เปิดประวัติ “แอนโทนี บลิงเคน” หัวหอกทีมยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกสหรัฐ

15 ธ.ค. 2564 | 09:37 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ธ.ค. 2564 | 16:46 น.
1.8 k

ก่อนที่นายแอนโทนี บลิงเคน รมว.ต่างประเทศสหรัฐ จะเดินทางถึงไทยวันนี้ เรามาทำความรู้จักเขากันสักหน่อย ในบทบาทผู้นำทีมยุทธศาสตร์ของสหรัฐในการขับเคลื่อนความร่วมมือของกลุ่มประเทศพันธมิตรสหรัฐในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก   

นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ วัย 58 ปี ได้ชื่อว่าเป็นมือวางอันดับหนึ่ง ของ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในฐานะหัวหน้า ทีมยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (ประเทศที่รายรอบมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก) ต่อต้านอิทธิพลจีน เขาเป็นนักการทูตสายเหยี่ยวมาดนุ่ม ที่เชื่อว่าการทูตที่ดีต้องมีกองกำลังหนุนทั้งในเชิงป้องและปราม 

 

บลิงเคนเป็นผู้มีบทบาทนำเสนอนโยบายการค้า TPP (ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Trans-Pacific Partnership Agreement) ปักหมุด “เอเชีย” เป็นเป้าหมายเชื่อมสัมพันธ์และความร่วมมือในสมัยการบริหารประเทศของประธานาธิบดีบารัก โอบามา และเมื่อได้รับเสนอชื่อขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐในรัฐบาลปธน.โจ ไบเดน ต้นปีนี้ เขาก็ได้ประกาศต่อคณะกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภาว่า จะทวงคืนบัลลังก์ผู้นำของสหรัฐจากจีนในทุกพื้นที่

บลิงเคนและปธน.โจ ไบเดน

ถึงแม้ว่าบลิงเคนจะประกาศในหลายเวทีว่า ทุกประเทศควรจะต้องเล่นตามกฎกติกา ประเทศใหญ่ไม่ควรใช้อิทธิพลข่มขู่กดดันให้ประเทศเล็กกว่า ต้องเลือกข้าง ซึ่งเหมือนเป็นการพูดถึงจีน แต่เอาเข้าจริง ๆแล้ว การดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐเวลานี้ก็ไม่ต่างกับการ “บีบให้เลือกข้าง” โดยให้เลือกระหว่างสหรัฐและจีนเช่นกัน

นายบลิงเคน เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐสมัยรัฐบาลปธน.โอบามา เขาเป็นผู้มีประสบการณ์เชี่ยวกรากในเวทีระหว่างประเทศมายาวนานกว่า 20 ปี บลิงเคนมีจุดยืนที่ชัดเจนในการเป็นนักการทูต “สายเหยี่ยว” (หรือสายใช้กำลัง) ตลอดมาว่า การทูตจะมีประสิทธิภาพได้นั้นจะต้องมี “กองกำลัง” สนับสนุนไม่ว่าจะเป็นในเชิง “ป้อง” หรือ “ปราม” เขาเองนั้น ในเชิงนโยบายก็พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายจากจีน อิหร่าน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ

 

ภายใต้วาระการเป็นเจ้ากระทรวงต่างประเทศของเขา บลิงเคนให้คำมั่นว่า จะฟื้นฟูภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของสหรัฐในสายตาประเทศอื่นให้กลับคืนมา และจะสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐด้วย

 

หลังจากที่วุฒิสภาสหรัฐลงมติรับรองอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา (27 ม.ค.64) ด้วยคะแนนเสียง 78 ต่อ 22 ให้บลิงเคนเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนที่ 71 ของสหรัฐ (ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสำคัญสูงสุดในคณะรัฐมนตรีและอยู่ในลำดับที่ 4 ของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งแทนประธานาธิบดี หากว่าประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ และประธานวุฒิสภา ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้) บลิงเคนยืนยันว่าจะทำงานร่วมกับประเทศ “พันธมิตร” ของสหรัฐ เพื่อเผชิญความท้าทายต่าง ๆในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น

  • การแพร่ระบาดของโควิด-19
  • การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก
  • วิกฤติเศรษฐกิจ
  • ภัยคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตย
  • การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมด้านชาติพันธุ์และสีผิว
  • ตลอดจนภัยจากการสั่นคลอนเสถียรภาพและความมั่นคงจากประเทศที่เป็นศัตรู

เดินหน้ายกระดับความสัมพันธ์กับอาเซียน

เขาเชื่อมั่นว่า ทั่วโลกต้องการความเป็นผู้นำของสหรัฐอเมริกา

 

ทั้งนี้ นโยบายต่างประเทศของสหรัฐภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นการหวนคืนสู่เวที “พหุภาคี” บนพื้นฐานของ “ความเป็นสายเหยี่ยวอย่างแนบเนียน” โดยมี “จีน” เป็นเป้าหมายหลัก นายบลิงเคนเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายแห่งเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ว่านโยบายต่างประเทศของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้สถานะของสหรัฐในเวทีโลกอ่อนแอลง เปิดโอกาสให้รัฐบาลจีนพลิกมาเป็นฝ่ายได้เปรียบโดยปริยาย ดังนั้น ภายใต้การชูธงของประธานาธิบดีไบเดน สหรัฐจำเป็นจะต้องทวงคืนบทบาทผู้นำกลับมา

 

หยอดคำหวานอาเซียน ดึงร่วมต้านจีน

บลิงเคนเคยกล่าวแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสก่อตั้งอาเซียนครบ 53 ปีเมื่อปีที่ผ่านมา (ซึ่งเขายังไม่ได้เป็นรมว.ต่างประเทศสหรัฐ เนื่องจากยังเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้ง) โดยระบุว่า ประชาคมอาเซียนมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และสาธารณสุขโลก เป็นศูนย์กลางความมั่งคั่งและความมั่นคงในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และเขามั่นใจว่า สหรัฐภายใต้การนำของโจ ไบเดนจะเข้าไปมีส่วนร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ในวิกฤตต่าง ๆ อย่างแน่นอน

 

นักการทูตด้วยกันเคยกล่าวถึงบลิงเคนว่า เขาเป็นนักการทูตของนักการทูต บุคลิกสุขุม พูดเนิบๆ แต่มีความรอบรู้ในนโยบายต่างประเทศ  ในยุคการดำรงตำแหน่งของปธน.โดนัลด์ ทรัมป์  นายบลิงเคนไปดำเนินธุรกิจเอกชนโดยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษา เวสต์เอ็กเซค (WestExec) ให้คำปรึกษาแก่บรรดาบริษัท เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ของเอเซีย-แปซิฟิก

 

สำหรับประวัติส่วนตัว นั้น แอนโทนี บลิงเคน เกิดเมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) ในครอบครัวนักการทูต บิดาเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงปารีส และมีลุงเคยทำหน้าที่เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงบรัสเซลส์

 

ตัวบลิงเคนเองทำงานด้านกิจการต่างประเทศให้กับรัฐบาลสหรัฐอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2537 และมีบทบาทมากขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “ที่ปรึกษา” ด้านนโยบายความมั่นคงให้กับนายโจ ไบเดน ในสมัยที่ไบเดนยังดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ตามด้วยการดำรงตำแหน่งรองที่ปรึกษาด้านนโยบายความมั่นคงประจำทำเนียบขาว และตำแหน่งสุดท้ายของบลิงเคน ก่อนสิ้นสุดยุคของประธานาธิบดีบารัค โอบามา คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

 

เขาสมรสแล้วและมีบุตร 2 คน