“ซัคเคอร์เบิร์ก” ป้องภาพลักษณ์ Facebook ยันไม่เคยละเลยผู้ใช้งาน

08 ต.ค. 2564 | 10:18 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ต.ค. 2564 | 15:07 น.

“มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอเฟซบุ๊ก โดดป้องภาพลักษณ์ Facebook ยันให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานเป็นอันดับหนึ่ง หลังสภาจี้ให้ชี้แจงกรณีอดีตลูกจ้างออกมาแฉบริษัทเน้นกำไรก่อนความปลอดภัยผู้ใช้

นายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟซบุ๊ก วัย 37 ปี ออกมาปฏิเสธคำกล่าวหาของอดีตพนักงานที่ระบุว่า เฟซบุ๊กมุ่งแสวงหาแต่กำไรโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้งาน โดยเขายืนยันว่า รายงานดังกล่าวบิดเบือนภารกิจและวัตถุประสงค์ของเฟซบุ๊ก

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟซบุ๊ก    

ความเคลื่อนไหวของซัคเคอร์เบิร์กมีขึ้นหลัง “ฟรานเซส ฮอเก็น” อดีตผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊ก ได้ออกมาเปิดโปงพฤติกรรมของโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่รายนี้ต่อสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ (5 ต.ค.) วานนี้ โดยเธอให้การกับฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐว่า เฟซบุ๊กมุ่งสร้างกำไรมากกว่าที่จะสนใจความปลอดภัยของผู้ใช้งาน เนื่องจากอัลกอริทึมของเฟซบุ๊กมักจะแสดงโพสต์ที่มียอดการกดไลก์กดแชร์สูง ซึ่งในบางกรณีก็เป็นโพสต์ที่อาจเป็นอันตรายกับผู้ใช้งานได้

 

แต่นายซัคเคอร์เบิร์กโต้แย้งประเด็นดังกล่าวว่า "หากเราไม่สนใจที่จะต่อสู้กับเนื้อหาที่เป็นอันตรายจริงดังคำกล่าวอ้าง แล้วเพราะอะไรบริษัทถึงได้จ้างคนจำนวนมากมาดูแลงานในส่วนนี้ ซึ่งมากกว่าบริษัทอื่น ๆ ในแวดวงเทคโนโลยี แม้กระทั่งบริษัทที่ใหญ่กว่าเรา" นอกจากนี้ ซัคเคอร์เบิร์กยังตั้งคำถามว่า ถ้าเฟซบุ๊กต้องการปิดบังผลลัพธ์ เพราะอะไรบริษัทจึงได้กำหนดมาตรฐานในด้านความโปร่งใสเอาไว้สูงมาก และรายงานเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังทำอยู่มาโดยตลอด

ฟรานเซส ฮอเก็น อดีตพนักงานระดับผู้จัดการของเฟซบุ๊ก

ซีอีโอของเฟซบุ๊กยังกล่าวด้วยว่า แพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กไม่ได้มีส่วนทำให้เกิดการแบ่งขั้ว หรือความแตกแยกในประเทศต่าง ๆ นอกสหรัฐ ซึ่งมีผู้ใช้งานเกือบ 3,000 ล้านราย

 

การออกสื่อของนายซัคเคอร์เบิร์กเพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหาด้วยตัวเองครั้งนี้ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่ฮอเก็น อดีตพนักงานของเฟซบุ๊กแอบคัดลอกเอกสารงานวิจัยภายในองค์กรจำนวนหลายหมื่นหน้าเอาไว้ในช่วงก่อนที่เธอจะลาออกจากบริษัทในเดือนพฤษภาคม และนำมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชนจนเป็นข่าวดังในขณะนี้

 

สภาสหรัฐจี้เฟสบุ๊คออกมาชี้แจงเพิ่มเติม

ในส่วนของทางการ วุฒิสภาสหรัฐได้จี้ผู้บริหารเฟสบุ๊ค ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมกรณีที่ฮอเก็นขึ้นให้ข้อมูลต่อวุฒิสภาสหรัฐฯ ในประเด็นดังกล่าวเมื่อวันอังคาร (5 ตุลาคม) ตามรายงานของรอยเตอร์ โดยเธอเปิดโปงข้อมูลกล่าวหาว่าสื่อสังคมออนไลน์รายใหญ่นี้มุ่งเน้นแต่กำไรมากกว่าความปลอดภัยของผู้ใช้

 

ฟรานเชส ฮอเก็น เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูลวัย 37 ปี อดีตลูกจ้างของบริษัทเฟสบุ๊ค (Facebook) เธอขึ้นให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมาธิการด้านพาณิชย์ของวุฒิสภาสหรัฐ กรณีที่เธอเป็นผู้เปิดเผยข้อมูลและกล่าวหาเฟสบุ๊คว่าให้ความสำคัญกับผลกำไรมากกว่าความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ เธอยังกล่าวหาเฟซบุ๊คที่บทบาทในการปลุกระดมความเกลียดชัง-การแบ่งแยก และยังเป็นภัยต่อสุขภาพจิตของเยาวชนด้วย

"เฟซบุ๊กมุ่งสร้างกำไรมากกว่าที่จะสนใจความปลอดภัยของผู้ใช้งาน"

ฮอเก็น อดีตลูกจ้างเฟซบุ๊กระบุว่า เฟซบุ๊กเก็บงำเรื่องระบบอัลกอริทึ่มและการปฏิบัติการขององค์กรไว้เป็นความลับ และว่าจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยตัวบทกฎหมาย คือการสร้างความโปร่งใส ซึ่งจะเป็นรากฐานในการวางกฎระเบียบและมาตรฐานที่ให้น้ำหนักกับสิ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้บริการ การควบคุมเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย การป้องกันความปลอดภัยของข้อมูล การต่อต้านการผูกขาด การจัดการระบบอัลกอริทึ่ม และประเด็นอื่น ๆ อีกมากมาย

 

ด้านวุฒิสมาชิกริชาร์ด บลูเมนธาล จากพรรคเดโมแครต ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านพาณิชย์ของวุฒิสภาสหรัฐ กล่าวในโอกาสเดียวกันนี้ด้วยว่า เฟซบุ๊กทราบดีกว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นสิ่งเสพติดคล้ายกับบุหรี่ แต่กลับเพิกเฉย เขาจึงเรียกร้องให้นายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอและผู้ก่อตั้งเฟสบุ๊ค ขึ้นให้ข้อมูลต่อคณะอนุกรรมาธิการด้านพาณิชย์ของวุฒิสภาสหรัฐ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ และคณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลสหรัฐ เพื่อเดินหน้าสอบสวนบริษัทสื่อสังคมออนไลน์รายนี้ต่อไป

 

สื่อท้องถิ่นของสหรัฐรายงานว่า ในช่วงเวลาแห่งความไม่ลงรอยกันในรัฐสภาสหรัฐเช่นในขณะนี้ บรรดานักการเมืองทั้งสองฝ่ายกลับเห็นตรงกันว่า ควรมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับเฟซบุ๊ก โดยวุฒิสมาชิกมาร์ชา แบล็คเบิร์น หนึ่งในคณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า เฟซบุ๊กไม่ใส่ใจดูแลผู้ใช้งานที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี และเห็นได้ชัดว่าสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กให้ความสำคัญกับผลกำไรเหนือความเป็นอยู่ของเด็กและผู้ใช้แพลตฟอร์ม