ค่าขนส่งสินค้าทางอากาศพุ่งกระฉูด หลังรัสเชียห้าม 36 ชาติบินผ่านน่านฟ้า

08 มี.ค. 2565 | 14:08 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มี.ค. 2565 | 21:49 น.

มาตรการปิดน่านฟ้าของรัสเซียซึ่งห้ามเครื่องบินจาก 36 ชาติบินผ่าน เพื่อเป็นการตอบโต้การที่ประเทศเหล่านี้คว่ำบาตรรัสเซียจากกรณีการบุกรุกรานยูเครน กำลังส่งผลทำให้อัตราค่าขนส่งสินค้าทางอากาศพุ่งทะยาน บางเที่ยวบินต้นทุนขนส่งเพิ่มพรวดถึง 80%

การประกาศ ห้ามเครื่องบินจาก 36 ชาติ บินผ่าน น่านฟ้ารัสเซีย เพื่อตอบโต้ การคว่ำบาตรของกลุ่มพันธมิตรตะวันตก ประกอบกับ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราค่าขนส่งสินค้าทางอากาศปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

สายการบินเคแอลเอ็ม รอยัล ดัทช์ แอร์ไลน์ส (KLM Royal Dutch Airlines) และยูไนเต็ด พาร์เซล เซอร์วิส หรือ ยูพีเอส (United Parcel Service :UPS) ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศรายใหญ่ ต่างออกมาระบุว่า บริษัทกำลังเผชิญกับต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและการปรับเปลี่ยนเส้นทางบินไปยังเอเชียที่ต้องบินอ้อมน่านฟ้า

 

มาตรการปิดน่านฟ้าของรัสเซียทำให้สายการบินต้องบินในระยะทางที่ไกลขึ้นและมีต้นทุนพุ่งสูงขึ้น ข้อมูลจาก Freightos ระบุว่า อัตราค่าขนส่งสินค้าทางอากาศจากจีนไปยุโรปปรับเพิ่มขึ้นถึง 80% ในสัปดาห์นี้ ขณะที่บริษัทเฟดเอ็กซ์ ( FedEX) ได้แจ้งบนเว็บไซต์ของบริษัทว่า จะมีการปรับขึ้นค่าขนส่งจากฮ่องกงไปยังยุโรป ฮ่องกงไปแอฟริกา และฮ่องกงไปตะวันออกกลาง จาก 55 เซ็นต์ต่อน้ำหนัก 1 ปอนด์ (ราว 0.45 กิโลกรัม) เป็น 1.2 ดอลลาร์ต่อปอนด์

 

บางเส้นทางอัตราค่าขนส่งพุ่งขึ้นถึง 80%

บริษัท ซีเรียม (Cirium) ซึ่งจัดเก็บสถิติการบิน เปิดเผยว่า ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีเที่ยวบินจากสหรัฐบินผ่านน่านฟ้าของรัสเซียราว 2,500 เที่ยวบิน ในทางกลับกันมีเที่ยวบินจากรัสเซียที่ผ่านน่านฟ้าของสหรัฐราว 493 เที่ยวบิน

 

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ราคาต้นทุนการขนส่งทางอากาศที่ทะยานสูงขึ้นนี้จะถูกส่งผ่านไปยังสินค้านำเข้าหลายประเภท เช่น ชีสและผลไม้ ที่น่าจะมีราคาสูงขึ้น และจะเพิ่มแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในหลายประเทศ

 

ทั้งนี้ วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ลุกลามจนถึงการประกาศปิดน่านฟ้ายูเครนและรัสเซีย ห้ามสายการบินต่างชาติจากสหภาพยุโรป หรืออียู และชาติพันธมิตรที่ประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย บินผ่าน ไม่งั้นจะไม่รับรองความปลอดภัย ได้ส่งผลให้สายการบินของชาติพันธมิตรตะวันตกเหล่านั้น จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเส้นทางการบินมายังเอเชียใหม่ทั้งหมด ซึ่งทำให้ต้องอ้อมโลกมากขึ้น บินระยะทางไกลขึ้น ต้องเพิ่มทั้งเวลาเดินทาง เพิ่มค่าโดยสาร เพิ่มเชื้อเพลิง เพิ่มจุดพักเครื่อง และสารพัดจะอลเวงตารางการบิน

 

ยกตัวอย่างกรณีของสายการบินบริติช แอร์เวย์ เส้นทางจากลอนดอน อังกฤษ ไปยังนครเดลี อินเดีย เดิมใช้เวลาประมาณ 9.17 ชั่วโมง เส้นทางใหม่ไกลขึ้นเกือบ 1,600 กิโลเมตร ใช้เวลานานขึ้นไปอีกกว่า 2 ชั่วโมง ส่วนเส้นทางไปโตเกียว ญี่ปุ่น เดิมใช้เวลาเดินทาง 11.10 ชั่วโมง เส้นทางใหม่อ้อมสุดโลกไปขั้วโลกเหนือแวะพักที่อลาสกา และบินต่อมายังโตเกียวใช้เวลาเดินทางเพิ่มขึ้นเป็น 17 ชั่วโมง เชื้อเพลิงต้องใช้อีกมหาศาล (อ่านเพิ่มเติมปิดน่านฟ้ารัสเซีย-ยูเครน งานเข้า!สายการบินจากยุโรปต้องบินอ้อมโลก)

สื่อต่างประเทศระบุว่า ในบรรดาสายการบินจาก 36 ประเทศที่ถูกรัสเซียแบนไม่ให้บินเข้าน่านฟ้านั้น ในจำนวนนี้ 27 ประเทศเป็นประเทศสมาชิกอียูทั้งหมด นอกจากนี้ ก็ยังมีแคนาดา และอังกฤษ รวมอยู่ด้วย (เช็กรายชื่อทั้ง 36 ประเทศ คลิกที่นี่)