เปิดประวัติ "รูจา อิกนาโตวา" ราชินีคริปโต18 มงกุฎ ที่ FBI ต้องการตัวมากที่สุด

07 ก.ค. 2565 | 08:19 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2565 | 20:16 น.
8.3 k

“รูจา อิกนาโตวา” นักธุรกิจหญิง เชื้อสายบัลแกเรีย-เยอรมัน ผู้ก่อตั้งบริษัทวันคอยน์ (OneCoin) เจ้าของฉายา “ราชินีคริปโต” (Cryptoqueen) เป็นใคร มาจากไหน? เหตุใดจึงกลายเป็นผู้ต้องหาหนีคดีโกงบันลือโลกกว่า 1.4 แสนล้าน! ที่ทำให้ FBI ต้องการตัวเป็นที่สุด ที่นี่มีคำตอบ

จากกรณี สำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (FBI) ประกาศมอบรางวัลถึง 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.56 ล้านบาท ให้แก่บุคคลใดก็ตามที่สามารถให้เบาะแสนำไปสู่การจับกุม นางรูจา อิกนาโตวา (Ruja Ignatova) เจ้าของฉายา "ราชินีคริปโต" (Cryptoqueen) ผู้ก่อตั้ง บริษัท วันคอยน์ (OneCoin) ฐานฉ้อโกง ก่อให้เกิดความเสียหายกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 142,714 ล้านบาทนั้น

 

แรงกระเพื่อมส่งมาถึงประเทศไทย หลังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) โดยพล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รอง ผบช.สตม. ออกมาระบุวานนี้ (6 ก.ค.) ว่าได้ประสานกับกองการต่างประเทศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเรื่องของ “บัญชีบุคคลเฝ้าระวัง” จากข่าวที่ว่าเธออาจกบดานอยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ ได้ประสานให้มีการตรวจสอบชาวต่างชาติ ในลักษณะอยู่เกินกฎหมายกำหนด หรือโอเวอร์สเตย์ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเรื่องการเข้ามาในประเทศของชาวต่างชาติ ซึ่งกรณีนี้จะมีการติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด

ประกาศของ FBI

 

ก่อนจะกลายเป็นผู้ต้องหาหนีคดีฉ้อโกงกว่า 1.4 แสนล้าน และอยู่ในบัญชีบุคคลหนีคดี 10 คนที่ FBI ต้องการตัวมากที่สุด (Ten Most Wanted Fugitives) นั้น นางรูจา อิกนาโตวา มีชื่อเสียงในโลกคริปโตเคอร์เรนซี ในฐานะนักธุรกิจสตรีเชื้อสายบัลแกเรีย-เยอรมัน วัย 42 ปี ผู้ก่อตั้ง บริษัท “วันคอยน์” (OneCoin) ซึ่งจดทะเบียนในเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองโซเฟีย ประเทศบัลแกเรีย บ้านเกิดของเธอ

บริษัท วันคอยน์ จำกัด จดทะเบียนก่อตั้งในปี 2014 (พ.ศ. 2557) เป็นเจ้าของ เหรียญคริปโต OneCoin อีกหนึ่งสกุลเงินดิจิทัลที่เคยได้รับความนิยมในหมู่นักลงทุนตลาดคริปโต เนื่องจากอิกนาโตวาชักจูงให้นักลงทุนเชื่อว่าพวกเขาจะได้รับผลตอบแทนที่ดี มีกำไรงดงาม ด้วยการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลที่ไม่มีอยู่จริง เธอเอาเงินที่ได้จากนักลงทุนกลุ่มแรกๆ มาหมุนเวียนจ่ายตอบแทนให้กลุ่มหลัง ๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและดึงดูดนักลงทุนเพิ่มขึ้นคล้าย ๆกับแชร์ลูกโซ่ ขณะเดียวกันได้โฆษณาจูงใจถึงข้อดีของเหรียญดังกล่าว มีการตั้งบริษัทลูกชื่อ Conligus เพื่อให้บริการสุดพิเศษสำหรับผู้ลงทุน สามารถนำเหรียญ OneCoin ไปใช้ประมูลซื้อสินค้า เช่น ทองคำ และสินค้าแบรนด์เนม  

 

นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์มของตัวเองในการซื้อขายแลกเปลี่ยน OneCoin กับเงินคริปโตสกุลอื่นๆ รวมทั้งการนำเหรียญดังกล่าวไปเปลี่ยนเป็นเงินสดสกุลเงินยูโรในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet)  แต่รูปแบบธุรกิจที่วันคอยน์ดำเนินการเป็นรูปธรรมเห็นชัดที่สุด คือ การขาย “แพคเกจการเรียนรู้” (สำหรับผู้ลงทุน) ที่มีการตั้งราคาตามระดับ เช่น แพคเกจผู้เริ่มต้น (Starter) ราคาตั้งแต่ 100 ยูโร ถึงระดับผู้ค้ามหาเศรษฐี (Tycoon Trader) ราคา 1.18 แสนยูโร เป็นต้น

 

ผู้ลงทุนแต่ละแพคเกจจะได้รับเหรียญ OneCoin มูลค่าแตกต่างกันไป เป็นเสมือนเงินลงทุนเบื้องต้น มีการรับประกันรายได้ที่จะได้รับตอบแทนกลับมาด้วย นอกจากนี้ ยังมีการให้ผู้ลงทุนเชิญชวนบุคคลอื่นมาซื้อแพคเกจต่อ ๆ กันไป

 

โปรไฟล์ของเธอเลิศหรูดูดี

แต่แล้ววันที่ 1 มีนาคม 2016 จู่ ๆ บริษัทวันคอยน์ก็ออกประกาศเป็นการภายในกลุ่มผู้ลงทุนว่า จะปิดทำการเป็นการชั่วคราว 2 สัปดาห์เพื่อซ่อมบำรุง-ปรับปรุงระบบ บริษัทอ้างความจำเป็นเนื่องจากมี “ผู้ขุดเหรียญ”จำนวนมาก และเพื่อให้การทำงานเชื่อมโยงกับบล็อกเชนได้ดียิ่งขึ้น แม้ว่าจะมีการเปิดใช้ระบบในวันที่ 15 มี.ค.ตามกำหนด แต่ผู้ลงทุนก็ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในทางที่ดีขึ้น ซ้ำร้ายกว่านั้นคือไม่กี่เดือนต่อมา ระบบบริการแลกเปลี่ยนของวันคอยน์ก็ปิดตัวอย่างไม่มีการแจ้งล่วงหน้าใดๆ ในเดือนมกราคม 2017    

 

ธุรกิจของวันคอยน์เคยเข้ามาโฆษณาชวนเชื่อหาลูกค้าในประเทศไทย ซึ่งในเดือน เม.ย. 2017 (พ.ศ.2560) ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศเตือนในหัวข้อ “ข้อมูลเกี่ยวกับ Onecoin และหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่ลักษณะใกล้เคียง” หลังพบว่ามีการเชิญชวนประชาชนให้ลงทุนในหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยอ้างว่าเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีผู้นิยมใช้ทั่วโลก



ธปท.ยืนยันว่า OneCoin ไม่ใช่เงินที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย และในปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดยอมรับหรือรับรองว่า OneCoin เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ประชาชนควรระมัดระวัง ศึกษาข้อมูลและรายละเอียดให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะมีความเสี่ยงที่มูลค่าของหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้จะผันผวน หรือปรับลดค่าลงได้อย่างรวดเร็ว และอาจใช้เป็นช่องทางในการหลอกลวงและฉ้อโกงประชาชนได้ โดยเฉพาะในกรณีที่มีการโฆษณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะให้ผลตอบแทนสูง หากมีการหาสมาชิกเพิ่มได้มาก 

ประกาศของธปท.เกี่ยวกับ OneCoin เมื่อปี 2560

สำนักข่าวต่างประเทศระบุว่า อิกนาโตวา เกิดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 1980 ที่ประเทศบัลแกเรีย ก่อนที่จะย้ายตามครอบครัวไปตั้งถิ่นฐานที่ประเทศเยอรมนีเมื่ออายุ 10 ขวบ เธอจบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านกฎหมายระหว่างประเทศในปี 2005 จากมหาวิทยาคอนสแตนซ์ ในประเทศเยอรมนี ขณะที่ในเอกสารโฆษณาเชิญชวนผู้ลงทุนเหรียญ OneCoin ในบางประเทศรวมทั้งไทย ระบุว่า อิกนาโตวา จบดอกเตอร์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เป็นนักกฎหมายและนักการเงินที่มีชื่อเสียงในทวีปยุโรป และเป็นที่ปรึกษาให้กับสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 20 สกุลเงิน จนได้ชื่อว่า “ราชินีคริปโต” (Cryptoqueen) เธอสามารถโกยกำไรอย่างน้อย 4,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งก็คือเงินที่เธอฉ้อโกง สร้างความเสียหายให้กับผู้ลงทุน ก่อนบินหายเข้ากลีบเมฆหลังถูกทางการสหรัฐออกหมายจับในปี 2017 (พ.ศ.2560)

 

นอกเหนือจากเอฟบีไอแล้ว ทางสำนักงานตำรวจสากลแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรโพล) ก็ต้องการตัวอิกนาโตวาเช่นกัน ปัจจุบัน เธอมีสถานะเป็น “บุคคลสาบสูญ” โดยมีผู้พบเห็นเธอครั้งสุดท้ายในวันที่ 25 ตุลาคม 2017 หลังเดินทางจากกรุงโซเฟีย ประเทศบัลแกเรีย ไปยังกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ และจากนั้นก็มีข่าวลือว่า เธอน่าจะใช้ชีวิตในเรือยอตช์สุดหรูอยู่ที่ไหนสักแห่งในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อให้อยู่นอกพื้นที่ที่กฎหมายจะเอื้อมถึง  

 

จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่า อิกนาโตวา ยังคงมีชีวิตอยู่หรือไม่ หรือเธออาจใช้ชีวิตอยู่ที่ไหนสักแห่งโดยใช้ชื่ออื่นและใช้หนังสือเดินทางปลอม เนื่องจากเธอมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับหลายประเทศ รวมถึงบัลแกเรีย เยอรมนี รัสเซีย กรีซ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) มีรายงานข่าวในต่างประเทศว่า เธอลดน้ำหนัก และทำศัลยกรรมแปลงโฉม รวมทั้งย้อมผมจากสีดำเป็นบลอนด์  

 

เรื่องนี้ยังคงเป็นปริศนาที่รอคำตอบ แต่ที่แน่ ๆคือ เอฟบีไอและเจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่า เธอน่าจะยังมีชีวิตอยู่ และอาจจะมากบดานอยู่ที่เมืองไทยอย่างที่เป็นข่าว