ไม่รักไม่ต้อง รัสเซียชิงลาออกจากการเป็นสมาชิก "สภายุโรป" หลังถูกกดดันหนัก

16 มี.ค. 2565 | 17:29 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มี.ค. 2565 | 22:09 น.

"รัสเซีย" ชิงประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก "สภายุโรป" แล้ววานนี้ (15 มี.ค.) ลั่นไม่เสียใจที่ออก หลังสมาชิกสายนาโตและอียูกดดันหนัก นักวิเคราะห์หวั่นการลาออกจะทำให้พลเมืองรัสเซียหมดโอกาสพึ่งศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป และรัสเซียอาจหวนกลับไปใช้โทษประหารอีกครั้ง

รัสเซีย ประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก สภายุโรป (Council of Europe) แล้ววานนี้ (15 มี.ค.) หลังมีเสียงเรียกร้องจากชาติสมาชิกให้ขับรัสเซียออก จากการที่รัสเซียเปิดฉากปฏิบัติการพิเศษใช้กำลังทางทหารบุกเข้าโจมตี ยูเครน โดยกระทรวงต่างประเทศรัสเซียระบุว่าได้แจ้งถึงการลาออกของรัสเซียให้เลขาธิการสภายุโรปทราบแล้ว

 

การตัดสินใจดังกล่าวถือเป็นการสิ้นสุดการเป็นสมาชิกสภายุโรปของรัสเซียที่เป็นมานานกว่า 25 ปี องค์กรดังกล่าวนี้เป็นองค์การระหว่างรัฐบาลระดับภูมิภาค ทำหน้าที่ส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และหลักนิติธรรม มีประเทศหรือดินแดนที่เป็นสมาชิก 47 ประเทศ มีประชากรรวมมากกว่า 820 ล้านคน ทั้งนี้ ส่วนที่รู้จักกันดีที่สุดของสภายุโรป คือ ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป

 

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเปิดเผยว่า รัสเซียได้ยื่นจดหมายถอนตัวจากสมาชิกสภายุโรปอย่างเป็นทางการต่อนางมารียา เปจจิโนวิช บูริช เลขาธิการสภายุโรป เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (15 มี.ค.) "ชาติสมาชิกนาโต (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ) และสหภาพยุโรป (อียู) ใช้อำนาจจากเสียงข้างมากในสภายุโรปในทางที่ผิด โดยทำให้องค์การนาโตกลายเป็นเครื่องมือของนโยบายต่อต้านรัสเซีย อีกทั้งยังปฏิเสธการเจรจาอย่างเสมอภาค และปฏิเสธหลักการทั้งหมดของโครงสร้างขบวนการรวมกลุ่มยุโรป" แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียระบุถึงเหตุผลของการลาออก

รัสเซียชิงลาออกจากการเป็นสมาชิกสภายุโรปหลังถูกกดดันอย่างหนัก ฐานบุกรุกยูเครน

อย่างไรก็ตาม รัสเซียยังคงเปิดกว้างต่อการมีปฏิสัมพันธ์กับชาติสมาชิกของสภายุโรปอย่างเท่าเทียมกัน บนพื้นฐานของผลประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย

 

รัสเซียสมัครเข้าเป็นสมาชิกสภายุโรปในปี 1996 (พ.ศ.2539) ในฐานะชาติสมาชิกรายที่ 39 การลาออกครั้งนี้ เท่ากับว่ารัสเซียจะไม่ใช่ประเทศที่ให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปอีกต่อไป และพลเมืองของรัสเซียจะไม่สามารถยื่นคำร้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (ECHR) ได้อีก  ซึ่งเรื่องนี้นักวิเคราะห์มองว่า จะเป็นการเปิดทางให้รัสเซียสามารถกลับไปใช้โทษประหารชีวิตได้อีกครั้ง

 

“รัสเซียไม่เสียใจกับการออกมาจากสภายุโรป ที่รัสเซียได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 1996” กระทรวงต่างประเทศรัสเซียโพสต์ข้อความในแอปฯเทเลแกรมว่า การลาออกครั้งนี้จะไม่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองรัสเซีย และการดำเนินการตามมติที่รับรองแล้วของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (The European Court of Human Rights) หรือ ECHR จะดำเนินต่อไป หากไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของรัสเซีย

ทั้งนี้ การลาออกจากสภายุโรปของรัสเซียถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับ ECHR ซึ่งทำหน้าที่เป็นศาลชั้นต้นเมื่อการดำเนินการภายในประเทศหมดหนทางลง โดยคดีเกี่ยวกับพลเมืองรัสเซียใน ECHR มีสัดส่วนถึง 24% ของคดีที่มีในปัจจุบัน อาทิ คดีของนายเอล็กเซ นาวัลนี ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวหน้าของรัสเซีย ที่เคยถูกจับกุมหลายครั้งหลังดำเนินกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลรัสเซียและท้าทายอำนาจปธน.ปูติน

 

สำหรับ 47 ประเทศที่เป็นสมาชิกสภายุโรป นั้น(รวมรัสเซีย) ประกอบด้วย

  • 10 ประเทศก่อตั้ง (สภายุโรปก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 1949)ได้แก่ เบลเยี่ยม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และอังกฤษ
  • จากนั้น ก็มี สมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 37 ประเทศ ตามลำดับดังนี้ คือ กรีซ, ตุรกี (1949) ไอซ์แลนด์, เยอรมนี (เข้าปี 1950) ออสเตรีย(1956) ไซปรัส(1961) สวิตเซอร์แลนด์ (1963) มอลตา (1965) โปรตุเกส (1976) สเปน (1977) ลิกเตนสไตน์ (1978) ซานมาริโน (1988) ฟินแลนด์ (1989) ฮังการี (1990) โปแลนด์ (1991) บัลแกเรีย (1992) เอสโตเนีย, ลิธัวเนีย, สโลเวเนีย, สาธารณรัฐเช็ก, สโลวาเกีย , โรมาเนีย (1993) แอนดอร์รา (1994) แลตเวีย , อัลเบเนีย, มอลโดวา, ยูเครน,เมซีโดเนีย (1995) รัสเซีย, โครเอเชีย (1996) จอร์เจีย (1999) อาร์เมเนีย, อาร์เซอไบจัน (2001) บอสเนีย เฮอร์เซโกวินา (2002) เซอร์เบีย (2003) โมนาโค (2004) และมอนเตเนโกร (2007)