อัพเดท “โอไมครอน” สหรัฐเจอเพิ่ม 6 รัฐ WHO ยันยังไร้ผู้เสียชีวิต  

05 ธ.ค. 2564 | 08:44 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ธ.ค. 2564 | 01:09 น.

อัพเดทการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดกลายพันธุ์ “โอไมครอน”  อนามัยโลกยันตรวจพบแล้วอย่างน้อยใน 38 ประเทศทั่วโลก แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ ด้าน CDC สหรัฐเผยพบเพิ่มอีกใน 6 รัฐ แต่ ณ จุดนี้ สายพันธุ์เดลตายังเป็นภัยคุกคามมากกว่า

องค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันยังไม่พบผู้เสียชีวิตจาก ไวรัสโควิด “โอไมครอน แม้จะมีการตรวจพบการแพร่ระบาดแล้วในอย่างน้อย 38 ประเทศทั่วโลก โดยมีสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียเป็นประเทศล่าสุดที่ยืนยันการพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนเพิ่มเติมภายในประเทศ ขณะที่การระบาดของโอไมครอนทำให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิดในแอฟริกาใต้พุ่งทะลุ 3 ล้านรายแล้ว

 

นายไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการด้านสถานการณ์ฉุกเฉินของ WHO เตือนว่า อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์เพื่อบ่งชี้ว่า ไวรัสโอไมครอนแพร่เชื้ออย่างไร และทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงขึ้นหรือไม่ รวมทั้งประสิทธิภาพของการรักษาและวัคซีนในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว "เรากำลังจะได้คำตอบที่ทุก ๆ คนต้องการ"

 

ทั้งนี้ WHO เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (3 ธ.ค.) ว่า ยังไม่มีรายงานการพบผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน แต่การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโอไมครอนทำให้มีการเตือนว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในยุโรปจำนวนมากกว่าครึ่ง อาจติดเชื้อจากโอไมครอนในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า

อัพเดท “โอไมครอน” สหรัฐเจอเพิ่ม 6 รัฐ WHO ยันยังไร้ผู้เสียชีวิต  

พบเพิ่มอีก 6 รัฐในสหรัฐอเมริกา

ในวันเดียวกันนั้น (3 ธ.ค.) สหรัฐยืนยันการตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนเพิ่มในอีก 6 รัฐ ประกอบด้วยรัฐนิวเจอร์ซีย์, แมริแลนด์, มิสซูรี, เนแบรสกา, เพนซิลเวเนีย และยูทาห์

 

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐ เตือนว่า แม้จะมีการตรวจพบโอไมครอนมากขึ้น แต่ไวรัสสายพันธุ์ “เดลตา” จะยังคงเป็นภัยคุกคามมากกว่า ท่ามกลางสภาวะที่ประเทศกำลังเข้าสู่ฤดูหนาว และชาวอเมริกันจะรวมตัวกันพบปะสังสรรค์ในช่วงเทศกาลวันหยุด

 

บรรดานักวิทยาศาสตร์ยังคงตรวจสอบผลกระทบของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่สามารถแพร่เชื้อได้ในระดับสูง หลักฐานเบื้องต้นบ่งชี้ว่า ไวรัสดังกล่าวทำให้เกิด “การเจ็บป่วยที่น้อยกว่า” สายพันธุ์ก่อนหน้านี้ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เดลตา

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก และกระตุ้นให้หลายประเทศกำหนดข้อจำกัดครั้งใหม่เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด แต่ ดร.โรเชล วาเลนสกี ผู้อำนวยการ CDC กล่าวย้ำในการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาวว่า เดลตายังคงเป็นไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในสหรัฐ

กรมอนามัยของรัฐยูทาห์เปิดเผยในทวิตเตอร์ว่า ตรวจพบไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนผ่านการเรียงลำดับยีนของตัวอย่างเชื้อโควิด-19 ที่ห้องปฏิบัติการของรัฐ ขณะที่หน่วยงานสาธารณสุขของเนแบรสกาเปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนที่ยืนยันแล้ว 6 ราย โดยมีเพียง 1 ใน 6 รายที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และไม่มีรายใดจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

 

นายแลร์รี โฮแกน ผู้ว่าการรัฐแมริแลนด์ประกาศการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน 3 รายแรกเมื่อวันศุกร์ (3 ธ.ค.) โดยระบุเสริมว่าไม่มีรายใดในสามรายนี้ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ส่วนในรัฐเพนซิลเวเนียนั้น พบชายชาวฟิลาเดลเฟียรายหนึ่งอายุราว 30 ขึ้นไปติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน

 

ส่วนนายฟิล เมอร์ฟี ผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซีย์เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนรายแรกเป็นสตรีที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วซึ่งเพิ่งเดินทางไปยังรัฐจอร์เจีย

อูกัวร์ ซาฮิน ซีอีโอ บิออนเทค (BioNTech)

"บิออนเทค" กำลังเร่งปรับสูตรวัคซีนเพื่อต้านโอไมครอน

นายอูกัวร์ ซาฮิน ซีอีโอของ บิออนเทค (BioNTech) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพสัญชาติเยอรมันกล่าวเมื่อวันศุกร์ (3 ธ.ค.) ว่า จะต้องมีการปรับสูตรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เนื่องจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน สามารถติดต่อกันได้ง่ายขึ้น แม้กระทั่งในผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว

 

ซีอีโอของบิออนเทคกล่าวในการประชุมรอยเตอร์ เน็กซ์ (Reuters Next) ว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนเป็น "สายพันธุ์หลบหนี" (escape variant) ซึ่งหมายความว่า สายพันธุ์ดังกล่าว "อาจทำให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วติดเชื้อได้" อย่างไรก็ตาม บิออนเทคเชื่อว่า "ผู้ที่ติดเชื้อโอไมครอนหลังฉีดวัคซีน จะยังคงได้รับการป้องกันจากการเกิดอาการป่วยรุนแรงของโรคโควิด-19"

 

การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน 32 ตำแหน่งจากทั้งหมด 50 ตำแหน่งที่พบในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อโปรตีนหนาม ซึ่งเชื้อไวรัสใช้เพื่อเข้าและเพิ่มจำนวนในเซลล์ของมนุษย์ โดยวัคซีนส่วนใหญ่มุ่งเป้าไปที่กลไกนี้และบรรดานักวิจัยเชื่อว่าระบบภูมิคุ้มกันอาจไม่สามารถจำแนกโปรตีนดังกล่าวได้อย่างพอเพียงอีกต่อไป เนื่องด้วยมีจำนวนการกลายพันธุ์สูง

 

นายซาฮินเปิดเผยว่า บิออนเทคน่าจะปรับสูตรวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทได้ค่อนข้างเร็ว บริษัทได้เริ่มพัฒนาวัคซีนตัวใหม่ที่มีการปรับสูตรตามเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนแล้ว แต่วัคซีนตัวใหม่นี้ยังไม่สามารถป้องกันการระบาดระลอกแรกของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้ เนื่องจากขั้นตอนการพัฒนาสู่การฉีดจริงจะใช้เวลาราว 100 วัน

 

ทั้งนี้ เมื่อนับถึงต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา บิออนเทคและไฟเซอร์ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมพัฒนาวัคซีน ได้จัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวนกว่า 2,000 ล้านโดสให้กับประเทศต่าง ๆ มากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก โดยทั้งสองบริษัทคาดการณ์ว่า กำลังการผลิตวัคซีนจะสูงแตะ 4,000 ล้านโดสในปีหน้า (2565)