เเรงกระเพื่อมจากอัฟกานิสถานสู่มุสลิมหัวรุนเเรงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

13 ก.ย. 2564 | 09:54 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2564 | 17:13 น.

เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของหลายประเทศกำลังจับตาการเคลื่อนไหวของมุสลิมหัวรุนเเรงกลุ่มต่างๆ หลังจากที่กลุ่มตาลิบันสามารถยึดครองอัฟกานิสถานได้เมื่อกลางเดือนส.ค.ที่ผ่านมา

สำนักข่าววอยซ์ ออฟ อเมริกา (วีโอเอ) รายงานว่า สำหรับ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แรงกระเพื่อมอาจเกิดขึ้นในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เนื่องจาก ชัยชนะของตาลิบัน ถูกมองว่าเป็นปัจจัยด้านขวัญกำลังใจของ มุสลิมความคิดสุดโต่ง ในประเทศเหล่านั้น ตามการวิเคราะห์ของผู้สัดทัดกรณี

 

ในฟิลิปปินส์ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ไปถึง กลุ่มอาบู เซย์ยาฟ ที่เป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและเคยลักพาตัวนักท่องเที่ยวหลายครั้ง ส่วนอินโดนีเซีย มีกลุ่ม เจมาห์ อิสลามิยาห์ ที่ต้องสงสัยว่าโยงใยกับการวางระเบิดที่เกาะบาหลีในปี 2545 เจ้าหน้าที่ของประเทศเหล่านี้ ต่างเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวของกลุ่มหัวรุนเเรงต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด

 

นายเดลฟิน โลเรนซานา รัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ กล่าวกับสำนักข่าว ฟิลิปปินส์ นิวส์ เอเจนซี (Philippine News Agency) เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ฟิลิปปินส์มองกลุ่มความคิดสุดโต่งในประเทศเป็นเรื่องใหญ่ที่สร้างความกังวลมาโดยตลอด ไม่ว่าจะพิจารณาถึงตาลิบันด้วยหรือไม่ก็ตาม  

 

ที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ ร่วมกับอินโดนีเซีย เเละมาเลเซีย ดำเนินการเเบ่งปันข่าวสารและร่วมมือประสานงานในการปกป้องเขตเเดนทางทะเลให้ปลอดภัยจากกลุ่มก่อการร้าย

 

สำหรับอินโดนีเซียมีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่สอดส่องโซเชียลมีเดียเพื่อดูว่ามีความพยายามเคลื่อนไหวของกลุ่มหัวรุนเเรงด้วยหรือไม่

 

กลุ่มมุสลิมความคิดสุดโต่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องการสร้างรัฐอิสระแยกจากดินเเดนในประเทศ และในอดีตขบวนการเหล่านี้ก็ได้รับการหนุนหลังจากกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์ (อัลเคดา) ซึ่งครั้งหนึ่งใช้อัฟกานิสถานเป็นที่มั่นภายใต้อำนาจของตาลิบัน

เเรงกระเพื่อมจากอัฟกานิสถานสู่มุสลิมหัวรุนเเรงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เอ็นริโก เคา ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียอาคเนย์แห่งองค์กร Taiwan Strategy Research Association กล่าวว่า อัลกออิดะฮ์ และมุสลิมความคิดสุดโต่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความพี่เป็นน้องกัน และได้รับการสนับสนุนด้านขวัญกำลังใจเพื่อความเป็นปึกแผ่น แม้ตาลิบันไม่มีอิทธิพลโดยตรงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในทางอ้อมตาลิบันสามารถเเสดงอิทธิพลได้บ้าง ซึ่งอิทธิพลทางอ้อมดังกล่าวสามารถถูกใช้ประโยชน์โดยผู้ที่เป็นตัวเเทนของอัลกออิดะฮ์ หรืออาบูเซย์ยาฟ ซึ่งในอดีตอัลกออิดะฮ์ เคยช่วยเหลือขบวนการกบฏในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

 

ด้าน เเซคารี อาบูซา อาจารย์ที่วิทยาลัย National War College ที่กรุงวอชิงตันของสหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นว่า ขบวนการมุสลิมความคิดสุดโต่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยเห็นตาลิบันถูกโจมตีโดยอเมริกาจนต้องไปตั้งหลักในปากีสถาน แต่ก็กลับมาคุมอำนาจในอัฟกานิสถานได้อีกครั้งจากการสู้กับมหาอำนาจอย่างไม่ลดละ นักวิชาการผู้นี้จึงมองว่า ชัยชนะของตาลิบันล่าสุดอาจเป็นเเรงกระตุ้นทางจิตใจต่อกลุ่มต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อครั้งที่สหรัฐสร้างความปั่นป่วนให้กับตาลิบันในอัฟกานิถาน กองกำลังติดอาวุธในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปลี่ยนสถานที่ฝึกฝนทางยุทธวิธีจากอัฟกานิสถาน ไปยังอิรักและซีเรีย ด้วยเหตุนี้ เมื่อการคุมอำนาจในอัฟกานิสถานเปลี่ยนไป โดยที่ตาลิบันกลับมาเรืองอำนาจอีกครั้ง อาจารย์เเซคารี อาบูซา จึงเห็นว่าชัยชนะของตาลิบันอาจมีผลเชิงรูปธรรมได้

สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปคือ การสนับสนุนที่จับต้องได้นั้นจะรอดพ้นการสกัดกั้นของรัฐบาลประเทศต่าง ๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มากน้อยเเค่ไหน เนื่องจากฝ่ายรัฐได้มีการเตรียมตัวดีกว่าเมื่อครั้งอดีต

 

นอกจากนี้ ประชากรมุสลิมจำนวนมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้ชีวิตตามเเนวทางสายกลาง และไม่นิยมการเคลื่อนไหวของขบวนการติดอาวุธ ขณะที่สตรีชาวมุสลิม เช่น ในมาเลเซียก็ไม่สบายใจที่เคยเห็นความรุนเเรงของตาลิบันต่อผู้หญิงในอัฟกานิสถานก่อนหน้านี้

เเรงกระเพื่อมจากอัฟกานิสถานสู่มุสลิมหัวรุนเเรงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : วอยซ์ ออฟ อเมริกา (วีโอเอ)