อียูลงดาบ! คว่ำบาตรรัสเซียเพิ่ม จ่อเพิกถอนสถานะ MFN เปิดทางลงโทษทางการค้า

15 มี.ค. 2565 | 13:09 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2565 | 20:32 น.

สำนักงานประธานสภาสหภาพยุโรป (EU) เปิดเผยผ่านทางทวิตเตอร์เมื่อวันจันทร์ (14 มี.ค.) ว่า ประเทศสมาชิกอียู ได้เห็นชอบกับการออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเป็นรอบที่ 4 หลังรัสเซียรุกรานยูเครนอย่างต่อเนื่องย่างเข้าสัปดาห์ที่ 3 แล้ว

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แม้ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับ มาตรการคว่ำบาตร รอบล่าสุดของ สหภาพยุโรป (อียู) ที่มีต่อ รัสเซีย แต่สำนักงานประธานอียู ได้ระบุว่า รัสเซียจะถูกเพิกถอน สถานะการค้า "ชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง" (Most-favoured nation) ซึ่งสามารถเปิดทางให้อียูออกคำสั่งห้าม หรือจัดเก็บภาษีลงโทษต่อสินค้าของรัสเซีย และกำหนดให้รัสเซียมีสถานะเทียบเท่ากับเกาหลีเหนือหรืออิหร่าน

 

ทั้งนี้ ฝรั่งเศสรับหน้าที่เป็นประธานสภาอียู ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 และมีวาระ 6 เดือน

 

แหล่งข่าวการทูตระบุว่า การคว่ำบาตรครั้งใหม่ล่าสุดนี้ จะรวมถึง

  • การสั่งห้ามนำเข้าเหล็กกล้าและเหล็กของรัสเซีย
  • การสั่งห้ามส่งออกสินค้าหรู อาทิ รถยนต์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50,000 ยูโร (55,000 ดอลลาร์) และ
  • การสั่งห้ามลงทุนในบริษัทน้ำมันและภาคพลังงาน

นอกจากนี้ อียูยังจะเพิ่มชื่อนายโรมัน อับราโมวิช เจ้าของสโมสรฟุตบอลเชลซีและบุคคลอีก 14 รายลงในบัญชีคว่ำบาตรมหาเศรษฐีรัสเซียของอียูอีกด้วย

เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป

ด้านนางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ระบุด้วยว่า อียูกำลังดำเนินการเพื่อเรียกร้องให้ระงับสิทธิ์ของรัสเซียในการเป็นสมาชิกสถาบันระหว่างประเทศชั้นนำ ซึ่งรวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก

 

ก่อนหน้านี้ มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของอียูครอบคลุมหลายด้าน ซึ่งประกอบด้วย

  • มาตรการลงโทษรายบุคคล ซึ่งได้แก่ ปธน. วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย (โดยเขาเป็นหนึ่งในสามผู้นำประเทศที่ถูกอียูขึ้นบัญชีดำ ผู้นำอีกสองคนได้แก่ ปธน. บาชาร์ อัล-อัสซาด ของซีเรีย และ ปธน. อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ของเบลารุส) นายดมิทรี กริโกเรงโก รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย, นายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย และเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นๆ 

 

  • นอกจากนี้ อียูยังขึ้นบัญชีดำมหาเศรษฐีรัสเซียหลายรายที่มีความใกล้ชิดปธน.ปูติน อาทิ นายอลิเชอร์ อุสมานอฟ เจ้าพ่อวงการเหล็กและเทคโนโลยี, นายอิกอร์ เซชิน ประธานบริหารของรอสเนฟท์ (Rosneft) บริษัทผลิตน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซีย ,นายนิโคไล ทอคาเรฟ ซีอีโอบริษัทผลิตน้ำมัน ทรานส์เนฟท์ (Transneft) , นายมิคาอิล ฟริดแมน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอัลฟา กรุ๊ป (Alfa Group) ซึ่งเป็นเจ้าของธนาคารอัลฟา-แบงค์ (Alfa-Bank) ธนาคารเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในรัสเซีย, นายเพเตอร์ เอเวน หุ้นส่วนธุรกิจของฟริดแมน และนายเอล็กเซย์ มอร์ดาชอฟ บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในรัสเซียและเจ้าของบริษัทซีเวอร์สตาล (Severstal) บริษัทผลิตเหล็กขนาดใหญ่

 

  • ไม่เพียงเท่านั้น อียู ยังสั่งห้ามทำธุรกรรมกับธนาคารกลาง กระทรวงการคลัง และกองทุนบริหารสินทรัพย์แห่งรัฐของรัสเซีย และสั่งระงับการดำเนินการทางทรัพย์สินในต่างประเทศของทั้งสามหน่วยงานดังกล่าว 
  • ในส่วนของอุตสาหกรรมการบิน อียูได้สั่งห้ามอากาศยานของรัสเซียบินขึ้น ลงจอด หรือบินผ่านน่านฟ้าของตน และยังได้สั่งห้ามส่งออก จำหน่าย จัดหา หรือโอนถ่ายอากาศยาน ชิ้นส่วนอากาศยานและอุปกรณ์ทั้งหมดไปยังรัสเซีย

 

  • ในภาคพลังงาน อียูออกมาตราการลงโทษภาคพลังงานและการทหารของรัสเซีย เช่น ก๊าซพรอม (Gazprom) บริษัทก๊าซของรัฐบาล, บริษัทผลิตน้ำมันในเครือก๊าซพรอม ก๊าซพรอมเนฟท์ (Gazpromneft) และบริษัทพลังงาน ลุคออยล์ (Lukoil), รอสเนฟท์ (Rosneft) และเซอร์กัสเนฟเทก๊าซ (Surgutneftegaz) ต่างเผชิญกับมาตรการจำกัดการนำเข้าส่งออก และการเพิ่มหนี้สิน

 

  • ขณะเดียวกัน อียูได้ยกระดับมาตรการลงโทษต่อสินค้ารัสเซีย ทั้งสินค้าสำหรับประชาชนทั่วไปและสินค้าสำหรับกองทัพ พุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมกองทัพของรัสเซียและเบลารุส และจำกัดทั้งสองประเทศจากการเข้าถึงเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น โดรน ซอฟท์แวร์สำหรับโดรน ซอฟท์แวร์สำหรับอุปกรณ์เข้ารหัส เซมิคอนดักเตอร์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าชั้นสูง