อุตสาหกรรมป่วนหลังจีนล็อกดาวน์เซินเจิ้น ฟ็อกซ์คอนน์ปิดชั่วคราว รง.ไอโฟน

14 มี.ค. 2565 | 15:43 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มี.ค. 2565 | 23:16 น.

ฟ็อกซ์คอนน์ปิดโรงงานผลิตไอโฟน หลังจีนล็อกดาวน์เมืองเซินเจิ้นอย่างน้อย 1 สัปดาห์เพื่อสกัดการลุกลามของโควิด-19 นักวิเคราะห์หวั่นผลกระทบจะลามแทนคือภาวะสะดุดขัดด้านการขนส่งและการผลิต เนื่องจากเซินเจิ้นเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยี   

รัฐบาลจีน ประกาศ ล็อกดาวน์ เมือง เซินเจิ้น เป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ โดยมีเป้าหมายที่จะสกัด การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดย มาตรการล็อกดาวน์ ดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดภาวะติดขัดด้านการขนส่งและการผลิตในเมืองเซินเจิ้น ซึ่งเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของจีนและมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 17.5 ล้านคน

 

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า จีนพบผู้ติดชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นเกือบ 3,400 รายในวันอาทิตย์ (13 มี.ค.)ที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าวันก่อนหน้าถึง 2 เท่า ส่งผลให้รัฐบาลจีนตัดสินใจล็อกดาวน์หลายพื้นที่ รวมถึงเมืองเซินเจิ้นซึ่งเป็นเมืองท่าที่สำคัญและเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของจีน ขณะที่เมืองจี๋หลินประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เป็นบางส่วน ส่วนเมืองหยานจี๋ซึ่งติดกับเกาหลีเหนือได้ล็อกดาวน์แล้วทั้งเมือง

 

ล็อกดาวน์เซินเจิ้นถึงเมื่อไหร่-ห้ามอะไรบ้าง

รายงานระบุว่า จีนจะล็อกดาวน์เมืองเซินเจิ้นจนถึงวันที่ 20 มี.ค.นี้ โดยจะปิดระบบขนส่งรถประจำทางและรถไฟใต้ดินทั้งหมด นอกจากนี้ ภาคธุรกิจในเมืองนี้จะถูกสั่งให้ปิดทำการทั้งหมด ยกเว้นธุรกิจบริการที่จำเป็น ส่วนบรรดาพนักงานจะถูกร้องขอให้ทำงานจากที่บ้านหากสามารถทำได้ และชาวเมืองเซินเจิ้นจะถูกสั่งห้ามไม่ให้เดินทางออกนอกเมือง

ทั้งนี้ แม้ นโยบายโควิดเป็นศูนย์ หรือ Covid Zero ทำให้หลายพื้นที่ของจีนไม่พบผู้ติดเชื้อมาเป็นเวลานานในช่วงที่ทั่วโลกเผชิญการระบาดนั้น แต่ขณะนี้นโยบายดังกล่าวของจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายเนื่องจากการระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน โดยมีรายงานพบการระบาดเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ ๆ รวมทั้งเซี่ยงไฮ้  ซึ่งทำให้ยากต่อการใช้มาตรการสกัดโควิดเชิงรุก

ฟ็อกซ์คอนน์ เซินเจิ้น

หนึ่งในตัวอย่างผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ถึงขั้นต้องยุติการผลิต (ชั่วคราว) คือ ฟ็อกซ์คอนน์ ซึ่งล่าสุดวันนี้ (14 มี.ค.) ได้ประกาศปิดโรงงานผลิตไอโฟนในเมืองเซินเจิ้นแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์สกัดโควิดนั่นเอง

 

กรณีปิดโรงงานชั่วคราวของฟ็อกซ์คอนน์

ฟ็อกซ์คอนน์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์ไอโฟนให้กับบริษัทแอปเปิล อิงค์ ต้องระงับการเดินสายการผลิตในโรงงานที่เมืองเซินเจิ้นเป็นการชั่วคราว ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นโรงงานผลิตโทรศัพท์ไอโฟน เป้าหมายเพื่อสกัดการระบาดของโรคโควิด-19 ตามคำสั่งล็อกดาวน์ของรัฐบาลเซินเจิ้น ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีของจีน

ทั้งนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กเปิดเผยถ้อยแถลงของฟ็อกซ์คอนน์ว่า ฟ็อกซ์คอนน์หรือที่รู้จักกันในชื่อ บริษัทหงไห่ พรีซิชั่น อินดัสทรี มีสำนักงานใหญ่ของจีนในเมืองเซินเจิ้นและแหล่งผลิตสำคัญในเขตกวนหลาน โดยฟ็อกซ์คอนน์ได้ระงับการดำเนินงานที่โรงงานทั้ง 2 แห่งและแบ่งการผลิตไปยังโรงงานแห่งอื่น ๆ เพื่อลดผลกระทบจากภาวะชะงักงันดังกล่าว

 

ฟ็อกซ์คอนน์ไม่ได้เปิดเผยถึงระยะเวลาในการปิดโรงงานครั้งนี้ แต่รัฐบาลจีนสั่งการให้ธุรกิจทั่วไปในเซินเจิ้นระงับการดำเนินงานถึงวันที่ 20 มี.ค.2565

แถวประชาชนรอการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในเมืองเซินเจิ้น

แม้การปิดโรงงานของฟ็อกซ์คอนน์อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตอุปกรณ์จำนวนมากที่บริษัทผลิตให้กับแอปเปิลและแบรนด์อื่น ๆ แต่โดยปกติแล้ว ความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อยู่ในระดับต่ำในช่วงไตรมาสแรกของทุกปี หลังแตะจุดสูงสุดในช่วงวันหยุดยาว

 

เรื่องนี้มีความจำเป็น เนื่องจากรัฐบาลจีนตัดสินใจประกาศล็อกดาวน์เมืองเซินเจิ้นเป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ โดยมีเป้าหมายที่จะสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเมืองที่เป็นทั้งศูนย์กลางเทคโนโลยีของจีนและมีประชากรอาศัยอยู่ถึง 17.5 ล้านคน แม้ว่ามาตรการล็อกดาวน์ครั้งนี้อาจส่งผลให้เกิดภาวะติดขัดด้านการขนส่งและการผลิตในเมืองเซินเจิ้นก็ตาม

 

คาดล็อกดาวน์เซินเจิ้นทำเศรษฐกิจจีนอ่วม

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า จีนพบผู้ติดชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นเกือบ 3,400 รายในวันอาทิตย์ (13 มี.ค.) ซึ่งสูงกว่าวันก่อนถึง 2 เท่า ส่งผลให้รัฐบาลจีนตัดสินใจล็อกดาวน์หลายพื้นที่ รวมถึงเมืองเซินเจิ้นซึ่งเป็นเมืองท่าที่สำคัญและเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของจีนเป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นักวิเคราะห์คาดว่า มาตรการล็อกดาวน์ในวงกว้างครั้งนี้ อาจส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีนถึงครึ่งหนึ่ง

 

นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารออสเตรเลีย แอนด์ นิวซีแลนด์ แบงกิง กรุ๊ป ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเกิดโควิด-19 ระบาดเพิ่มขึ้นในจีน จีดีพีและประชากรจีนครึ่งหนึ่งก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ขณะที่นายฉาง ชู และนายเดวิด คู นักวิเคราะห์จากบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ ให้ความเห็นว่า มาตรการสกัดไวรัสก่อนหน้านี้ไม่ได้กระทบต่อภาคการผลิตส่วนใหญ่ในจีน แต่ การล็อกดาวน์เมืองเซินเจิ้น จะส่งผลกระทบในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีและเครื่องจักร ซึ่งป้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานโลก โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคการบริโภคและภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้นถึงสองเท่านั้น ประกอบกับผลกระทบจากปัจจัยนอกประเทศจีน ทำให้ความเสี่ยงในการล็อกดาวน์รอบนี้เพิ่มมากขึ้น

 

ทั้งนี้ มาตรการล็อกดาวน์ในเมืองเซินเจิ้นเกิดขึ้น หลังจากที่เมืองอื่น ๆ ของจีนพยายามสกัดโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว โดยเมืองเซี่ยงไฮ้ได้ระงับการเรียนในชั้นเรียนและระงับการให้บริการรถโดยสารระหว่างเมืองแล้ว