“คิม จอง อึน” คืนสู่สปอตไลท์ รูปลักษณ์ใหม่และกองร้อยมิสไซล์รถไฟ

17 ก.ย. 2564 | 01:14 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ย. 2564 | 08:33 น.
811

“คิม จอง อึน” ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ ปรากฏตัวออกสื่ออีกครั้งพร้อมรูปลักษณ์ใหม่ที่ผอมเพรียวขึ้น ผิวแทนบ่มแดด และดูสดใสแข็งแรงกว่าคิมคนเก่า เขามาพร้อมการประกาศแสนยานุภาพทางการทหาร และการทดสอบยิงขีปนาวุธจากรถไฟ วิถีโจมตีไกลถึง 800 กม.

นายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ กลับคืนสู่สายตาสาธารณชนอีกครั้งหลังจากที่เคยห่างหายจากสื่อนานนับเดือนกระทั่งเกิดข่าวลือสะพัดว่าเขาเสียชีวิตไปแล้วในปีที่ผ่านมา

 

การกลับมาครั้งนี้ซึ่งเป็นการปรากฏตัวในงานพิธีสวนสนามเนื่องในโอกาส ครบรอบ 73 ปีวันก่อตั้งเกาหลีเหนือ (9 กันยายน) คิม จอง อึน ไม่เพียงมาพร้อมกับรูปลักษณ์ใหม่ที่ผอมเพรียว และดูแข็งแรงขึ้น แต่ในเวลาไล่เลี่ยกัน 1 สัปดาห์ให้หลัง เขายังมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ และ การทดสอบขีปนาวุธครั้งใหม่ เหมือนเป็นการประกาศว่า เกาหลีเหนือพร้อมกลับคืนสู่ความสนใจของประชาคมโลกอีกครั้ง เป็นความสดใหม่ที่ทุกคนต้องตื่นตะลึง

โฉมใหม่ล่าสุดที่ไฉไลกว่าเดิมของคิม จอง อึน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า รูปลักษณ์ใหม่ของคิม จอง อึน ในพิธีสวนสนามเมื่อวันที่ 9 ก.ย. ได้รับความสนใจอย่างมาก นี่คือการปรากฏตัวในลุคใหม่ รูปร่างผอมเพรียว ผิวแทน และทรงผมที่คล้ายกับ คิม อิล ซุง ผู้ก่อตั้งประเทศซึ่งเป็นปู่ของเขา

 

รายงานจากหน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้ ระบุว่า “ผู้นำคิม” ในวัย 37 ปี น้ำหนักลดลงไปอย่างน้อย 20 กิโลกรัมในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นอกจากรูปร่างที่ดูผิดหูผิดตาไปแล้ว การแต่งกายของเขาก็ยังดูแปลกตา  จากเดิมที่มักปรากฏตัวในชุดสูทดำ แต่ในวันที่มาร่วมพิธีสวนสนามเมื่อวันที่ 9 ก.ย. เขาปรากฏตัวในชุดสูทสีอ่อนดีไซน์ตะวันตกที่ทำให้ดูหนุ่มขึ้นกว่าเดิม  

คิมคนเก่าในอดีต วันที่น้ำหนักยังเกินมาตรฐาน

คิมไม่ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีสำคัญนี้ แต่เขาโบกมือ แจกรอยยิ้ม และยกนิ้วโป้งให้กับเหล่าทหารและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของเกาหลีเหนือที่เดินสวนสนามกันร่วมชั่วโมง ณ จัตุรัสคิม อิล ซุง ในกรุงเปียงยาง

 

ก่อนหน้านี้ มีข่าวลือมากมายเกี่ยวกับสุขภาพของเขา และการออกสื่อพร้อมกับรูปร่างที่ผ่ายผอมลงก็เคยสร้างความวิตกกังวลมาแล้ว เพราะตัวคิม จอง อึนนั้น เกิดมาในครอบครัวที่มีประวัติการเสียชีวิตเพราะโรคหัวใจมาตั้งแต่รุ่นปู่ถึงรุ่นพ่อ ตัวเขาเองก็สูบบุหรี่จัดและมีปัญหากับภาวะน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน

 

การกลับมาออกสื่ออีกครั้งพร้อมด้วยรูปลักษณ์ใหม่หมดจดสดใสครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายปี และการฟื้นฟูเศรษฐกิจเกาหลีเหนือจากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากนานาชาติ ทำให้ "ผู้นำคิม" ต้องการแรงสนับสนุนจากชาวเกาหลีเหนือมากกว่าที่เคยเป็นมา

  

ยุทโธปกรณ์ที่สามารถรับมือกับภัยคุกคามหลากรูปแบบ

สำนักข่าวกลางเกาหลี หรือ เคซีเอ็นเอ ของทางการเปียงยางระบุว่า จรวดมิสไซล์ที่เกาหลีเหนือยิงทดสอบเมื่อวันพุธ (15 ก.ย.) เป็นการทดสอบระบบยิงขีปนาวุธจากรถไฟ “แบบใหม่” ที่ออกแบบมาให้สามารถตอบโต้กองกำลังที่คุกคามประเทศ เคซีเอ็นเอยังได้เผยแพร่ภาพของมิสไซล์สีเขียวมะกอกพุ่งขึ้นจากหลังคาของรถไฟที่จอดบนรางรถไฟในพื้นที่ที่เป็นภูเขา

 

ขีปนาวุธที่เกาหลีเหนือทดสอบยิงล่าสุดนี้ เป็นระบบขีปนาวุธทิ้งตัวที่ปล่อยจากรถไฟแบบใหม่ (Railway-Borne Missile System) ออกแบบมาเพื่อโจมตีกองกำลังฝ่ายตรงข้าม ขีปนาวุธดังกล่าวสามารถเดินทางไปได้ไกลถึง 800 กิโลเมตรก่อนที่จะไปโดนเป้าหมายที่อยู่ในน่านน้ำนอกชายฝั่งตะวันออกของเกาหลีเหนืออย่างแม่นยำ

ระบบยิงขีปนาวุธจากรถไฟ (เครดิตภาพ : สำนักข่าวกลางเกาหลี)

ระบบยิงขีปนาวุธจากรถไฟ (เครดิตภาพ : สำนักข่าวกลางเกาหลี)

การทดสอบในครั้งนี้ดำเนินการโดยกองทหารขีปนาวุธติดตั้งบนรถไฟที่เตรียมความพร้อมมาตั้งแต่ช่วงต้นปี การยิงขีปนาวุธจากรถไฟจะช่วยยกระดับศักยภาพทางการทหารของเกาหลีเหนือได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีระบบรางกระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ในขณะเดียวกันระบบรางก็อาจตกเป็นเป้าการโจมตีและถูกทำลายได้ง่ายเช่นกัน

 

เกาหลีเหนือมีแผนจะขยายขนาดกองร้อยมิสไซล์รถไฟเป็นกองพลน้อยในอนาคตอันใกล้ และทำการฝึกเพื่อสร้างประสบการณ์เชิงยุทธการสำหรับสงครามจริง” นายพลพัก จองชอน สมาชิกสภาเปรซิเดียมของกรมการเมืองแห่งพรรคแรงงานเกาหลีที่มากำกับดูแลการทดสอบครั้งนี้ กล่าวกับเคซีเอ็นเอ พร้อมระบุว่า ระบบขีปนาวุธติดตั้งบนรถไฟเป็นการโจมตีแบบตอบโต้ที่มีประสิทธิภาพ และช่วยให้เกาหลีเหนือสามารถรับมือกับกองกำลังที่เป็นภัยคุกคามได้หลายรูปแบบ

 

การประชันแสนยานุภาพที่ทำให้คาบสมุทรเกาหลีระอุ

เจ้าหน้าที่ของเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเคยออกมาให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันพุธ (15 ก.ย.) ว่า ทั้งสองประเทศตรวจจับการยิงขีปนาวุธทิ้งตัว 2 ลูกจากเกาหลีเหนือ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากเกาหลีเหนือได้ทดสอบการยิงขีปนาวุธแบบร่อนที่นักวิเคราะห์หลายรายให้ความเห็นว่าอาจมีขีดความสามารถในการติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้

 

อย่างไรก็ตาม การยิงขีปนาวุธทิ้งตัวของเกาหลีเหนือนั้น เกิดขึ้นในวันเดียวกันกับที่เกาหลีใต้ทดสอบยิงขีปนาวุธทิ้งตัวที่ปล่อยจากเรือดำน้ำ (Submarine-Launched Ballistic Missile : SLBM) สำเร็จเป็นครั้งแรก ทำให้เกาหลีใต้เป็นประเทศแรกที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ที่สามารถพัฒนาระบบดังกล่าวได้  สำหรับเกาหลีใต้นั้น เป้าหมายชัดเจนคือการเพิ่มความสามารถในการรับมือกับเกาหลีเหนือที่พัฒนาแสนยานุภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

การแสดงแสนยานุภาพทางการทหารของทั้งสองเกาหลีในเวลาไล่เลี่ยกันก่อให้เกิดความตึงเครียดขึ้นมาอีกครั้งในคาบสมุทรเกาหลี นักวิเคราะห์การเมืองระบุว่า การทดสอบยิงขีปนาวุธทิ้งตัว 2 ลูกนอกชายฝั่งตะวันออกของเกาหลีเหนือนั้น ถือเป็นการละเมิดมาตรการลงโทษของสหประชาชาติ และเป็นการเพิ่มความตึงเครียดหลังจากที่เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้า เกาหลีเหนือก็เพิ่งทดสอบขีปนาวุธแบบร่อน 1 ลูกที่มีความเป็นไปได้ว่าจะสามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้

 

ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้แถลงว่า การมีระบบเอสบีเอ็มแอลไว้ในครอบครองมีความหมายที่เป็นนัยสำคัญในการรับรองความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ และมีบทบาทสำคัญในการสร้างความสามารถในการป้องกันตนเองและสร้างสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี แม้ว่ายังไม่มีรายละเอียดมากนักเกี่ยวกับขีปนาวุธที่ยิงจากเรือดำน้ำของเกาหลีใต้  แต่สำนักข่าวยอนฮัพ ซึ่งเป็นสื่อของทางการระบุว่า  ขีปนาวุธดังกล่าว มีชื่อรหัสว่า “ฮยอนมู4-4” พัฒนาต่อยอดมาจากขีปนาวุธทิ้งตัว “ฮยอนมู-2บี” ซึ่งมีพิสัยการยิงไกลราว 500 กิโลเมตร

 

เหมือนจะรู้ดีว่า การแสดงแสนยานุภาพทางการทหารในครั้งนี้ทำให้เกิดบรรยากาศที่ตึงเครียดขึ้นมาอีกครั้ง นายมูน แจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่ได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการทดสอบการยิงขีปนาวุธจากเรือดำน้ำครั้งนี้ เปิดเผยว่า การทดสอบดังกล่าวเป็นไปตามกำหนดการที่วางไว้เดิม ไม่ได้เป็นการตอบโต้การยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือแต่อย่างใด

 

ขณะที่ฝ่ายเกาหลีเหนือ นางคิม โย-จอง น้องสาวของผู้นำสูงสุด คิม จอง อึน ออกมาพ่นไฟใส่เกาหลีใต้แบบจัดหนัก โดยเธอระบุว่า หากผู้นำเกาหลีใต้สนับสนุนการให้ร้ายและสร้างความเสื่อมเสียต่อเกาหลีเหนือ ก็ต้องเผชิญกับการตอบโต้ และในที่สุดความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลีก็จะพบกับทางตันอย่างสิ้นเชิง

 

เครดิตภาพ : เคซีเอ็นเอ สำนักข่าวกลางเกาหลี