ใกล้เฉลยปริศนาเครื่องบินตก จีนพบกล่องดำที่สองโบอิ้ง 737 แล้ว

27 มี.ค. 2565 | 18:59 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มี.ค. 2565 | 02:16 น.
956

ทีมกู้ภัยจีนพบกล่องดำที่สองของโบอิ้ง 737 สายการบินอีสเทิร์น แอร์ไลนส์ ที่ประสบอุบัติเหตุดิ่งหัวปักลงกลางหุบเขาใกล้เมืองอู๋โจวเมื่อวันจันทร์ (21 มี.ค.) แล้ววันนี้ (27 มี.ค.)  

สำนักงานใหญ่ของหน่วยงานรับมือเหตุฉุกเฉินแห่งชาติจีนเปิดเผยวันนี้ (27 มี.ค.)ว่า ทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัยพบ กล่องดำที่สอง ของ เครื่องบินโบอิ้ง 737 สายการบิน ไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส ที่ประสบอุบัติเหตุตกลงในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงของ จีน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (21 มี.ค.)

 

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เครื่องบินโบอิ้ง 737 ของสายการบินไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส เที่ยวบินที่ MU5735 ได้เดินทางออกจากเมืองคุนหมิงเมื่อเวลา 13.11 น. ตามเวลาท้องถิ่นเมื่อวันจันทร์ และมีกำหนดเดินทางถึงเมืองกวางโจวภายในเวลา 2 ชั่วโมง แต่ได้ประสบอุบัติเหตุตกลงในหุบเขาใกล้กับเมืองอู๋โจว ส่งผลให้ผู้โดยสาร 132 คนเสียชีวิตทั้งหมด

 

ทั้งนี้ กล่องดำใบแรกของที่พบก่อนหน้านี้ คาดว่าจะบันทึกเสียงในห้องนักบิน และกำลังอยู่ในระหว่างการดาวน์โหลดและวิเคราะห์ข้อมูล ขณะที่ใบที่สองเป็นกล่องดำบันทึกข้อมูลการบินของเครื่องบินลำดังกล่าว

เจ้าหน้าที่กู้ภัยของจีนพบกล่องดำใบที่สองแล้ว

เจ้าหน้าที่กู้ภัยเปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้ มีการยืนยันตัวตนของผู้ที่อยู่บนเครื่องบินแล้ว 120 ราย(จากทั้งหมด 132 ราย) โดยในจำนวนนี้เป็นผู้โดยสาร 114 ราย และลูกเรือ 6 ราย เจ้าหน้าที่กู้ภัยจากหน่วยดับเพลิงได้ทำการค้นหาเป็นพื้นที่รวมกว่า 240,000 ตารางเมตร (ราว 150 ไร่) แล้วนับตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.เป็นต้นมา ซึ่งเป็นวันที่เครื่องบินตก

 

นอกจากนี้ ทีมค้นหาในพื้นที่รอบนอกจำนวน 4 ทีม ได้ทำการตรวจสอบพื้นที่ตลอดเส้นทางบินแล้วประมาณ 50 เฮกตาร์ (ราว 312 ไร่) โดยยึดจุดเกิดเหตุเป็นจุดเริ่มต้น นายจูเทา หัวหน้าสำนักงานความปลอดภัยทางการบิน สังกัดสำนักบริหารการบินพลเรือนแห่งประเทศจีนเปิดเผยว่า อุปกรณ์ส่งสัญญาณบอกตำแหน่งฉุกเฉิน (Emergency Locator Transmitter) ที่ติดตั้งไว้ใกล้กับกล่องดำกล่องที่สอง ได้รับการกู้คืนแล้ว อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่ประกาศเมื่อวันเสาร์(26 มี.ค.) ยืนยันว่าไม่มีผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว

 

นอกจากนี้ ในการแถลงข่าวเมื่อวันเสาร์ เจ้าหน้าที่ทีมกู้ภัยยืนยันว่า ไม่พบสารอนินทรีย์หรือสารอินทรีย์ที่เป็นส่วนประกอบของระเบิด ณ บริเวณจุดเกิดเหตุเครื่องบินตก

คลิปวิดีโอเก็บภาพได้ขณะเครื่องบินโบอิ้ง 737 กำลังดิ่งลงในลักษณะปักหัวดิ่ง

ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการทางฟิสิกส์และเคมีของหน่วยงานความมั่นคงสาธารณะของจีน ได้ทำการตรวจสอบตัวอย่าง 41 ชิ้น จากตัวอย่าง 66 ชิ้น ที่เก็บรวบรวมได้จากจุดเกิดเหตุ และไม่พบสารประกอบไอออนสำคัญที่ใช้ในการประกอบวัตถุระเบิดอนินทรีย์ทั่วไป ทั้งยังไม่พบสารอินทรีย์ที่ใช้ประกอบระเบิดทั่วไปเช่นกัน