“รวย-จน”พริบตา ผวาทั้งโลก จุดสลบ“คริปโตเคอเรนซี่”

06 ก.ค. 2565 | 15:00 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2565 | 22:00 น.
2.6 k

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

การผลิกผันของระดับราคาสกุลเงินดิจิทัล เหรียญคริปโตเคอร์เรนซี่ในตลาดโลก โดยเฉพาะ “บิตคอยน์” พี่ใหญ่ที่สวิงขึ้นลงพรวดพราด ชนิดว่า “รวย-จน” กันถ้วนหน้าในพริบตาเดียวก่อให้เกิดคำถามว่า จุดจบของสกุลเงินดิจิทัลจะไปลงเอยตรงไหน
 

ใครที่เป็นนักลงทุนที่ใช้ชีวิตอยู่กับอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในตลาดคริปโตเคอเรนซี่ คงสัมผัสรับรู้รสชาติที่ขมปร่าในลำคอ และหวานชื่นในจิตใจได้เป็นอย่างดี
 

ผมไล่ดูราคาแล้วใจหายวับเลยทีเดียวช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ช่วงกรกฎาคม- กันยายน ช่วงตุลาคม-พฤศจิกายน 2564 เหรียญสกุลเงินดิจิทัลบิตคอยน์เกิดการเก็งกำไรอย่าง “บ้าคลั่ง” ไปทั่วทั้งโลก ราคาบิตคอยน์วิ่งจาก 5.6 แสนบาท ไปทะลุ 1.87 ล้านบาท ในเดือนเมษายน 2564
 

เดือนพฤษภาคมร่วงลงมาจาก 1.7-1.8 ล้านบาท ลงมาอยู่แค่ 1 ล้านบาท ก่อนสวิงพรวดไปยืน 2.1 ล้านบาท ในช่วงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 บรรดานักลงทุนทั่วโลกขึ้นไปยืนอยู่บนฟ้ากันถ้วนหน้า

 

ภาษานักลงทุนเขาว่า บิตคอยน์ถูก “Corner” ราคาขึ้นจาก 9,000-10,000 ดอลลาร์สหรัฐ มาเป็น 3,4000-40,000 ดอลล่าร์สหรัฐ และเมื่อ  อีลอน มัสก์ เจ้าพ่อเทสล่า กระโจนเข้ามา “เล่น” ราคาวิ่งขึ้นไปถึง 60,000-65,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ในเวลาเพียง 4-5 เดือน
 

พอเข้าปี 2565 ราคาบิตคอยน์ยืนต้านลมในระดับ 1.25-1.5 ล้านบาทอยู่ถึงปลายเดือนมีนาคม หลังจากนั้นมา “ร่วงจากฟ้าลงเหว” แบบไม่ตั้งตัว เฉพาะมิถุนายน 2565 ราคาบิตคอยน์ร่วงลงมาจากระดับ 1-1.5 ล้านบาทเหลือเพียง 6.5-6.8 แสนบาท

 

คุณนิเวศน์ เหมวชรากร นักลงทุนวีไอผู้คลุกคลีกับตลาดทุนมายาวนานได้พล็อตตัวเลขพบว่า บิตคอยน์ที่เป็น “เสาหลัก” ของเหรียญคริปโตตกลงไปจากจุดสูงสุดกว่า 60,000 ดอลล่าร์สหรัฐ เมื่อ 8 เดือนก่อน เหลือเพียง 19,200 ดอลล่าร์สหรัฐราคาตกลงไปถึง 70%  จนลงในพริบตา
 

เหรียญอีเธอร์เรียม ที่จะเป็นเหรียญที่นำมาใช้ได้มากมาย และเป็นฐานของเหรียญอื่นตกลงมาจาก 4,650 ดอลล่าร์สหรัฐเหลือ 1,045 ดอลลาร์สหรัฐ ตกลงมาพรวดเดียว 78% 
 

เหรียญเทอร่าและลูน่า ซึ่งถูกออกแบบให้มีราคาเท่า ๆ กับเงินดอลลาร์ตลอดเวลา หรือที่เรียกว่า Stable Coin ราคาตกลงมาแทบจะเป็นศูนย์เหรียญ  
 

เหรียญ “สุนัข-ด็อกคอยน์” ที่ อีลอน มัสก์ เชียร์อย่างออกหน้าออกตาผ่านทวิตเตอร์ตกลงมาถึง 90% เหลือ 0.064 ดอลล่าร์เท่านั้น พังทลายกันไปหมด
 

บรรดานักลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิตอลที่เคยเป็นอายุน้อยร้อยล้าน อายุน้อยพันล้าน ซึ่งระยะเวลา 2 ปี ได้เงินมาแบบรวยไม่รู้เรื่อง ต้องพาตัวเองเข้าไอซียูกันทั้งบ้านทั้งเมือ
 

นอกจากราคาที่ตกลงมาอย่างหนักหน่วงแล้ว ข่าวคราวการล่มสลายของสินทรัพย์ดิจิทัลคริปโตเคอเรนซี่ ก็เริ่มผุดขึ้นมากมายไม่เว้นแต่ละวัน  
 

ไล่จากแพลทฟอร์มซื้อขายคริปโตเคอเรนซี่ Quadriga “โกงลูกค้า” ผ่านธุรกรรมการรับและจ่ายเงินการซื้อขายเหรียญเข้าบริษัท โดยไม่ได้ซื้อขายให้จริง แต่ทำตัวเป็นแบบแชร์ลูกโซ่ สุดท้ายก็ล้มและเจ้าของไปเสียชีวิตที่อินเดีย
 

ร้ายกว่านั้น รหัส-โควต ของการเข้าไปในระบบของแพลทฟอร์มซึ่งมีเขาคนเดียวที่รู้หายไป เงินของลูกค้าจึงกลายเป็นศูนย์   
 

23 มิถุนายน 2565 บริษัท เชนอนาไลซิส ซึ่งติดตามเส้นทางการทำธุรกรรมของเงินดิจิทัล ระบุว่า Lazarus Group กลุ่มแฮกเกอร์ของเกาหลีเหนือได้ทำการจารกรรมคริปโตเคอร์เรนซี มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ ไปจาก บริษัท ฮอไรซอน บริดจ์ 
 

FBI ของสหรัฐ เชื่อว่า แฮกเกอร์เกาหลีเหนือเป็นผู้ก่อเหตุฉกเงินสกุลดิจิทัล 100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เอา 35 บาทคูณไปก็ตก 3,500 ล้านบาท
 

1 กรกฎาคม 2565 มีเรื่องอื้ออึงกันทั้งวงการคอยน์ เมื่อ FBI ของสหรัฐได้เพิ่มชื่อ Ruja Ignatova “ราชินีคริปโต” เข้าไปในบัญชีรายชื่อบุคคลหลบหนีคดี 10 ราย ที่สหรัฐฯ ต้องการตัวมากที่สุด  โดยตั้งเงินรางวัลค่าหัว 100,000 ดอลลาร์ สำหรับผู้ที่ชี้เบาะแสจนนำไปสู่การจับกุมตัว  
 

FBI ของสหรัฐได้ขอให้ผู้ที่รู้เบาะแสที่อยู่ของ Ruja Ignatova สามารถติดต่อสำนักงาน FBI ในพื้นที่ สถานทูต สถานกงสุลอเมริกาที่ใกล้ที่สุด
 

ก่อนหน้านี้เมื่อ เดือนพฤษภาคม สำนักงานตำรวจสากลแห่งสหภาพยุโรป หรือ ยูโรโพล (Europol) ได้เพิ่มชื่อของ Ruja Ignatova ในรายชื่ออาชญากรหลบหนีที่ยุโรปต้องการตัวมากที่สุด
 

Ruja Ignatova เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท วันคอยน์ (OneCoin) ในปี 2014 ต่อมาถูกตั้งข้อหาฉ้อโกงเงินครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์ ก่อนที่จะหลบหนีไปอย่างไร้ร่องรอย และมีข่าวว่าไปอยู่ที่ โซเฟีย บัลแกเรีย เอเธนส์ กรีซ ในช่วง 25 ตุลาคม 2017  
 

กระทั่ง ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2018 ได้มีการออกหมายจับ Ignatova ในหลายข้อหา ฐานสมคบคิดเพื่อกระทำการฉ้อโกง, สมรู้ร่วมคิดในการฟอกเงิน, สมรู้ร่วมคิดในการฉ้อโกงหลักทรัพย์ และฉ้อโกงหลักทรัพย์ โดยมีเหยื่อทั่วโลกจำนวนมาก
 

โลกของสินทรัพย์ดิจิทัล โลกของคริปโตเคอเรนซี่ ที่ไม่มีหลักประกันใดๆนอกเหนือจากความเชื่อมั่นและความคาดหวังว่า ราคาจะขึ้นไปอีก ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยง
 

หันมาดูประเทศไทย ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลกลายเป็นโลกเสมือนที่มีอัตราการขยายตัวรวดเร็วที่สุด มีผู้เล่นเปิดบัญชีในระยะ 2 ปี ทะลุ 3 ล้านรายไปแล้ว
 

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ข้อมูลล่าสุด เดือน พ.ค. 2565 พบว่า มีคนไทยที่เปิดบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลกับแพลตฟอร์มที่ได้รับไลเซนส์จาก ก.ล.ต. รวมกว่า 2.85 ล้านบัญชี แต่หากรวมกับนักลงทุนที่เทรดกับแพลตฟอร์มต่างชาติ ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต. ตัวเลขย่อมสูงกว่านี้มาก
 

คนไทยที่ซื้อขายคริปโตเคอเรนซี่อย่างสมํ่าเสมอมีอยู่ราว 5-6 แสนบัญชี มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 1.06 แสนล้านบาท ...มหาศาล
 

เจ้าตลาดที่ครองมาร์เก็ตแชร์เบอร์ 1 คือ “บิทคับ” แพลตฟอร์มของคนไทย โดยในปี 2564 บิทคับมีมูลค่าการซื้อขายรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 98% ของวอลุ่มทั้งตลาด ด้วยจำนวนลูกค้ากว่า 3.4 ล้านบัญชี
 

ซิปเม็กซ์ครองมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 2 ด้วยจำนวนลูกค้ากว่า 5 แสนบัญชีที่ผ่านการยืนยันตัวตนแล้ว
 

30 มิถุนายน 2565 ตลาดแตก เมื่อ ก.ล.ต.โดยคณะคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) ประกาศลงโทษปรับผู้กระทำความผิดของบริษัท บิตคัพ 3 ราย โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง 
 (1) ให้บริษัทบิทคับ ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมาย และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 8,053,764 บาท
  (2) ให้นายอนุรักษ์ ชำเชื้อชัย ร่วมกันในการส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขาย Bitkub ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมาย และชดใช้ค่าใช้จ่าย 8,053,764 บาท ห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 6 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน
 (3) ให้นายสกลกรย์ สระกวี ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัทบิทคัพ ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่าย 8,053,764 บาท และห้ามนายสกลกรย์ ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 6 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน รวม 3 รายสั่งปรับไป 24 ล้านบาทเศษ
 

วันเดียวกัน ก.ล.ต.โดย ค.ม.พ. ประกาศว่า อาจมีการสร้างปริมาณเทียมในศูนย์ซื้อขาย Satang Pro พบการกระทำเข้าข่ายเป็นความผิดของบุคคล 4 ราย จึงวั่งปรับทางแพ่งทั้งหมด 24.1 ล้านบาท
 (1) ให้บริษัทสตางค์ ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. 6,040,323 บาท 
 (2)  ให้บริษัท LLC Fair Expo ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. 6,040,323 บาท ห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 6 เดือน 
 (3) ให้นายปรมินทร์ อินโสม ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัทสตางค์ ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. 6,040,323 บาท และห้ามนายปรมินทร์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล  6 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร 12 เดือน
  (4) ให้ Mikalai Zahorski เจ้าของและกรรมการผู้จัดการ ของบริษัท LLC Fair Expo ที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทสตางค์และบริษัท LLC Fair Expo ชำระค่าปรับทางแพ่งขั้นสูงสุดตามกฎหมายและชดใช้ค่าใช้จ่าย 6,040,323 บาท และห้าม Mikalai ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 6 เดือน และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน
 

สินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ ที่เห็นเงินกำไรในพริบตา ปั่นป่วนไปทั้งโลก!

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3798 ระหว่างวันที่ 7-9 ก.ค.2565