกาส่งผลต่อการนำเข้าสินค้าของประเทศ ทำให้ศรีลังกาขาดแคลนอาหาร น้ำมัน ไฟฟ้า และปัจจัยสำคัญอื่น ๆในการดำรงชีพ เช่น ยารักษาโรค ทำให้ประชาชนต้องต่อแถวยาวเพื่อรอรับสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ

 

อยู่รอดด้วยเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ

ที่ผ่านมา ศรีลังกาได้รับวงเงินเครดิตจากอินเดียเป็นมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศ แต่นายวิกรมสิงเหระบุว่า อินเดียคงจะไม่สามารถช่วยเหลือศรีลังกาได้ในระยะยาว

ส่วนธนาคารโลกนั้น ได้ออกมาระบุว่า จะมอบความช่วยเหลือ 300-600 ล้านดอลลาร์ให้แก่ศรีลังกาเพื่อใช้ซื้อยาและสิ่งของจำเป็นอื่น ๆ 

 

ก่อนหน้านี้ ศรีลังกาประกาศว่าจะระงับการชำระหนี้ต่างชาติจำนวน 7,000 ล้านดอลลาร์ที่มีกำหนดชำระในปีนี้ ในระหว่างที่รอผลการเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เกี่ยวกับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งเท่าที่ผ่านมา ศรีลังกาต้องชำระเงินคืนให้กับ IMF อยู่แล้ว เฉลี่ยปีละ 5,000 ล้านดอลลาร์จนถึงปี ค.ศ. 2026 (พ.ศ. 2569)

 

ความช่วยเหลือจาก IMF เหมือนจะเป็นหนทางเดียวของประเทศเรา โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ของ IMF ได้เดินทางเยือนศรีลังกาเพื่อหารือถึงแผนฟื้นฟูแล้ว คาดว่าจะสามารถสรุปข้อตกลงระดับเจ้าหน้าที่ได้ภายในสิ้นเดือนหน้า (ก.ค.)” นายกฯศรีลังกากล่าวและว่า  ขณะนี้ IMF และศรีลังกา ได้ข้อสรุปเบื้องต้นแล้ว และได้แลกเปลี่ยนมุมมองต่อภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การคลังสาธารณะ ความยั่งยืนของหนี้ ความมั่นคงของภาคธนาคาร และเครือข่ายการประกันสังคม

 

นอกจากนี้ ตัวแทนจากสองบริษัทการเงิน ได้แก่ บริษัทลาซาร์ด (Lazard) และคลิฟฟอร์ด แชนซ์ (Clifford Chance) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษารัฐบาลด้านการปรับโครงสร้างหนี้ กำลังเดินทางเยือนศรีลังกา ขณะที่ทีมจากกระทรวงการคลังสหรัฐ มีกำหนดจะเดินทางเยือนศรีลังกาในสัปดาห์หน้า