รัสเซียเชือดยุโรปนิ่มๆ ไม่จ่ายเป็นรูเบิล ก็แค่งดส่งก๊าซ

29 มี.ค. 2565 | 12:48 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มี.ค. 2565 | 19:57 น.
2.6 k

รัสเซียย้ำชัด ๆ ไม่ส่งก๊าซให้ยุโรปใช้ฟรีแน่ ๆ หลังชาติตะวันตกกลุ่ม G7 ปฏิเสธชำระค่าก๊าซธรรมชาติที่ซื้อจากรัสเซียเป็นสกุลเงินรูเบิล

โฆษกรัฐบาลรัสเซีย ระบุวานนี้ (28 มี.ค.) ว่าจะไม่ส่ง ก๊าซธรรมชาติ ให้ประเทศยุโรปใช้ฟรีๆ อย่างแน่นอน หลังยื่นเงื่อนไขให้ลูกค้าจ่ายค่าก๊าซเป็น เงินสกุลรูเบิล ของ รัสเซีย แต่ถูก กลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 ปฏิเสธอย่างไม่ใยดี

 

ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (25 มี.ค.) ที่ประชุมผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) ไม่สามารถหาข้อสรุปเป็นจุดยืนร่วมกันเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ที่จะให้บรรดาประเทศที่มีชื่ออยู่ในบัญชี “ชาติที่ไม่เป็นมิตร” ของรัสเซีย ต้องจ่ายค่าก๊าซเป็นเงินรูเบิล ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวนับเป็นอีกหนึ่งมาตรการแก้เผ็ดที่รัสเซียนำมาใช้ตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรในยุโรป

 

ข่าวระบุว่า ธนาคารกลางรัสเซีย รัฐบาลเครมลิน และบริษัทก๊าซพรอม (Gazprom) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ส่งออกก๊าซธรรมชาติป้อนความต้องการของตลาดยุโรปถึง 40% จะต้องเสนอแผนการรับชำระค่าก๊าซเป็นเงินรูเบิลต่อประธานาธิบดีปูติน ภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้

ถ้าไม่จ่ายเป็นรูเบิล ก็งดส่งก๊าซ

“เราจะไม่ส่งก๊าซให้พวกเขาใช้ฟรีๆ อย่างแน่นอน” นายดมิตรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซียระบุ และยังกล่าวต่อด้วยว่า “ในสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่ในขณะนี้  คงเป็นไปได้ยากและไม่เหมาะที่จะทำการกุศล (กับลูกค้าในยุโรป)”

ในการให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ PBS ของสหรัฐ ออกอากาศเมื่อวันจันทร์ (28 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวได้ถามเปสคอฟ ว่ารัสเซียจะหยุดส่งก๊าซให้แก่ประเทศที่ไม่ยอมจ่ายเงิน(เป็นรูเบิล)ใช่หรือไม่ โฆษกหมีขาวตอบชัดเจนว่า “ถ้าไม่จ่าย ก็ไม่มีก๊าซ”

 

อย่างไรก็ตาม เปสคอฟย้ำว่ารัสเซียยังไม่ได้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย ว่าจะตอบโต้อย่างไรหากบรรดาประเทศยุโรปไม่ยอมจ่ายค่าก๊าซเป็นเงินสกุลรูเบิล

 

ในการประชุม G7 ล่าสุด รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของทางกลุ่ม ซึ่งได้แก่ แคนาดา สหรัฐอเมริกา อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ และญี่ปุ่น พร้อมใจกันปฏิเสธเงื่อนไขของรัสเซียเรื่องการจ่ายค่าก๊าซเป็นเงินรูเบิล ซึ่งเรื่องนี้ นายโรเบิร์ต ฮาเบ็ค รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและการปกป้องสภาพอากาศของเยอรมนี เป็นผู้ออกมายืนยัน “กลุ่ม G7 เห็นตรงกันว่า นี่คือการละเมิดข้อตกลงที่มีอยู่เดิมอย่างชัดแจ้ง” ฮาเบ็ค ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมทางไกล

นอกจากนี้ บรรดารัฐมนตรีพลังงาน G7 ยังเน้นด้วยว่า ข้อตกลงที่มีการเจรจาเสร็จสิ้นไปแล้วถือว่ามีผลตามนั้น และทุกบริษัทจะต้องปฏิบัติตาม การที่ภายหลัง รัสเซียมาบังคับให้คู่ค้าต้องจ่ายค่าก๊าซเป็นเงินรูเบิลจึงเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และ G7 ขอเรียกร้องให้ทุกบริษัทที่เกี่ยวข้อง อย่าได้ทำตามข้อเรียกร้องของปูตินเป็นอันขาด

 

สถิติชี้ว่า รัสเซียส่งออกก๊าซไปยังสหภาพยุโรป (อียู) ประมาณ 155,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2564 และอียูตั้งเป้าที่จะลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียลง 2 ใน 3 ภายในปีนี้ (2565) ก่อนจะหยุดนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากรัสเซียโดยสิ้นเชิงภายในปี 2027 (พ.ศ.2570)

รัสเซียส่งออกก๊าซไปยังสหภาพยุโรป (อียู) ประมาณ 155,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2564

ความวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปทานก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียส่งผลให้ราคาขายส่งก๊าซในประเทศเนเธอร์แลนด์และอังกฤษขยับขึ้นสูงสุดถึง 20% เมื่อวันจันทร์ (28 มี.ค.) แม้ว่าสหรัฐอเมริกา ประกาศจะช่วยยุโรปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (25 มี.ค.) โดยให้คำมั่นว่าจะจัดส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จำนวน 15,000 ล้านลูกบาศก์เมตรให้อียูภายในปีนี้ แต่นักวิเคราะห์กลับมองว่า โรงงานก๊าซ LNG ของสหรัฐมีการผลิตเต็มศักยภาพอยู่แล้ว ดังนั้นปริมาณก๊าซส่วนเสริมที่จะผลิตส่งให้ยุโรปคงจะต้องไปดึงมาจากก๊าซที่สหรัฐจะส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นๆ

 

ขณะเดียวกันสำนักข่าว RIA อ้างคำพูดของนายอีวาน อับรามอฟ กรรมาธิการด้านนโยบายเศรษฐกิจของสภาสหพันธ์ (Federation Council) หรือสภาสูงของรัสเซีย ที่ระบุว่า หากกลุ่ม G7 ปฏิเสธที่จะจ่ายค่าก๊าซเป็นเงินรูเบิล มอสโกก็จะไม่ส่งออกก๊าซให้อย่างเด็ดขาด

 

นายฮาเบ็ค รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและการปกป้องสภาพอากาศของเยอรมนี วิจารณ์รัสเซียในเรื่องนี้ว่า เป็น ผู้ส่งออกพลังงานที่ “เชื่อถือไม่ได้”  และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าหากรัสเซียไม่ส่งก๊าซให้จะทำอย่างไร? รัฐมนตรีของเยอรมนีตอบว่า เตรียมพร้อมรับทุกสถานการณ์เอาไว้แล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาเตรียมเมื่อวานนี้

 

กระนั้นก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับอียูที่จะหาพลังงานจากแหล่งอื่น ๆ มาทดแทนก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดพบว่า ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่รัสเซียส่งออกไปยังภูมิภาคยุโรปผ่านท่อส่งหลัก 3 สายยังอยู่ในภาวะ “เสถียร” เมื่อวันจันทร์ (28 มี.ค..) รวมถึงท่อส่งก๊าซยามาล-ยุโรป (Yamal-Europe) ที่ลำเลียงก๊าซไปทางตะวันออกจากเยอรมนีเข้าสู่โปแลนด์