ตามติดภารกิจ "บิ๊กตู่" ประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ดึง 10 ยักษ์ธุรกิจลงทุนไทย

10 พ.ค. 2565 | 12:55 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ค. 2565 | 20:32 น.

นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเยือนสหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษ ณ กรุงวอชิงตัน ระหว่างวันที่ 12-13 พ.ค.นี้ เพื่อฉลองครบรอบ 45 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ ผู้นำทั้งสองฝ่ายเตรียมหารือกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ในอนาคตท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน

การจัด ประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษ (ASEAN-U.S. Special Summit) เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 45 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ กำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 12-13 พ.ค.นี้ โดยทั้งสองฝ่ายมีการหารือกันล่วงหน้ามาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 เดิมกำหนดประชุมช่วงปลายเดือนมีนาคม แต่เนื่องจากผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนไม่สามารถเดินทางไปร่วมประชุมตามวันที่ฝ่ายสหรัฐเสนอมาได้ทั้งหมด เพราะติดภารกิจภายในประเทศ จึงเลื่อนนัดหมายการประชุมมาเป็นเดือนพ.ค.นี้

 

ในบรรดาผู้นำอาเซียนจะไม่มีประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เข้าร่วม เนื่องจากกำลังมีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจและกำลังจะมีผู้นำคนใหม่หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา ส่วนผู้นำเมียนมาก็ไม่ได้ร่วมประชุม เนื่องจากสหรัฐเจ้าภาพ ได้เชิญผู้แทนเมียนมาที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมืองเข้าร่วมประชุม และยังไม่ชัดเจนว่าจะมีผู้แทนเมียนมาเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วยหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม

  • สำหรับภารกิจของนายกรัฐมนตรี ระหว่างการเดินทางเยือนสหรัฐของผู้นำอาเซียนครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมของไทย จะได้พบปะกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ในระหว่างงานเลี้้ยงอาหารค่ำสำหรับผู้นำอาเซียน จัดขึ้นที่ทำเนียบขาว และจะมีการประชุมหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับประธานาธิบดีสหรัฐ
  • นอกจากนี้ ผู้นำอาเซียนยังจะได้พบกับนางแนนซี เพโลซี ประธานรัฐสภาสหรัฐ ขณะที่นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ จะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน นอกจากนี้ ผู้นำอาเซียนยังจะได้พบกับรัฐมนตรีกระทรวงอื่นๆ ของสหรัฐ รวมทั้งพบกับผู้นำภาคเอกชนของสหรัฐอีกด้วย
  • ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม จะได้หารือทวิภาคีกับนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐในประเด็นความมั่นคงด้วย โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงในรูปแบบใหม่ ความมั่นคงทางทะเล การบริหารทรัพยากรทางน้ำ ความมั่นคงของมนุษย์ และความร่วมมือของกระทรวงกลาโหมทั้งสองประเทศ

 

ในส่วนของภาคธุรกิจ พล.อ.ประยุทธ์จะพบกับผู้นำภาคเอกชนสหรัฐ โดยจัดการหารือแบบ “โต๊ะกลม”ระหว่างรับประทานอาหารเช้า จัดโดย 3 หน่วยงานภาคเอกชนของสหรัฐ ประกอบด้วย สภาหอการค้าสหรัฐ สภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน และ National Center for APEC เป็นสภาธุรกิจสหรัฐที่มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกในการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนสหรัฐในเอเปค มีการเชิญผู้บริหารสูงสุดของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในไทย ไม่ว่าจะในด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี การเกษตร การแพทย์ และพลังงาน ราว 10 บริษัท มาร่วมหารือแบบกลุ่มเล็ก นับเป็นโอกาสอันดีที่ พล.อ.ประยุทธ์จะได้พูดถึงแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศไทยในหลายๆ ด้าน เพื่อสานต่อนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป

การพบกันระหว่างผู้นำอาเซียน-สหรัฐครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่สถานการณ์โลกเต็มไปด้วยความเปราะบาง ทั้งผลกระทบจากสถานการณ์ในยูเครน ตลอดจนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยังไม่ยุติ จึงมีเพียงการสร้างบรรยากาศของความร่วมมือเท่านั้น ที่จะทำให้โลกสามารถฟื้นตัวจากสถานการณ์ร้อนแรงที่รุมเร้าได้อย่างมั่นคง

ทำเนียบขาว

สำหรับการเดินทางเยือนสหรัฐของพล.อ.ประยุทธ์ ในครั้งนี้ ถือว่าไปใน 3 บทบาท ประกอบด้วย

  1. บทบาทผู้นำของชาติสมาชิกอาเซียน เดินทางไปแสดงพลังร่วมกันในการหารือกับประธานาธิบดีสหรัฐ
  2. บทบาทนายกรัฐมนตรีไทย จะเป็นโอกาสหารือกับสหรัฐ ที่เป็นทั้งพันธมิตรและหุ้นส่วนของไทยมายาวนานถึง 189 ปี
  3. บทบาทที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ในปีนี้ ขณะที่สหรัฐจะรับหน้าที่เจ้าภาพเอเปคในครั้งต่อไป

 

โอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังจะพบปะกับชุมชนไทยในสหรัฐซึ่งถือเป็นชุมชนไทยในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย

 

อนึ่ง การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ครั้งนี้ ถือเป็นการจัดการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษ ครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกจัดขึ้นในเมื่อปี 2559 ที่เมืองซันนีแลนด์ ในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา ซึ่งในครั้งนั้นก็เป็น พล.อ.ประยุทธ์ที่เดินทางไปร่วมประชุมเช่นกัน

 

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2520 และยกระดับเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกันเมื่อปี 2558 โดยทั้งสองฝ่ายดำเนินความร่วมมือครอบคลุม 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน เพื่อสนับสนุนการบูรณาการและการพัฒนาในภูมิภาคให้ก้าวหน้า

 

ส่วนในด้านเศรษฐกิจ สหรัฐเป็นคู่ค้าอันดับ 2 และแหล่งเงินทุนอันดับ 1 ของอาเซียน ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 สหรัฐได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนรวมเป็นเงินมากกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งยังบริจาควัคซีนให้แก่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนแล้วกว่า 91 ล้านโดส

 

อ่านเพิ่มเติมเปิด3ประเด็นหลัก "นายกฯ" ถก "อาเซียน - สหรัฐ" 12-13 พ.ค.นี้