10 "ปัจจัยเสี่ยง" เขย่าเศรษฐกิจโลกปี 65

17 ธ.ค. 2564 | 12:06 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ธ.ค. 2564 | 00:51 น.
3.5 k

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ประมวลความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับแนวโน้มสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า (2022) ลำดับเรียบเรียงออกมาเป็น “คาดการณ์ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ 10 ประการ” ส่วนใหญ่มีความเกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดและเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ยังคงคาดหมายเห็น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในปีหน้า (2022) รวมถึงนักเศรษฐศาสตร์ของสำนักวิจัยบลูมเบิร์ก  Bloomberg Economics แต่กระนั้นก็มองเห็นถึงแนวโน้มของสิ่งที่จะเป็น ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ที่ไม่น่าไว้วางใจ ซึ่งนอกจากโควิด-19 แล้ว ยังรวมถึงอัตราเงินเฟ้อ ราคาอาหารที่สูงขึ้น สถานการณ์การเมือง และความไม่สงบในหลายประเทศ

 

อันที่จริงสถานการณ์ที่ผ่านมาในปีนี้ แม้จะมีผู้คาดการณ์แนวโน้มต่าง ๆไว้มาก แต่บางสิ่งก็ไม่เป็นตามนั้นเพราะปัจจัยเสี่ยงที่เป็นความท้าทายทางเศรษฐกิจมีอุบัติขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว รวมทั้งโควิดสายพันธุ์ใหม่อย่างโอมิครอน จู่ๆ ก็สร้างปรากฏการณ์อย่างไม่ทันให้ใครได้ตั้งตัว และกลายเป็นความเสี่ยงที่สร้างความพลิกผันทั้ง ๆที่หลายประเทศเพิ่งจะคลายมาตรการล็อกดาวน์และเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ไม่นาน 

 

เรามาดูกันว่า “10 ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ” ในปีหน้า ที่นักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์ก ( Bloomberg)ได้คาดการณ์ไว้ มีอะไรบ้าง

1.โควิดสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) และมาตรการล็อกดาวน์

ถึงแม้ว่ายังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับความรุนแรงหรือวิธีการป้องกันโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ชื่อว่า “โอมิครอน” แต่ที่เห็นค่อนข้างชัดเจนคือ การระบาดของโอมิครอนที่รวดเร็วกว่าโควิดสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีมาดั้งเดิม

 

การจะทำให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนที่จะเกิดการระบาดของโรค ต้องระดมสรรพกำลังทั้งบุคลากรและเงินทุนในการใช้จ่ายมากขึ้น และถึงแม้มาตรการล็อกดาวน์และมาตรการป้องกันโควิด จะทำให้ผู้คนไม่ไปเข้ายิม ร้านอาหาร หรือสถานบันเทิง แต่พวกเขาก็เพิ่มการใช้จ่ายในด้านอื่น ๆ แทน เช่นซื้อของเข้าบ้านมากขึ้นส่งผลให้การคาดการณ์อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกของบลูมเบิร์ก ที่เดิมตั้งไว้ 4.7% อาจเพิ่มขึ้นเป็น 5.1% 

10 \"ปัจจัยเสี่ยง\" เขย่าเศรษฐกิจโลกปี 65

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับการระบาดได้ไวและความรุนแรงของโควิดสายพันธุ์ใหม่ด้วย หากรุนแรงมาก ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจมาก ก็อาจจะเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียง 4.2% และหากเป็นไปในทิศทางนั้น สิ่งน่าห่วงตามมาก็คือผลกระทบในระบบซัพพลายเชน-โลจิสติกส์ และตลาดแรงงานที่ซบเซา  

2.ภัยคุกคามจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

เมื่อต้นปี 2021 สหรัฐคาดว่าจะผ่านพ้นปีนี้ไปด้วยอัตราเงินเฟ้อ 2% แต่ในความเป็นจริงอัตราเงินเฟ้อกลับพุ่งเกือบแตะ 7% แล้ว ดังนั้น ในปีหน้า ( 2022) ที่นักวิเคราะห์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อ ณ สิ้นปีจะใกล้เคียงกับระดับเป้าหมายเดิมอีกครั้ง นั่นก็อาจเกิดการพลิกล๊อค ผิดคาดได้อีก เพราะการระบาดระลอกใหม่ของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน อาจกระทบการเดินทางและกดราคาน้ำมันลง ขณะที่ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสหรัฐ อาจจะปรับสูงขึ้นได้อีก ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนอาจทำให้ราคาเชื้อเพลิงพุ่งสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศที่เลวร้ายมากขึ้น ราคาอาหารอาจสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดล้วนเป็นตัวแปรที่สำคัญ

 

3.การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

เมื่อย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ความโกลาหลของตลาดหุ้นทั่วโลกในปี 2013 จนถึงการเทขายหุ้นในปี 2018 แสดงให้เห็นชัดว่า การปรับนโยบายด้านดอกเบี้ยของเฟดนั้น มีอิทธิพลต่อตลาดทั่วโลกมากมายเพียงใด แต่สิ่งที่จะเพิ่มความเสี่ยงในรอบนี้ คือราคาสินทรัพย์ที่ปรับสูงขึ้นอีกรอบแล้ว ขณะที่ดัชนี S&P 500 ก็อยู่ใกล้กับภาวะฟองสบู่ และราคาบ้านที่ทะยานตัวขึ้นจากค่าเช่า ชี้ว่าความเสี่ยงด้านตลาดที่อยู่อาศัยมีมากกว่าทุกครั้งนับตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์ในปี 2007

 

บลูมเบิร์ก ( Bloomberg) จำลองภาพว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า (2022) และส่งสัญญาณว่าจะดำเนินต่อไปจนกว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงถึง 2.5% นั้นจะผลักดันให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐเพิ่มขึ้น และการกระจายสินเชื่อที่กว้างขึ้น ผลลัพธ์คือ อาจจะเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในช่วงต้นปีถัดไป (2023)

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด

4.ผลกระทบจากนโยบายดอกเบี้ยของเฟด และตลาดเกิดใหม่

นโยบายดอกเบี้ยของเฟดอาจสร้างผลกระทบที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่ผ่านมาเฟดดำเนินนโยบายแบบไม่ปกติ ทั้ง QE และการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนเหลือศูนย์ แบบเดียวกับหลังวิกฤติซับไพรม์ ซึ่งนั่นอาจหมายถึงการล่มสลายของตลาดเกิดใหม่ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นของสหรัฐ มักจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น และกระตุ้นการไหลออกของเงินทุน  ซึ่งบางครั้งก็ก่อให้เกิดวิกฤตค่าเงินในประเทศกำลังพัฒนา

 

บางประเทศมีความเสี่ยงมากกว่าประเทศอื่น เช่นในปี 2013 และ 2018 อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ และตุรกีเป็นประเทศที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด ต่อมาก็ยังมีบราซิลและอียิปต์  กลุ่มประเทศเหล่านี้ เรียกรวมกันว่า กลุ่ม BEASTs  เป็น 5 ประเทศที่มีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมากที่สุดในปี 2565 อิงตามเกณฑ์ต่างๆที่รวบรวมโดย Bloomberg Economics อาทิ มีความต้องการเงินลงทุนที่สูง แต่การกำกับดูแลของภาครัฐอ่อนแอ ทำให้ตลาดมีความเสี่ยงสูง

 

ขณะเดียวกัน ประเทศอย่างซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย และไต้หวัน ซึ่งมีหนี้เพียงเล็กน้อยและยอดคงเหลือในบัญชีเดินสะพัดที่แข็งแกร่ง จะมีความเสี่ยงน้อยที่สุดของเงินทุนในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

 

5. จีน หัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่แผ่วลง

ในไตรมาสที่3 ของปีนี้ (2021) เศรษฐกิจของจีนต้องหยุดชะงัก ทั้งยังปรากฏปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากมาย ตั้งแต่ปัญหาการชำระหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ “เอเวอร์แกรนด์”  (Evergrande) การต้องล็อกดาวน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซ้ำเติมด้วยปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อปีของจีน ลดลงเหลือ 0.8% ซึ่งเป็นอัตราต่ำกว่าระดับ 6% ที่โลกคุ้นเคย

 

ในขณะที่วิกฤตการณ์พลังงานน่าจะคลี่คลายในปี 2022 ยังมีปัญหาอีก 2 ประการที่อาจไม่เป็นเช่นนั้น คือ กลยุทธ์ซีโร่โควิด (Zero-Covid) ของรัฐบาลจีนอาจหมายถึงการล็อกดาวน์อีกครั้งเพื่อสกัดโควิดสายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน และด้วยอุปสงค์ที่อ่อนแอและข้อจำกัดด้านการเงิน การก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนประมาณ 25% อาจจะต้องชะลอตัวลงอีก

 

เบื้องต้น Bloomberg Economics คาดการณ์ว่าจีนจะเติบโต 5.7% ในปีหน้า (2022) แต่หากชะลอตัวลงเหลือ 3% จะส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้ผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ขาดผู้ซื้อ และอาจจะทำให้แผนของเฟดต้องล้มเหลว เช่นเดียวกับเมื่อที่เกิดสถานการณ์หุ้นจีนตกในปี 2015

 

6.ความวุ่นวายทางการเมืองในยุโรป

ในปีนี้ (2021) ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในหมู่ผู้นำที่สนับสนุนโครงการยุโรป และการเคลื่อนไหวของธนาคารกลางยุโรปเพื่อควบคุมต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาล ช่วยให้ยุโรปฝ่าฟันวิกฤตโควิดมาได้ แต่ในปีหน้าทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไป

การชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีของอิตาลีในเดือนมกราคมปีหน้า อาจทำให้กลุ่มพันธมิตรที่เปราะบางในกรุงโรมพลิกคว่ำ ส่วนฝรั่งเศสก็กำลังเตรียมการเลือกตั้งในเดือนเมษายน โดยประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง กำลังเผชิญกับความท้าทายจากกลุ่มฝ่ายขวา ซึ่งหากกลุ่มต่อต้านการรวมยุโรปได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งของประเทศสำคัญ อาจทำให้ความสงบในตลาดตราสารหนี้ยุโรปปั่นป่วน และธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะขาดการสนับสนุนทางการเมืองที่สำคัญ

 

หากแต่ละประเทศ มุ่งไปที่การเพิ่มอำนาจอธิปไตยของตัวเองมากขึ้น เช่นเดียวกับที่พวกเขาเคยทำในวิกฤตหนี้ในทศวรรษที่แล้ว แบบจำลองเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์กแสดงให้เห็นว่า จะทำให้เกิดผลลบทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 4% ภายในสิ้นปี 2022 และจะทำให้เขตยูโรเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

 

7.ผลกระทบจาก Brexit ที่เพิ่มขึ้น

การเจรจาระหว่างอังกฤษและอียู เกี่ยวกับพิธีสารไอร์แลนด์เหนือ จะเริ่มชัดเจนในปี 2022 แต่การจะบรรลุข้อตกลงน่าจะเป็นเรื่องยาก

 

คำถามที่ตามมาคือ จะเกิดอะไรขึ้นหากการเจรจาล้มเหลว? จากผลกระทบของ Brexit ในช่วงที่ผ่านมา ความไม่แน่นอนจะกระทบต่อการลงทุนของธุรกิจและบ่อนทำลายค่าเงินปอนด์ ทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น และรายได้ที่แท้จริงลดลง ในสงครามการค้าเต็มรูปแบบ การเก็บภาษีศุลกากร และการขนส่งสินค้า อาจส่งผลให้ราคาสินค้าปรับสูงขึ้นอีก

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ

8.อนาคตของนโยบายการคลัง

ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา รัฐบาลแต่ละประเทศใช้เงินจำนวนมากในการเยียวยา สนับสนุนผู้ใช้แรงงานและภาคธุรกิจในการต่อสู้กับการระบาดโควิด-19 แต่ตอนนี้หลายประเทศต้องการรัดเข็มขัดลดภาระงบประมาณ โดยธนาคาร UBS คาดการณ์ว่า การลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในปี 2022 จะมีสัดส่วนราว 2.5% ของ GDP โลก ซึ่งมากกว่ามาตรการรัดเข็มขัดที่ชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังวิกฤตการเงินปี 2008 ถึง 5 เท่า

 

ยกเว้น รัฐบาลใหม่ของญี่ปุ่น ที่ได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่มูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ และทางการจีน ก็ได้ส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจหลังจากที่ได้ควบคุมการใช้จ่ายภาครัฐมานาน

 

ในสหรัฐอเมริกา นโยบายการคลังเปลี่ยนจากการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นชะลอเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2ของปีนี้ (ตามข้อมูลของสถาบันบรูคกิงส์) และคาดว่าจะดำเนินต่อไปเช่นนั้นในปีหน้า แม้แต่แผนการลงทุนด้านการดูแลเด็กและพลังงานสะอาดของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็อาจจะถูกลดทอนงบประมาณหากเข้าสู่สภาคองเกรส

 

9.ราคาอาหารและความไม่สงบ

หลายครั้งที่ประวัติศาสตร์ความไม่สงบในสังคม มีจุดเริ่มต้นมาจากความหิวโหยของประชาชน ผลกระทบจากโควิด-19 เมื่อประกอบเข้ากับสภาพอากาศเลวร้าย จะส่งผลให้ราคาอาหารโลกใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และอาจทำให้ราคาสูงขึ้นต่อเนื่องไปอีกในปีหน้า

 

การทะยานตัวของราคาอาหารครั้งล่าสุดในปี 2011 ก่อให้เกิดกระแสการประท้วงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลายประเทศในตะวันออกกลาง ซูดาน เยเมน และเลบานอน ยังคงอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบาก มีเพียงอียิปต์ดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

ทั้งนี้ ความยากลำบากที่ทำให้เกิดการลุกฮือของประชาชนจะไม่เป็นเพียงเรื่องในท้องถิ่นอีกต่อไป แต่ความเสี่ยงจากความไม่สงบในระดับภูมิภาคจะขยายวงกว้างมากขึ้น

 

10. ภูมิรัฐศาสตร์ทั้งระดับโลกและระดับท้องถิ่น

ความขัดแย้ง ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน ตั้งแต่การปิดล้อมไปจนถึงการรุกรานโดยสมบูรณ์ อาจดึงเอามหาอำนาจโลกอื่น ๆ รวมถึงสหรัฐเข้ามาพัวพันด้วย และอาจจะลุกลามเป็นการคว่ำบาตรที่จะยุติความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมไปถึงการล่มสลายในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันซึ่งมีความสำคัญต่อการส่งออกสินค้านานาชนิด ตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงรถยนต์ทั่วโลก  และถ้าบานปลายถึงขั้นกลายเป็น “สงครามมหาอำนาจ” ก็จะถือเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด

 

อะไรจะเกิดขึ้นในปี 2022?

ไม่ใช่ว่าทุกความเสี่ยงจะมีข้อเสีย ตัวอย่างเช่น นโยบายงบประมาณของสหรัฐอาจยังคงขยายตัวได้มากกว่าที่ปรากฏในตอนนี้ ทำให้เศรษฐกิจอยู่ห่างจากหน้าผาทางการคลัง และกระตุ้นการเติบโตทั่วโลก การระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ครัวเรือนต่างๆชะลอการใช้จ่ายในปีนี้ ทำให้มีเงินออมมากขึ้น คาดการณ์ว่าจะมีเงินออมเกินล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งหากสถานการณ์คลี่คลายคาดว่าจะมีการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตเร็วขึ้น

 

ในประเทศจีน การลงทุนในพลังงานสะอาดและที่อยู่อาศัยราคาไม่แพง ซึ่งได้กำหนดไว้ในแผนห้าปีฉบับที่ 14 ของประเทศแล้ว อาจช่วยเพิ่มการลงทุนได้ ข้อตกลงการค้าใหม่ของเอเชีย ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งครอบคลุมผู้คน 2.3 พันล้านคนและ 30% ของ GDP ทั่วโลก สามารถกระตุ้นการส่งออกได้

 

ในปี 2020 จุดเริ่มต้นของการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลก แต่ปี 2021 เศรษฐกิจก็ไม่ได้แย่ลงซะทีเดียว ต้องยอมรับว่าในหลายประเทศจะเห็นการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจนน่าประหลาดใจ

 

นั่นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ถ้าหากมีการปรับตัวและเรียนรู้ได้เร็ว สิ่งที่ดูจะเป็นวิกฤตก็อาจจะพลิกเป็นโอกาสที่ดีในปีหน้าได้เช่นกัน

 

ข้อมูลอ้างอิง

 

What Could Possibly Go Wrong? These Are the Biggest Economic Risks for 2022