"แอนโทนี บลิงเคน" รมว.ต่างประเทศสหรัฐถึงไทยวันนี้ ตอกย้ำมิตรภาพ 2 ศตวรรษ

15 ธ.ค. 2564 | 05:42 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ธ.ค. 2564 | 13:05 น.
626

แอนโทนี บลิงเคน รมว.ต่างประเทศสหรัฐ ปิดท้ายการเดินทางเยือนอาเซียนครั้งแรกในช่วงสัปดาห์นี้ ด้วยการเยือนไทยระหว่างวันที่ 15-16 ธ.ค. เพื่อตอกย้ำความเป็นพันธมิตรยั่งยืนยาวนานกว่า 2 ศตวรรษ ซึ่งเป็นสัมพันธภาพฉันมิตรที่ยาวนานที่สุดระหว่างสหรัฐกับประเทศใด ๆ ในเอเชีย   

การเดินทางในครั้งนี้ ถือเป็น การเดินทางเยือนอาเซียน เป็นครั้งแรกของ นายแอนโทนี บลิงเคน ในฐานะ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อตอกย้ำความเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ระหว่างสหรัฐและอาเซียน ทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณว่าสหรัฐจะยังคงต้องการมีบทบาทในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเพื่อสกัดการแผ่อิทธิพลของจีนในภูมิภาค หลังจากที่ห่างเหินกับชาติสมาชิกอาเซียนไปหลายปีในยุคการบริหารประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เน้นนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” และไม่เคยเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำในเวทีอาเซียนเลย

 

นายบลิงเคนเดินทางเยือนอินโดนีเซียในวันที่ 13-14 ธ.ค. และเยือนมาเลเซียในวันที่ 14-15 ธ.ค. ก่อนที่จะเดินทางมาถึงไทยในวันนี้ (15 ธ.ค.)โดยมีกำหนดเข้าพบนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย และจะเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมทั้งร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับนักธุรกิจไทยในวันที่ 16 ธ.ค.ก่อนเดินทางต่อไปยังฮาวาย 

 

การเยือนไทยในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสในการเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับสหรัฐ และกระชับความร่วมมือในประเด็นที่ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญร่วมกัน

บลิงเคนปิดท้ายการเยือน 3 ประเทศอาเซียนที่ไทย (15-16 ธ.ค.)

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ เปิดเผยวานนี้ (14 ธ.ค.) เกี่ยวกับการเยือนของนายบลิงเคน ว่าจะมีการหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในวันที่16 ธ.ค. ในหลากหลายประเด็น เนื่องจากไทยกับสหรัฐถือเป็นพันธมิตรยาวนานที่สุดในเอเชีย นับเป็นเวลายาวนานกว่า 200 ปี (ไทย-สหรัฐมีการติดต่ออย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ.2361) จึงมีเรื่องที่ต้องพูดคุยกันมาก ซึ่งจะมีความต่อเนื่องจากที่ได้เคยพบกันที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา

 

นายดอนยังระบุด้วยว่า ไม่มีใครอยากมาแวะประเทศไทยเป็นประเทศแรก แต่อยากมาเป็นประเทศสุดท้าย เพราะเหมาะสำหรับบรรยากาศการผ่อนคลาย เนื่องจากบรรยากาศดี การต้อนรับดี ซึ่งถือเป็นปกติของหลายประเทศที่อยากมาเยือนประเทศไทยเป็นประเทศสุดท้าย

 

แม้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดประเด็นหารือมากนัก แต่ก่อนหน้านี้ นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เคยระบุว่า นายบลิงเคนมีกำหนดพบหารือทวิภาคีในประเด็นที่ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญร่วมกัน โดยไทย-สหรัฐนั้น มีประเด็นทวิภาคีสำคัญหลายประเด็นที่จะหารือที่กระทรวงการต่างประเทศ นอกจากนี้ คณะของนายบลิงเคนยังจะได้พบปะกับนักธุรกิจของไทยอีกด้วย

ขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า การเยือนอาเซียนครั้งนี้ ทั้งในการเยือนอินโดนีเซียและมาเลเซีย นายบลิงเคนตอกย้ำประเด็นสำคัญที่เหมือนกันประการหนึ่ง และคาดว่าจะนำมาหารือในไทยด้วยเช่นกัน นั่นคือการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ (ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง) ระหว่างสหรัฐกับประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก อันเป็นแนวคิดที่สหรัฐดำริริเริ่มเพื่อคานอำนาจและอิทธิพลของจีนที่เพิ่มพูนมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

สำหรับประเทศสมาชิกของอาเซียนบางประเทศที่มีปัญหากรณีพิพาทกับจีนในทะเลจีนใต้ (ซึ่งได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และบรูไน) สหรัฐยืนยันว่าจะไม่ยอมให้จีนมาใช้อำนาจข่มขู่แผ่ขยายอิทธิพลในภูมิภาค แต่สำหรับไทยนั้น นอกจากเรื่องอิทธิพลจีนแล้ว เชื่อว่าจะมีประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับเมียนมา ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนร่วมอยู่ด้วย และแน่นอนว่า ไทยจะเชิญชวนผู้นำสหรัฐเข้าร่วมการประชุมเอเปคที่ไทยกำลังจะได้เป็นเจ้าภาพในปี 2565

 

นายเน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐระบุในถ้อยแถลงเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. เกี่ยวกับการเดินทางเยือนประเทศในอาเซียนของนายบลิงเคนว่า ในประเทศไทย รัฐมนตรีบลิงเคนจะยืนยันความมุ่งมั่นของสหรัฐต่อพันธไมตรีในสนธิสัญญาระหว่างสหรัฐกับไทย การทำงานเพื่อฟื้นฟูทางเศรษฐกิจหลังการเกิดโรคระบาด และการรับมือสถานการณ์วิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งขึ้นในเมียนมา

 

ทั้งนี้ เว็บไซต์ของสถานทูตสหรัฐในไทยระบุว่า ไทยและสหรัฐอเมริกาติดต่อกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2361 และลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์เมื่อปี พ.ศ. 2376 สนธิสัญญาฉบับนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพที่พัฒนาแน่นแฟ้นขึ้นตามกาลเวลา ปัจจุบัน ไทยและสหรัฐร่วมมือกันในโครงการต่าง ๆ หลายเรื่อง ทั้งการศึกษา วัฒนธรรม สาธารณสุข ธุรกิจและการค้า ประชาธิปไตย ความมั่นคงและความร่วมมือทางการทหาร