ถอดบทเรียนโควิดฮ่องกง การระบาดรุนแรงของโอมิครอนก่อวิกฤตได้อย่างไร

15 มี.ค. 2565 | 05:48 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2565 | 13:27 น.
1.7 k

โรงพยาบาลต่าง ๆ ของฮ่องกงกำลังท่วมท้นไปด้วยผู้ป่วย ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด "ระลอกใหญ่ที่สุด" โดยการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในฮ่องกงครั้งนี้ มีรายงานระบุว่าอาจเป็นการระบาดของไวรัสโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่มีชื่อว่า BA.2.2 หรือ B.1.1.529.2.2

สำนักข่าวบีบีซี สื่อใหญ่ของอังกฤษรายงาน สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในฮ่องกง ขณะนี้ว่า ด้านนอกแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล มีเตียงคนไข้หลายสิบเตียงตั้งอยู่ทั้งกลางแจ้ง และในเต็นท์ชั่วคราว ท่ามกลางเสียงร้องระงมของคนไข้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ผู้สูงอายุ และมีเด็กเล็กรวมอยู่ด้วย พวกเขาต่างเป็นผู้ต้องสงสัยว่าติด โควิด-19 หรือได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ และกำลังรอเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

 

พยาบาลห้องฉุกเฉินคนหนึ่งเล่าถึงสภาพที่เกิดขึ้นให้ทีมข่าวบีบีซีฟังว่า ภาพที่เห็นนั้นให้ความรู้สึกราวกับค่ายผู้อพยพในช่วงสงคราม ซึ่งน่าหดหู่ใจ เป็นสภาพที่เห็นแล้วชวนให้อยากร้องไห้ เพราะไม่มีที่ว่างพอในหอดูแลผู้ป่วย พวกเขาจึงทำได้แค่รอ และแพทย์พยาบาลก็ทำอะไรไม่ได้เลย กระทั่งหลายวันต่อมา ผู้ป่วยเหล่านี้จึงได้รับการเคลื่อนย้ายเข้าไปอยู่ในตัวอาคาร หลังจากนางแครี แลม ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ออกมาประกาศว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ "ไม่อาจยอมรับได้" แต่ถึงอย่างนั้น โรงพยาบาลต่าง ๆ ของฮ่องกงก็ยังคงท่วมท้นไปด้วยคนไข้ ท่ามกลางการระบาดของโควิดระลอกใหญ่ที่สุดเท่าที่ฮ่องกงเคยเผชิญมา

โรงพยาบาลต่าง ๆ ของฮ่องกงกำลังท่วมท้นไปด้วยผู้ป่วยโควิด-19

การระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.2 (B.1.1.529.2.2)

การระบาดใหญ่ในฮ่องกง มีการระบุว่าอาจเป็นการระบาดของสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนที่ชื่อว่า BA.2.2 หรือ B.1.1.529.2.2 ซึ่งจนถึงวันที่ 14 มี.ค. แม้ยังไม่มีการยืนยันชื่อสายพันธุ์อย่างเป็นทางการจากระบบฐานข้อมูลโควิดสากล (GISAID) แต่ในประเทศไทยก็มีการเฝ้าระวังจากกระทรวงสาธารณสุข โดยนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยวานนี้ (14 มี.ค.) ว่า

จากการตรวจเฝ้าระวังข้อมูลในไทย ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สุ่มตัวอย่างและถอดรหัสพันธุกรรมเข้าระบบ GISAID กว่า 500-600 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ พบว่ามี 4 ราย ที่มีโอกาสเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2.2 โดยเป็นต่างชาติ 1 ราย และคนไทย 3 ราย หาก GISAID กำหนดชื่อสายพันธุ์อย่างเป็นทางการ ไทยก็จะสามารถยืนยันสายพันธุ์ทางการของทั้ง 4 รายที่เข้าข่ายนี้ด้วย

 

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า BA.2.2 เป็นสายพันธุ์ย่อยตัวหนึ่งที่มีการกลายพันธุ์ที่สไปค์โปรตีน พบหลัก ๆ ตอนนี้ที่ฮ่องกงกับอังกฤษ ซึ่งข้อมูลที่ป้อนเข้ามาในระบบมีน้อยกว่าที่ตรวจพบ โดยฮ่องกงตรวจพบ 386 ราย อังกฤษตรวจพบ 289 ราย แม้จะมาจากคนละสาย แต่ว่าเป็นสายพันธุ์ย่อยของ BA.2.2

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ปรากฏการณ์ที่ฮ่องกง ที่มีการให้ข้อมูลว่าพอเจอสายพันธุ์ BA.2.2 ทำให้อัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตค่อนข้างสูงนั้น ยังไวเกินไปที่จะสรุป เพราะการเสียชีวิตเป็นปรากฏการณ์ติดเชื้อเมื่อ 7-8 วันก่อน บางคนถ้ารักษายาวนานอาจจะเป็นเดือนก่อนด้วยซ้ำ ดังนั้น ต้องบอกว่าเร็วเกินไปที่จะสรุปว่ารุนแรงขึ้นเพราะ BA.2.2 อีกทั้งตำแหน่งที่กลายพันธุ์ ยังไม่มีเหตุผลที่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นเหตุให้ทำลายอวัยวะต่าง ๆ อย่างเช่น ปอดมากขึ้น การพิสูจน์ยังต้องใช้เวลาพอสมควร

ก่อนหน้านี้ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี ระบุเมื่อวันที่ 12 มี.ค. ว่า ปัจจุบันยังไม่พบ BA.2.2 ในประเทศไทย แต่จากการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมในอาเซียนพบว่า ในสิงคโปร์พบ 11 ราย อินโดนีเซีย 4 ราย บูรไน 2 ราย และกัมพูชา 1 ราย แต่เพื่อไม่ประมาททางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ได้เริ่มพัฒนาชุดตรวจ BA.2.2 แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จและนำออกมาใช้ตรวจกรอง BA.2.2 ได้ภายในอีก 2 สัปดาห์

 

ความสำเร็จในอดีตของฮ่องกง

ที่ผ่านมาฮ่องกงมักถูกยกให้เป็นต้นแบบของความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยในช่วงปลายปี 2021 ฮ่องกงซึ่งมีประชากร 7.5 ล้านคน มียอดผู้ติดเชื้อเพียง 12,650 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตไม่ถึง 220 คน

 

ความสำเร็จดังกล่าวช่วยสร้างความชอบธรรมในการที่รัฐบาลฮ่องกงจะดำเนินนโยบายตามยุทธศาสตร์ "โควิดเป็นศูนย์" ของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งใช้มาตรการต่าง ๆ อาทิ การตรวจหาเชื้อแต่เนิ่น ๆ การติดตามผู้ป่วยและผู้สัมผัสใกล้ชิดอย่างเป็นระบบ รวมทั้งกฎการกักตัวและการจำกัดการเดินทางที่เข้มงวด

 

การมาถึงของโอมิครอนเปลี่ยนสถานการณ์

แต่แล้วฮ่องกงก็ต้องเสียท่าให้กับเชื้อโควิดกลายพันธุ์ “โอมิครอน” ที่แพร่สู่กันได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นมาอยู่ที่กว่า 66,000 ราย ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน

 

ผู้ติดเชื้อโอมิครอนกลุ่มแรก ๆ ของฮ่องกงเกี่ยวข้องกับกรณีลูกเรือสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค 2 คนที่ละเมิดกฎควบคุมโควิดเมื่อปลายเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา (2564) จากนั้นก็พบการระบาดแบบกลุ่มก้อนที่ใหญ่ขึ้นในโรงแรมที่ใช้เป็นสถานที่กักตัว

 

มหาวิทยาลัยฮ่องกง (University of Hong Kong หรือ HKU) คาดการณ์ว่า สถานการณ์การระบาดในฮ่องกงจะแตะจุดสูงสุดภายในช่วงกลางหรือปลายเดือน มี.ค.นี้ โดยจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึงวันละกว่า 180,000 คน หากยังมีการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมแบบในปัจจุบันต่อไป และคาดว่าภายในช่วงกลางเดือน พ.ค. 2565 ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จะพุ่งแตะ 3,200 คน

 

ศาสตราจารย์ แกเบรียล เหลียง คณบดีคณะแพทยศาสตร์ของ HKU อธิบายว่าที่เป็นเช่นนี้ "เพราะความสำเร็จในอดีตของเรา ผู้คนจึงเกิดความเข้าใจผิด ๆ เรื่องความปลอดภัย"

 

ระบบสาธารณสุขใกล้พังทลาย

ผู้ติดเชื้อโอมิครอนส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง จึงทำให้สามารถหายเองได้ภายในเวลาไม่กี่วัน แต่หน่วยงานสาธารณสุขฮ่องกงยังคงยืนกรานให้ผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโดยที่ไม่มีอาการป่วย หรือมีอาการไม่รุนแรงต้องเข้ารับการกักตัวในศูนย์กักตัวต่าง ๆ ซึ่งอัตราครองเตียงเต็มอย่างรวดเร็ว

 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลฮ่องกงก็ยังไม่ได้ออกแนวปฏิบัติที่ละเอียดและชัดเจนเกี่ยวกับการกักตัวที่บ้าน โดยระบุเพียงว่า ผู้ที่ติดเชื้อสามารถออกจากกระบวนการกักตัวได้หลังกักตัวไปแล้ว 14 วัน และตรวจไม่พบเชื้ออีก

 

ศาสตราจารย์ เหลียง กล่าวว่า "สิ่งที่เราต้องทำคือ การยอมรับว่าระบบสาธารณสุขของเรากำลังจะพังทลายจากการแบกรับภาระนี้เอาไว้" อย่างไรก็ตาม ทางการฮ่องกงยังคงไม่ยอมละทิ้งนโยบายโควิดเป็นศูนย์ เพราะต้องการเอาใจรัฐบาลจีน ซึ่งจะนำไปสู่การเปิดพรมแดนระหว่างฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่อีกครั้ง

 

แต่ ดร.สิทธารถ ศรีธาร นักไวรัสวิทยาจาก HKU ชี้ว่าการยึดถือนโยบายดังกล่าวของรัฐ ทำให้แนวคิดเรื่องการใช้ชีวิตร่วมกับโควิดเป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในฮ่องกง และตอนนี้ทุกคนกำลังตื่นตระหนก เขาระบุว่า หากฮ่องกงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายได้ รัฐบาลก็ควรปรับปรุงการให้ความช่วยเหลือคนไข้ที่กักตัวอยู่ที่บ้าน เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะเข้าถึงอาหาร ชุดตรวจชนิดทราบผลเร็ว และยารักษาโรคขั้นพื้นฐาน

 

ขณะที่ศาสตราจารย์ เหลียง แนะว่า โรงพยาบาลต่าง ๆ ควรมีการคัดแยกผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัจจุบันโรงพยาบาลรัฐมีเตียงรองรับผู้ป่วยอยู่เพียง 2,000 เตียงเท่านั้น

อัตราการฉีดวัคซีนยังต่ำในกลุ่มผู้สูงวัย ทำให้ยอดเสียชีวิตจากโควิดพุ่งขึ้นมาก

ปัญหาเรื่องวัคซีน

หนึ่งในปัญหาสำคัญของวิกฤตโควิดในฮ่องกงครั้งนี้ คืออัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ยังต่ำในหมู่ผู้สูงอายุ โดยประชากรอายุ 11 ปีขึ้นไปได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว 76.2% แต่ผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปกลับมีอยู่ไม่ถึง 1 ใน 3

 

ดร.ศรีธาร กล่าวว่าที่เป็นเช่นนี้ เพราะที่ผ่านมาฮ่องกงมีอัตราผู้เสียชีวิตจากโควิดต่ำ จึงทำให้ผู้คนไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ ความลังเลใจในการฉีดวัคซีนยังฝังรากลึกในฮ่องกง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีความไม่ไว้ใจในรัฐบาล โดยเฉพาะหลังจากเกิดเหตุความไม่สงบขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดเรื่องวัคซีนจำนวนมาก

 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ดำเนินการเพียงเล็กน้อยในการจูงใจให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน และปฏิบัติต่อผู้ที่ฉีดวัคซีนกับผู้ที่ไม่ได้ฉีดแทบจะไม่ต่างกัน โดยในสัปดาห์นี้ ทางการเพิ่งจะหันมาใช้ระบบบัตรผ่านสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วสำหรับการเข้าใช้บริการร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ

 

ความช่วยเหลือจากแผ่นดินใหญ่

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในฮ่องกงสร้างความวิกตกกังวลให้รัฐบาลจีน โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้สั่งการรัฐบาลฮ่องกงว่า การจัดการโรคระบาดให้อยู่ภายใต้การควบคุมคือ "สิ่งสำคัญอันดับแรก"

 

ปัจจุบัน รัฐบาลจีนได้ช่วยฮ่องกงเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจและกักโรค โดยรัฐบาลฮ่องกงระบุว่า มีแผนจะตรวจคัดกรองโควิดให้ประชาชนทุกคน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่าจะช่วยให้การระบาดระลอกนี้สิ้นสุดลงอย่างรวดเร็ว

 

เคย์ แลม นักวิจัยจากสถาบันวิจัยนโยบายฮ่องกง ระบุว่า หลังการระบาดระลอกนี้จะมีความเป็นไปได้ 2 ประการคือ

  1. คนฮ่องกงจำนวนมากจะมีภูมิต้านทานโควิดตามธรรมชาติ เพราะที่ผ่านมาฮ่องกงไม่เคยมีการระบาดเป็นวงกว้างมาก่อน
  2. หลายคนจะได้รับวัคซีน และเรียนรู้เรื่องการกักตัว โดยชี้ว่า ความช่วยเหลือจากจีนแผ่นดินใหญ่จะช่วยให้ฮ่องกงรักษาอัตรา "โควิดเป็นศูนย์" ได้ง่ายขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า ฮ่องกงไม่สามารถปิดพรมแดนห้ามการเดินทางของผู้คนได้ตลอดไป

 

ด้าน ดร.ศรีธาร ไม่เชื่อว่าฮ่องกงจะเปลี่ยนทิศทางนโยบายว่าด้วยโควิดเร็ว ๆ นี้ เพราะการระบาดของโอมิครอนครั้งนี้จะยิ่งตอกย้ำความเชื่อของรัฐบาลจีนที่มีต่อนโยบายโควิดเป็นศูนย์ "การระบาดระลอกนี้ช่วยตอกย้ำความคิดของหลายคนในแผ่นดินใหญ่ที่เชื่อว่าจีนจำเป็นต้องคงนโยบายโควิดเป็นศูนย์เอาไว้ เพราะได้เห็นความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในฮ่องกงมาแล้ว"  ดังนั้น เขาจึงเชื่อว่า จีนเองก็คงต้องการที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้สถานการณ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นที่นั่นเช่นกัน

ที่มา : สำนักข่าวบีบีซี