ภารกิจร้อน ๆ ของ"ไบเดน" ในตำแหน่งประธานาธิบดีปีที่สอง

21 ม.ค. 2565 | 08:38 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ม.ค. 2565 | 16:00 น.

การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของนายโจ ไบเดน เริ่มย่างเข้าสู่ขวบปีที่สองในวันนี้ (21 ม.ค.) ตัวเขาเองยอมรับว่า ยังมีอุปสรรคและความท้าทายอีกมากมายที่กลายเป็นภารกิจสำคัญรอการแก้ไข นอกเหนือไปจากปฏิบัติการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำ สหรัฐอเมริกา เปิดเผยวานนี้ (20 ม.ค.) ในถ้อยแถลงและการพบปะกับสื่อที่ทำเนียบขาวเนื่องในวาระ ครบรอบ 1 ปีของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ระบุถึงหลากหลายประเด็นที่สหรัฐให้ความสำคัญ และเรื่องที่เป็นภารกิจเร่งด่วนสำหรับการปฏิบัติงานซึ่งเริ่มก้าวเข้าสู่ปีที่สอง สามารถสรุปได้ ดังนี้

 

หนุนเฟดคุมเข้มนโยบายการเงิน สกัดเงินเฟ้อ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดนกล่าวชัดเจนว่า เขาสนับสนุนแผนการของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะเริ่มใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน และลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินที่เฟดได้นำมาใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ในขณะเดียวกัน ไบเดนย้ำว่า เขาเคารพในความเป็นอิสระของเฟด และเล็งเห็นว่า ภารกิจของเฟดในเวลานี้ ก็คือการควบคุมเงินเฟ้อนั่นเอง

 

"การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจเผชิญกับความซับซ้อนอย่างมาก ซึ่งรวมถึงการทำให้ราคาสินค้าพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก ประชาชนมองเห็นพยานหลักฐานเหล่านี้ได้จากราคาที่พุ่งขึ้นในสถานีบริการน้ำมัน ร้านค้าปลีก และที่อื่น ๆ" ปธน.ไบเดนกล่าว และว่า เฟดใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ในช่วงวิกฤตมาเป็นเวลานานกว่า 1 ปีแล้ว  “เมื่อพิจารณาจากเศรษฐกิจของเราที่ยังคงแข็งแกร่งและราคาสินค้าที่ปรับตัวขึ้นในขณะนี้ ผมคิดว่าเป็นการเหมาะสมแล้วที่เฟดจะเริ่มปรับนโยบายการเงินตามที่นายพาวเวลล์ได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้านี้"

ถ้อยแถลงของปธน.ไบเดนมีขึ้นในช่วงเวลาที่ตลาดการเงินทั่วโลกคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. นี้ ซึ่งเป็นเดือนที่เฟดจะยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

 

ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่หลายคนของเฟดได้ออกมาแสดงความเห็นในเชิงสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 15-16 มี.ค.นี้ เนื่องจากคณะกรรมการเฟดได้ประกาศไว้ก่อนหน้าแล้วว่าจะเพิ่มการปรับลดวงเงินในโครงการ QE เป็นเดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์ เริ่มตั้งแต่เดือนม.ค. 2565 โดยการปรับลดวงเงิน QE ของเฟดจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเดิมเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลให้เฟดยุติการทำ QE ในเดือนมี.ค. ที่จะถึงนี้

 

การค้าสหรัฐ-จีน ยังไม่ถึงเวลาผ่อนปรน   

ผู้นำสหรัฐระบุว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะยกเลิกมาตรการทางภาษีที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์บังคับใช้กับจีน "ผมอยากจะอยู่ในจุดที่สามารถพูดได้ว่าพวกเขา (จีน) กำลังทำตามคำสัญญาหรือทำได้มากกว่านั้น และสามารถยกเลิกการเก็บภาษีบางส่วนได้ แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้อยู่ในจุดนั้น"

ปธน.โจ ไบเดน เริ่มการทำงานที่ย่างเข้าสู่ปีที่สองแล้ว

ไบเดนย้ำว่าสหรัฐพยายามสร้างความมั่นใจว่า จีนจะรักษาข้อตกลงการค้าทวิภาคีที่ลงนามไว้กับสหรัฐเมื่อปี 2563 นางแคเธอรีน ไท่ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) กำลังดำเนินการในประเด็นนี้ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเฟสแรกนั้น จีนได้ตกลงที่จะซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐเพิ่มขึ้นจากปี 2560 อย่างน้อย 2 แสนล้านดอลลาร์ระหว่างปี 2563-2564 ซึ่งจะช่วยให้สหรัฐลดการขาดดุลทางการค้ากับจีนลงมาได้

 

แต่ข้อมูลระบุว่า ในปี 2564 จีนยังมียอดเกินดุลการค้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์กับสหรัฐ เนื่องจากชาวอเมริกันต้องการซื้อสารพัดสินค้าที่ผลิตในจีนตั้งแต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปจนถึงจักรยาน

 

สำหรับยุทธศาสตร์ใหม่ต่อจีนของปธน.ไบเดน ซึ่งมีกำหนดเปิดตัวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้ถูกเลื่อนออกไป และจนถึงตอนนี้เขายังคงรักษานโยบายที่มีต่อจีนของอดีตปธน.ทรัมป์ไว้เป็นส่วนใหญ่ พร้อมเรียกร้องให้ผู้นำจีนชี้แจงถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในฮ่องกงและต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ในเขตปกครองตนเองซินเจียง ซึ่งท่าทีแบบนี้ รวมทั้งการให้ความสนับสนุนไต้หวันอย่างโจ่งแจ้ง จะทำให้ความสัมพันธ์สหรัฐ-จีนอยู่ในโหมดตึงเครียดต่อไป

 

กดดันราคาน้ำมันให้ต่ำลง แม้กลุ่มโอเปกไม่ยอมร่วมมือ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศให้คำมั่นที่จะดำเนินการต่าง ๆ เพื่อกดดันราคาน้ำมันให้ลดลง ถึงแม้จะไม่ได้รับความร่วมมือจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันในกลุ่มโอเปกก็ตาม หลังราคาน้ำมันพุ่งสูงแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี "เราจะพยายามเพิ่มซัพพลายน้ำมันที่เรามี แต่คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก"

 

ล่าสุดสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ปิดที่ 88.44 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 2557 ทั้งยังเพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปลายเดือนพ.ย. 2564 จึงทำให้หลายฝ่ายคาดว่า ราคาน้ำมันดิบน่าจะพุ่งทะลุ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลในเร็ว ๆ นี้

 

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา (2564) ปธน.ไบเดนประกาศระบายน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของสหรัฐ เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันในตลาด และลดอิทธิพลของโอเปกในการกำหนดราคาน้ำมัน โดยร่วมมือกับอินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน

 

"จะเห็นได้ว่า การดำเนินการดังกล่าวดึงราคาน้ำมันลงมาได้ 12-15 เซ็นต์ต่อแกลลอน หรือมากกว่านั้นในบางพื้นที่" ปธน.ไบเดนกล่าว "แต่คงยังต้องดูกันต่อไปว่าราคาน้ำมันจะยังคงพุ่งสูงขึ้นต่อไปหรือไม่ รวมถึงผลกระทบต่อประเทศผู้ผลิตน้ำมัน"

 

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อความนิยมในตัวปธน.ไบเดน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำหรับพรรคเดโมแครตที่ต้องการคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในการเลือกตั้งช่วงเดือนพ.ย.ปีนี้

 

ระอุเผชิญหน้า-พร้อมคว่ำบาตรรัสเซีย กรณียูเครน

เกี่ยวกับกรณีความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะบุกยูเครน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระบุชัดๆ ว่า "ผมคาดว่าปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย จะเคลื่อนกำลังทหารเข้าไปในยูเครน" และ "หากรัสเซียเคลื่อนกองกำลังทหารที่สั่งสมอยู่บริเวณชายแดนจริง หายนะจะเกิดขึ้นกับรัสเซียหากยังบุกยูเครนต่อไป"

 

ทั้งนี้ ผู้นำสหรัฐย้ำว่า หากรัสเซียคิดจะบุกยูเครนเต็มรูปแบบ พันธมิตรและเพื่อนของสหรัฐก็พร้อมที่จะตอบโต้รัสเซียอย่างรุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรัสเซียอย่างมีนัยสำคัญและจะสร้างความเสียหายต่อรัสเซียด้วย นอกจากนี้ ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมาอาจรวมถึงการจำกัดไม่ให้รัสเซียเข้าถึงเงินดอลลาร์สหรัฐ และการคว่ำบาตรทางการเงิน รวมทั้งมาตรการอื่น ๆ

 

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐพยายามเรียกร้องให้รัสเซียเลือกใช้วิธีทางการทูต ท่ามกลางความกังวลว่า ปธน.ปูตินอาจตัดสินใจเดินหน้าบุกยูเครนต่อไป เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่ผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเมื่อปี 2557

รัสเซียเคลื่อนกำลังพลเข้าสมทบบริเวณชายแดนยูเครนเพิ่มขึ้น

ข่าวระบุว่า ขณะนี้รัสเซียส่งกำลังทหารเกือบ 100,000 นายไปประชิดบริเวณแนวชายแดนยูเครนแล้ว และสหรัฐก็มองว่า รัสเซียอาจเพิ่มกำลังพลเป็น 2 เท่าในเร็ว ๆ นี้

 

อย่างไรก็ตาม ปธน.ไบเดนเชื่อว่าปธน.ปูตินไม่ต้องการทำ "สงครามเต็มรูปแบบ" แต่มีแนวโน้มที่จะ "ทดสอบ" สหรัฐและองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (NATO) ในทางใดทางหนึ่ง