ทำความรู้จักโครงการ Nord Stream 2 สำคัญไฉนในวิกฤตยูเครน

15 ก.พ. 2565 | 08:18 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2565 | 15:34 น.
1.0 k

โครงการท่อก๊าซธรรมชาติใต้ทะเลบอลติก "นอร์ดสตรีม2" (Nord Stream 2) ที่เชื่อมระหว่างรัสเซียกับเยอรมนี มีความสำคัญต่อรัสเซียและยุโรปมากน้อยแค่ไหน เพราะเหตุใดโครงการนี้จึงถูกกล่าวถึงในวิกฤตการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียและยูเครน

“นอร์ดสตรีม2” (Nord Stream 2) เป็นชื่อโครงการท่อก๊าซธรรมชาติใต้ทะเลบอลติกความยาว 1,230 กิโลเมตรที่เชื่อมระหว่าง รัสเซีย กับชายฝั่งทะเลบอลติกทางด้านเหนือของประเทศ เยอรมนี โครงการดังกล่าวนี้ก่อสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้เริ่มเปิดใช้งานเพราะยังรอการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านพลังงานของเยอรมนีรวมทั้งจากคณะกรรมาธิการยุโรป

 

โครงการ "นอร์ดสตรีม2" มีความสำคัญเนื่องจากทวีปยุโรปมีความจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ และราว 40% ของแหล่งพลังงานที่ยุโรปต้องนำเข้านั้นก็มาจาก “รัสเซีย” นั่นเอง  

 

หากเริ่มมีการใช้งาน ท่อส่งก๊าซใต้ทะเลนอร์ดสตรีม2 ก็จะสามารถลำเลียงก๊าซธรรมชาติเพื่อสนองความต้องการของประเทศในยุโรปได้ราวปีละ 110,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะทำให้ท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีมเดิม (Nord Stream) ซึ่งใช้เส้นทางลำเลียงผ่านประเทศยูเครนกับโปแลนด์ถูกลดความสำคัญลง แต่ขณะเดียวกัน โครงการนี้ก็อาจช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองของรัสเซียเหนือประเทศในยุโรปขึ้นมาได้ในทันที

โครงการนอร์ดสตรีม2

 

ข่าวระบุว่า เท่าที่ผ่านมานั้น โครงการท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม2 เป็นตัวจุดชนวนความตึงเครียดระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับเยอรมนีมาแล้ว  เพราะ สหรัฐและสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) บางประเทศ เกรงว่าโครงการนี้จะทำให้รัสเซียสามารถใช้เรื่องก๊าซธรรมชาติเป็น “อาวุธ” หรือเป็น “เครื่องมือต่อรอง” ในทางภูมิรัฐศาสตร์กับยุโรปได้

 

ส่วนเยอรมนีนั้น นายโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ออกโรงสนับสนุนโครงการนี้ในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของนางอันเกลา แมร์เคิล และพรรค Social Democratic Party ของเขา ก็เห็นด้วยกับโครงการนี้เช่นกัน

 

ถ้ารัสเซียบุก อย่าหวังเปิดท่อ “นอร์ดสตรีม2”

อย่างไรก็ตาม จากการที่รัสเซียส่งกำลังพลนับแสนนายเข้าประชิดพรมแดนของยูเครน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐได้ตั้งเงื่อนไขในเชิงข่มขู่ว่า สหรัฐจะขัดขวางการเริ่มใช้งานของท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม2 หากรัสเซียบุกยูเครน ขณะที่เยอรมนีเองถึงแม้จะไม่ได้เอ่ยถึงโครงการนี้โดยตรง แต่นายโอลาฟ โชลซ์ ผู้นำเยอรมนีก็เตือนว่า หากรัสเซียบุกยูเครนจริง รัสเซียจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และจะต้องเตรียมพร้อมรับมือมาตรการลงโทษเอาไว้ได้เลย

นอร์ดสตรีม2 จะเปิดท่อเพื่อส่งก๊าซได้เมื่อไหร่

แต่คำถามก็คือ ประธานาธิบดีไบเดนจะสามารถใช้ท่อส่งก๊าซธรรมชาตินอร์ดสตรีม2 เป็นเครื่องมือในการตอบโต้และลงโทษรัสเซียได้อย่างไร

คำตอบก็คือ รัฐบาลสหรัฐสามารถใช้วิธีประกาศมาตรการ “คว่ำบาตรทางการเงิน” อย่างเข้มงวดโดยลงโทษบุคคลหรือบริษัทใดก็ตามที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ซึ่งก็จะเป็นผลให้ธนาคารพาณิชย์รวมทั้งธุรกิจต่างๆ ไม่กล้าเข้ามีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้โครงการนอร์ดสตรีม2 ซึ่งเป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นทางใหม่จากรัสเซียไปยังประเทศในยุโรป ไม่สามารถเริ่มใช้งานได้

 

สื่อต่างประเทศรายงานว่า กระบวนการเพื่ออนุมัติการเริ่มใช้ท่อลำเลียงก๊าซธรรมชาตินอร์ดสตรีม2 ยังจะต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน และคงจะเกิดขึ้นไม่ทันช่วงฤดูหนาวนี้ สำนักข่าวเอพีระบุ บริษัทก๊าซพรอม (Gazprom) ของรัสเซีย จะยังสามารถส่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นโดยใช้เส้นทางลำเลียงเดิมที่ผ่านประเทศยูเครนกับโปแลนด์ได้อยู่

 

ขณะที่ประเทศในยุโรปต้องการก๊าซธรรมชาติราคาถูกจากรัสเซียเอามาใช้สนองความต้องการด้านพลังงานภายในประเทศ บริษัทก๊าซพรอม รัฐวิสาหกิจของรัสเซียเอง ก็ต้องพึ่งพาตลาดยุโรปในการขายทรัพยากรด้านพลังงานเพื่อหารายได้มาสนับสนุนงบประมาณของรัสเซียเช่นกัน

 

ดังนั้น ความสัมพันธ์ในลักษณะ “น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า” ที่ต้องพึ่งพากันนี้ทำให้สหรัฐกับประเทศตะวันตกอื่นๆ สามารถใช้ประเด็นเรื่องท่อก๊าซธรรมชาตินอร์ดสตรีม2 เป็นเครื่องมือในการเตือนและขู่รัสเซีย ไม่ให้บุกยูเครน ซึ่งในส่วนของรัสเซียเองนั้น นักวิเคราะห์หลายคนก็เชื่อว่า รัสเซียคงจะไม่หยุดการขายก๊าซธรรมชาติให้กับยุโรปถึงแม้ว่ากรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับยูเครนจะขยายตัวลุกลามมากขึ้นไปกว่านี้ก็ตาม

 

ที่มา วอยซ์ ออฟ อเมริกา / เอพี