มาเลย์ฯสบช่อง ชิงเค้กตลาดน้ำมันปาล์มอียูท่ามกลางภาวะขาดแคลนทั่วโลก

06 พ.ค. 2565 | 15:00 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ค. 2565 | 22:23 น.
522

มาเลเซียตั้งเป้าชิงส่วนแบ่งตลาดน้ำมันปาล์มในสหภาพยุโรป ขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญภาวะขาดแคลนอย่างหนัก เผยคาดการณ์ราคาน้ำมันปาล์มยังคงจะอยู่ในระดับสูงต่อไปในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

ประเทศ มาเลเซีย ซึ่งเป็น ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ อันดับสองของโลกรองจากอินโดนีเซียประกาศในวันนี้ (6 พ.ค.) ว่า มาเลเซียกำลังวางแผนใช้ประโยชน์จาก ภาวะขาดแคลนน้ำมันปาล์มทั่วโลก และ ความตึงเครียดทางการเมืองในยุโรป เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่ม หลังจากที่ก่อนหน้านี้ บรรดาผู้ซื้อในยุโรปส่วนหนึ่งพากันหลีกเลี่ยงการสั่งซื้อน้ำมันปาล์มมาเลเซีย เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า น้ำมันปาล์มนั้นมีประโยชน์สำหรับการนำไปใช้ผลิตสินค้าแทบทุกประเภทตั้งแต่ลิปสติก ไปจนถึงเส้นก๋วยเตี๋ยว แต่อินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มชั้นนำของโลก ยังคงต้องเผชิญกับการคว่ำบาตรจากประเทศผู้ซื้อที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม หลังถูกกล่าวหาเรื่องการแผ้วถางป่า การทำลายป่าธรรมชาติ และการเอาเปรียบแรงงานต่างด้าวเพื่อเร่งขยายการเพาะปลูกปาล์ม

มาเลเซียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากอินโดนีเซีย

นางซูไรดา คามารุดดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมการเพาะปลูกและสินค้าโภคภัณฑ์มาเลเซียระบุในแถลงการณ์ว่า มาเลเซียไม่ต้องการปล่อยให้โอกาสดีเช่นนี้สูญเปล่า โดยถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะเพิ่มความพยายามในการต่อต้านโฆษณาชวนเชื่อที่บ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของน้ำมันปาล์มมาเลเซีย และแสดงให้ผู้คนเห็นถึงคุณประโยชน์มากมายมหาศาลที่น้ำมันปาล์มมีต่อสุขภาพ

นางซูไรดาระบุว่า ในแง่ของราคา ราคาน้ำมันปาล์มโลกมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อไปในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 และอุปสงค์ของสหภาพยุโรป (อียู) ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในระยะใกล้เนื่องจากอุปทานน้ำมันดอกทานตะวันและน้ำมันถั่วเหลืองตึงตัว

มาเลเซียถูกคว่ำบาตรจากประเทศผู้ซื้อที่ให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม หลังถูกกล่าวหาทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่ปลูกปาล์ม

ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันดอกทานตะวัน ซึ่งเป็นผลพวงจากกรณีการบุกยูเครนของรัสเซีย ได้กระตุ้นอุปสงค์น้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลือง เนื่องจากบรรดาผู้นำเข้าต่างก็เร่งแสวงหาอุปทานทดแทน ซึ่งหนุนให้ตลาดน้ำมันพืชมีความร้อนแรง

 

นอกจากนี้ นางซูไรดายังกล่าวด้วยว่า มาเลเซียจะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงด้านอุปสงค์ครั้งนี้ โดยรัฐบาลจะใช้ "ความพยายามและการส่งเสริมเชิงรุก" เพื่อเติมเต็มช่องว่างอุปทานโลกในระยะยาว

ทั้งนี้ มาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งผลิตน้ำมันปาล์มรวมกันในสัดส่วนสูงถึง 85% ของผลผลิตน้ำมันปาล์มโลก ยืนยันว่า การออกมาตรการจำกัดเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มของอียูนั้นถือเป็นการเลือกปฏิบัติ ดังนั้น ทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย จึงได้แยกกันยื่นคำร้องเรื่องดังกล่าวต่อองค์การการค้าโลก (WTO)