WHO เตือนโอมิครอนสร้างความเสี่ยง “สูงมาก” ระดับโลก ลามแล้วกว่า 60 ประเทศ

14 ธ.ค. 2564 | 07:11 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ธ.ค. 2564 | 19:16 น.

องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยวานนี้ (13 ธ.ค.) ว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งขณะนี้มีการแพร่ระบาดในกว่า 60 ประเทศ กำลังสร้างความเสี่ยงระดับโลก "ในระดับสูงมาก" ขณะที่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีน

รายงานของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ความเสี่ยงโดยรวมของ ไวรัสโอมิครอน อยู่ในระดับ “สูงมาก” เนื่องจากยังคงมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับไวรัสดังกล่าว ทั้งการแพร่ระบาดและความรุนแรงที่เกิดขึ้น

 

นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณบ่งชี้ว่าผู้ที่ผ่านการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 และผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อน อาจจะไม่มีภูมิต้านทานเพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งทำให้อัตราการแพร่ระบาดอยู่ในระดับสูง และทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรง

 

ขณะเดียวกันเมื่อวันจันทร์ (13 ธ.ค.) มีรายงานข่าว นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวยืนยันว่า มีผู้ป่วยโควิด-19 รายหนึ่งในอังกฤษได้เสียชีวิตลง หลังติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ถือเป็นผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกในอังกฤษที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้

 

"เป็นเรื่องน่าเศร้าที่โอมิครอนทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และทำให้มีผู้ป่วยอย่างน้อย 1 รายเสียชีวิต ดังนั้น ผมคิดว่าเราต้องปรับแนวคิดใหม่ จากเดิมที่คิดว่าไวรัสนี้ไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรง และให้ตระหนักถึงความรวดเร็วในการแพร่ระบาดในหมู่ประชาชน ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดที่เราทำได้คือการให้ทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3" นายจอห์นสันกล่าว

ในวันเดียวกัน มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ ออกรายงานระบุว่า การฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ หรือแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 2 เข็ม อาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้ ทั้งนี้ รายงานของออกซ์ฟอร์ดสนับสนุนผลการศึกษาของสำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของอังกฤษ (HSA) ที่พบว่า การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ หรือแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 2 เข็มให้ประสิทธิภาพต่ำในการป้องกันอาการของโรคโควิด-19 จากสายพันธุ์โอมิครอน เมื่อเทียบกับการป้องกันสายพันธุ์เดลตา

 

นอกจากนี้ รายงานของออกซ์ฟอร์ดยังระบุว่า การพัฒนาวัคซีนเพื่อให้ป้องกันสายพันธุ์โอมิครอน อาจทำให้วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันสายพันธุ์เดลตา

 

รายงานเตือนว่า มีแนวโน้มที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสมาแล้ว และผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญในการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน รวมทั้งการฉีดเข็มกระตุ้นสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว

จากข้อมูลล่าสุดของ WHO พบว่า ไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนระบาดแล้วในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก รวมถึงจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีมาตรการคุมเข้มเชิงรุก ตรวจพบผู้ติดเชื้อโอมิครอน “รายแรก” แล้ว  

 

หนังสือพิมพ์เทียนจิน เดลี่ รายงานวานนี้ (13 ธ.ค.) ว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเมืองเทียนจิน ซึ่งเป็นเมืองท่าทางตอนเหนือของจีน ได้ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเป็นรายแรกในประเทศจีน

 

 ผู้ป่วยดังกล่าวเพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศในวันที่ 9 ธ.ค. และขณะนี้อยู่ในระหว่างการกักตัวอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง