ผิดคาด! เศรษฐกิจสหรัฐไตรมาสแรกหดตัว 1.4% สวนตัวเลขคาดการณ์

29 เม.ย. 2565 | 09:21 น.
อัปเดตล่าสุด :29 เม.ย. 2565 | 17:05 น.
867

พาณิชย์สหรัฐเผยตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปีนี้ หดตัว 1.4% สวนทางกับตัวเลขคาดการณ์ที่ว่าจะมีการขยายตัว 1.1%

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/65 เมื่อวันที่ 28 เม.ย. โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐ หดตัว 1.4% ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอยเมื่อช่วงต้นปี2563 อันเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19

 

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจมีการขยายตัว 1.1% ในไตรมาส 1/65

 

ในปีที่ผ่านมา (2564) เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัวที่อัตรา 6.3% และ 6.7% ในไตรมาส 1 และ 2 ตามลำดับ  ก่อนที่จะชะลอตัวสู่อัตรา 2.3% ในไตรมาส 3 เนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบในภาคการผลิต ซึ่งกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่เศรษฐกิจสหรัฐกลับมามีการขยายตัวที่อัตรา 6.9% ในไตรมาส 4/2564

เมื่อพิจารณาทั้งปี 2564 เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 5.7% ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2527 และหลังจากที่หดตัว 3.4% ในปี 2563 ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2489 เป็นต้นมา ซึ่งสาเหตุมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั่นเอง

ตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานในสหรัฐเริ่มลดลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พอจะเป็นข่าวดีอยู่บ้างคือ ตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานในสหรัฐเริ่มลดลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับคาดการณ์ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 5,000 ราย สู่ระดับ 180,000 รายในสัปดาห์ที่ผ่านมา และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

 

นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวต่ำกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกา

ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 2,250 ราย สู่ระดับ 179,750 ราย

 

กระทรวงแรงงานสหรัฐยังรายงานด้วยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 1,000 ราย สู่ระดับ 1.41 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2513 เป็นต้นมา

 

ธนาคารดอยซ์แบงก์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสสูงที่จะเผชิญภาวะถดถอยในช่วงปลายปีหน้า (2566) และต้นปี 2567 โดยเป็นผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด

ทั้งนี้ การประชุมนโยบายการเงินของเฟดครั้งต่อไปกำลังจะมีขึ้นในวันที่ 3-4 พ.ค. ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ได้ออกมาส่งสัญญาณว่า  เขาสนับสนุนให้เฟดดำเนินการเร็วขึ้นเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ และระบุว่ามีโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนพ.ค. นี้ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา

 

ตลาดยังกังวลด้วยว่า หลังจากเดือนพ.ค. เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงขึ้น โดยอาจปรับขึ้น 0.75% เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มพุ่งทะยานเป็นประวัติการณ์