‘อียู’ เตรียมบังคับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนใช้หัวชาร์จแบบ USB-C ทั้งหมด ในอีก 2 ปี

08 มิ.ย. 2565 | 12:43 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มิ.ย. 2565 | 19:54 น.

สหภาพยุโรป (อียู) ลงนามในข้อตกลงชั่วคราวเมื่อวันอังคาร (7 มิ.ย.)  ว่าด้วยการบังคับให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟน ใช้สายชาร์จรูปแบบเดียวกันทั้งหมดกับทุกอุปกรณ์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า

ภายใต้มาตรการใหม่ของ สหภาพยุโรป (อียู) ที่เพิ่งลงนามเมื่อวันอังคาร (7 มิ.ย.)และจะมีผลบังคับใช้ในฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 2024 (พ.ศ.2567) หรืออีก 2 ปีข้างหน้า จะให้ผู้ผลิต สมาร์ทโฟน ทั้งหมดหันมาใช้ หัวชาร์จแบบ USB-C เพียงแบบเดียว กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาขนาดเล็กและขนาดกลาง ทั้งสมาร์ทโฟน แทบเล็ต แล็ปท้อป หูฟัง กล้องดิจิทัล เครื่องเล่นเกมพกพา คีย์บอร์ดและเมาส์ ลำโพงพกพา และจีพีเอส เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวอยู่แล้ว ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาความสับสนในกลุ่มผู้ใช้งานที่มีอุปกรณ์ต่างแบรนด์อยู่ในมือแล้ว ยังเป็นหนทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืนและลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ในสหภาพยุโรปได้อีกทางหนึ่ง

 

อเล็กซ์ อากิอุส ซาลิบา หัวหน้าฝ่ายเจรจาของคณะกรรมาธิการยุโรป เปิดเผยว่า ผู้บริโภคในยุโรปประสบปัญหากับสายชาร์จมากมายหลายแบบที่กองอยู่ที่บ้าน ตอนนี้พวกเขาจะสามารถพกสายชาร์จเพียงแบบเดียวกับทุกอุปกรณ์ที่มีในมือได้แล้ว ซึ่งเป็นก้าวที่สำคัญในการเพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้บริโภคในยุโรป

‘อียู’ เตรียมบังคับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนใช้หัวชาร์จแบบ USB-C ทั้งหมด ในอีก 2 ปี

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จำหน่ายใน 30 ประเทศในยุโรปเท่านั้น ขณะที่บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายแห่ง เริ่มใช้ระบบสายชาร์จแบบ USB-C กับอุปกรณ์ต่าง ๆ แล้ว

 

ด้านแอปเปิล (Apple) หนึ่งในผู้ผลิตรายใหญ่ที่คัดค้านแนวคิดดังกล่าว ไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการผลักดันมาตรการนี้กับสำนักข่าวเอพีในช่วงที่มีการรายงาน แต่เมื่อปี2564 แอปเปิลเคยแสดงความกังวลว่ามาตรการดังกล่าวจะกระทบต่อการพัฒนานวัตกรรมและสร้างความเดือดร้อนกับผู้บริโภค แม้ว่าโทรศัพท์ไอโฟนของแอปเปิล จะมีสายชาร์จที่ใช้งานกับหัวชาร์จแบบไลท์นิง (Lightning charging port) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของตน ที่สามารถเสียบเข้ากับช่อง USB-C ได้แล้วก็ตาม

แอปเปิลเองก็ต้องปรับตัวตาม

ทั้งนี้ อียูใช้เวลากว่าสิบปีในการผลักดันนโยบาย ‘หัวชาร์จเดียวทั่วยุโรป’ จนกระทั่งมีความคืบหน้าในปี 2565 นี้ ข่าวระบุว่า ทางอียูยังมีแผนจะให้มีการจัดทำมาตรฐานเทคโนโลยีการชาร์จแบบรวดเร็วขึ้นมาด้วย และเปิดทางให้ผู้บริโภคมีสิทธิ์เลือกว่าจะซื้ออุปกรณ์ใหม่พร้อมสายชาร์จหรือไม่ ซึ่งอียูคาดว่าจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคได้ราว 250 ล้านยูโรต่อปีเลยทีเดียว

ซาลิบา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สายชาร์จที่จำหน่ายพ่วงมากับอุปกรณ์ราว 1 ใน 3 ยังคงเก็บอยู่ในกล่องอุปกรณ์ที่ซื้อไปโดยไม่ได้นำมาใช้ (เนื่องจากผู้ซื้อยังสามารถใช้งานสายชาร์จอันเก่าที่มีอยู่กับอุปกรณ์ใหม่ได้) ดังนั้น มาตรการเหล่านี้ของอียู นอกจากจะอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคแล้ว ยังจะเป็นการช่วยลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในยุโรปที่มีมากถึง 11,000 ตันต่อปีอีกด้วย