ไบเดนเยือนเอเชียครั้งแรก ประเดิมเกาหลี-ญี่ปุ่น 20-24 พ.ค.นี้

19 พ.ค. 2565 | 07:19 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ค. 2565 | 14:57 น.

ปธน.โจ ไบเดน จะเดินทางเยือนเกาหลีใต้และญี่ปุ่น เป็นเวลา 5 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 - 24 พ.ค. นี้ ถือเป็นการเดินทางเยือนภูมิภาคเอเชียครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2564 และหลังจากเพิ่งมีการประชุมสุดยอดกับผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนไปหมาด ๆ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

การเดินทางเยือนเอเชียของ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นการเยือน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลว่า เกาหลีเหนือกำลังเตรียมที่จะทดลองอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี โดยเมื่อต้นสัปดาห์ก็ได้มีรายงานข่าวออกมาแล้วว่า เกาหลีเหนือกำลังจะทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามทวีปในช่วงที่ไบเดนเดินทางเยือนเอเชียพอดิบพอดี

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เยือนสองชาติพันธมิตรในเอเชีย 20-24 พ.ค.นี้

ทั้งนี้ สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานเมื่อวันอังคาร (17 พ.ค.) อ้างอิงเจ้าหน้าที่ด้านข่าวของสหรัฐ ระบุว่า เกาหลีเหนือเตรียมทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ในอีก 48-96 ชั่วโมงข้างหน้า ซึ่งตรงกับกำหนดการเยือนภูมิภาคเอเชียของประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยก่อนหน้านี้ เกาหลีเหนือได้ทำการทดสอบการยิงขีปนาวุธหลายชุดแล้วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาแม้จะถูกประณามจากสหรัฐและสองชาติพันธมิตรในเอเชีย ซึ่งก็คือเกาหลีใต้และญี่ปุ่น มาโดยตลอดก็ตาม

ประเด็นสำคัญในการเยือนเอเชียครั้งแรก

การเยือนเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชีย เกิดขึ้นท่ามกลางขึ้นท่ามกลางบริบทสถานการณ์ร้อนแรงในยูเครน ตลอดจนความท้าทายที่มากขึ้นจากปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค

 

ประธานาธิบดีไบเดนเคยประกาศไว้ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ เมื่อต้นปี 2564 ว่า "อินโด-แปซิฟิก" เป็นนโยบายต่างประเทศที่เขาให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก แม้ก่อนหน้านี้จะยังไม่เคยมีโอกาสเยือนภูมิภาคนี้เลยสักครั้ง หลังจากพบผู้นำอาเซียนที่กรุงวอชิงตัน (8 ประเทศ ยกเว้นผู้นำเมียนมาและฟิลิปปินส์) เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้นำสหรัฐก็เดินหน้าตอกย้ำยุทธศาสตร์ "อินโด-แปซิฟิก" เพื่อจัดกระบวนชาติพันธมิตรและแนวร่วมของสหรัฐรอบขอบมหาสมุทรแปซิฟิกต่อในทันที ซึ่งครั้งนี้คือ เกาหลีใต้และญี่ปุ่น

นาย ยุน ซอก ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้

ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ปธน.ไบเดนจะเดินทางเยือนเกาหลีใต้ก่อน (20-22 พ.ค.) เพื่อพบปะกับนาย ยุน ซอก ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนใหม่ ที่เพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา ปธน.คนใหม่นี้เป็น “สายเหยี่ยว” ในด้านความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือและจีน ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับความต้องการของสหรัฐ ที่จำเป็นต้องมีชาติพันธมิตรในเอเชียที่จะเป็น “ลูกคู่”ให้กับสหรัฐในการปิดล้อมอิทธิพลจีนและแข็งกร้าวกับเกาหลีเหนือ

 

ก่อนหน้านี้ ผู้นำเกาหลีใต้คนใหม่ได้ประกาศเปลี่ยนขั้วนโยบายการต่างประเทศ จากท่าทีที่เคยอ่อนโยนกับเพื่อนบ้านเกาหลีเหนือในสมัยรัฐบาลชุดก่อนของประธานาธิบดีมุน แจอิน มาเป็นแข็งกร้าวมากขึ้น และจะหันมากระชับความร่วมมือกับพันธมิตรรายใหญ่อย่างสหรัฐและชาติอื่นๆ ในยุโรปมากขึ้นด้วย

“นับจากนี้เราไม่ควรมุ่งเน้นที่ประเด็นความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนืออย่างเดียว แต่ควรขยายโอกาสทางการทูตไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียและยุโรป ภายใต้รากฐานความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐ” นายยุน ซอก ยอล กล่าว และว่า เกาหลีใต้ควรมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก ในฐานะที่เป็นหนึ่งในท็อปเท็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก

 

ท่าทีของนายซอก ยอล อาจจะยิ่งยั่วยุหรือกระตุ้นให้เกาหลีเหนือแข็งกร้าวมากขึ้น โดยนับตั้งแต่ต้นปีมานี้ เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธแล้วนับสิบครั้ง ในขณะที่ประธานาธิบดีคิม จองอึน ได้ประกาศในงานพาเหรดแสดงแสนยานุภาพทางการทหารฉลองวันครบรอบอดีตผู้นำสูงสุดคิม อิลซุง เมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า เกาหลีเหนือจะยกระดับการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

ทั้งนี้ มีข่าวลือว่าเกาหลีใต้อาจเข้าร่วมเป็นสมาชิก กลุ่มควอด (Quadrilateral Security Dialogue : Quad) ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงของสหรัฐในภูมิภาคเอเชียและซีกโลกใต้ แม้ว่าก่อนหน้านี้ เกาหลีใต้จะยังปฏิเสธข่าวดังกล่าวมาตลอดก็ตาม

 

ร่วมประชุม Quad ที่กรุงโตเกียว

ส่วนการเยือนญี่ปุ่นซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 22 พ.ค.นั้น ปธน.ไบเดนจะได้พบกับ นายฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และเข้าร่วม การประชุมกลุ่ม "ควอด" ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น โดยมีสมาชิกอย่างออสเตรเลีย และอินเดียเข้าร่วม

นายฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

กลุ่มพันธมิตรด้านความมั่นคงดังกล่าว เปิดตัวแนวคิดเป็นครั้งแรกในปี 2550 แต่หลังจากนั้นก็เพิ่งจะเป็นรูปเป็นร่างในอีกทศวรรษต่อมา หลังจากจีนรุกคืบโครงการด้านการทหารต่างๆ ในทะเลจีนใต้ และเกิดเหตุปะทะรุนแรงตามแนวชายแดนติดกับอินเดีย

 

นักวิเคราะห์ระบุว่า ช่วงเวลาการเยือนญี่ปุ่นของผู้นำสหรัฐครั้งนี้ถูกกำหนดไว้เป็นอย่างดี เนื่องจากนายคิชิดะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นนั้น เพิ่งเสร็จสิ้นการเดินทางเยือน 3 ประเทศในอาเซียนมาหมาด ๆ ซึ่งได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย (ก่อนเดินทางไปเยือนอิตาลีและอังกฤษ) เพื่อปูทางหว่านล้อมทั้ง 3 ประเทศให้ตระหนักถึงจุดยืนนโยบายของสหรัฐในการสกัดกั้นอิทธิพลจีน และคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งเป็นสงครามเศรษฐกิจที่สหรัฐทุ่มเข้าใส่รัสเซีย ในขณะที่สหรัฐเองก็พยายามชักจูงชาติพันธมิตรทั้งในจี 7, จี 20, นาโต, สหภาพยุโรป (อียู) รวมทั้งกลุ่มควอด (ที่ประกอบด้วยสหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย) ให้มีจุดยืนเดียวกันทั้งในเรื่องอิทธิพลจีนและการทำสงครามตัวแทนในยูเครน

 

การเดินทางเยือนกรุงโตเกียวครั้งนี้ ปธน.ไบเดนจะได้ประชุมกลุ่มควอด (Quad)  แบบตัวเป็นๆ เป็นครั้งแรก โดยจะมีนายกรัฐมนตรีของอินเดีย และออสเตรเลีย บินมาร่วมประชุมด้วย หลังจากที่มีการประชุมครั้งแรกเมื่อช่วงต้นปีที่แล้วผ่านทางระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

ทำเนียบขาวระบุว่า ผู้นำสหรัฐให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชีย และจะยังสามารถให้น้ำหนักความสำคัญกับเอเชียได้ แม้ว่าจะถูกถาโถมด้วยปัญหาวิกฤติในยูเครน ทั้งนี้ ผู้นำสหรัฐยินดีที่มีพันธมิตรในเอเชียอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ที่ร่วมกันประณามและคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังช่วยส่งก๊าซธรรมชาติไปให้ยุโรปที่กำลังประสบปัญหาในการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียอีกด้วย

 

เห็นได้ชัดว่า การเยือนเอเชียของผู้นำสหรัฐครั้งนี้ เป็นการหันมาจัดทัพพันธมิตรและแนวร่วมในภูมิภาคเอเชียตามยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก เพื่อเดินหน้าปิดล้อมอิทธิพลจีนให้มากขึ้น และตอกย้ำความร่วมมือในการกดดันรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากจะมีความตกลงด้านเศรษฐกิจหรือโครงการลงทุนติดปลายนวมมาบ้าง ก็ถือเป็นโบนัสพิเศษจากสหรัฐ