จีนจะได้ประโยชน์อะไร จากการจับมือกับตาลีบัน (1)

02 ก.ย. 2564 | 11:37 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ย. 2564 | 21:19 น.
2.0 k

จีนจะได้ประโยชน์อะไร จากการจับมือกับตาลีบัน (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย... ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ข่าวการยึดอำนาจอัฟกานิสถาน (Afghanistan) ของกลุ่มตาลีบัน (Taliban) เมื่อกลางเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา จนนำไปสู่การเปลี่ยนถ่ายอำนาจการปกครองประเทศครั้งใหญ่อีกรอบ ได้สร้างเฮดไลน์ในสื่อหลักและสื่อสังคมออนไลน์ทั้งในไทยและเทศ และตามมาด้วยคำถามสงสัยมากมาย ...

 

 หากมองย้อนกลับไป อัฟกานิสถานเป็นที่รู้จักของชาวโลกเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ 11 กันยาเมื่อราว 20 ปีก่อน และตามมาด้วยการยกระดับปฏิบัติการลับของกองทัพสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร และยกกองทัพเข้ายึดอัฟกานิสถานพร้อมกับการประกาศชัยชนะว่าได้เข้าถึง “กล่องดวงใจของเอเซีย” ในที่สุด

 

ในตอนนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ให้เหตุผลปฏิบัติการดังกล่าวมากมายหลายข้อ อาทิ การปกป้องอิสราเอลจากการรุกรานในภูมิภาค การจับตามองอิหร่านอย่างใกล้ชิด การควบคุมทรัพยากรธรรมชาติในเชิงยุทธศาสตร์โดยตรง การทำลายกลุ่มการเมืองอิสลามหัวรุนแรง และการลดแรงกดดันจากการพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์ของปากีสถาน รวมทั้งการปิดล้อมจีน และการควบคุมเส้นทางการค้าและการขนส่งหลักในภูมิภาค

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายปีต่อมา เรากลับไม่สามารถพบเห็นสถานการณ์ความสงบเกิดขึ้นในอัฟกานิสถานได้อย่างแท้จริง กลุ่มตาลีบันใช้ความชำนาญในเชิงยุทธวิธี หลอกล่อและซุ่มโจมตีกองกำลังทหารสนับสนุนของสหรัฐฯ และพันธมิตรรวม 46 ประเทศ จนไม่อาจควบคุมสถานการณ์ความสงบได้อย่างแท้จริง

 

 อัฟกานิสถานกลายเป็น “พื้นที่อันตราย” อย่างปฏิเสธไม่ได้ กองทัพสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรต้องใช้เวลาและทรัพยากรส่วนใหญ่ในการักษาฐานที่มั่น ทำให้ไม่สามารถออกไปเอาประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากอัฟกานิสถานได้อย่างที่คาดหวังไว้ แม้กระทั่งชาวต่างชาติก็มักได้รับคำแนะนำอยู่เนืองๆ ว่าไม่ควรเดินทางไปเยือนอัฟกานิสถาน

 

รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้พยายามปรับนโยบายเกี่ยวกับอัฟกานิสถานในช่วง 5 ประธานาธิบดีที่ผ่านมาเสียใหม่ โดยเมื่อราวเดือนเมษายน ที่ผ่านมา โจ ไบเดน ได้ตัดสินใจสั่งการให้เพนตากอนถอนกำลังทหารจากอัฟกานิสถาน โดยกำหนดเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 11 กันยายน 2021 ซึ่งกองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตรก็ทยอยถอนกองกำลังสนับสนุนมาโดยลำดับ

 

การถอนกำลังสนับสนุนดังกล่าว สร้างความตื่นตระหนกและขวัญหนีดีฝ่อแก่กองทัพแห่งชาติของรัฐบาลอัฟกานิสถาน (Afghan National Army) จนมีกระแสข่าวความไม่พอใจ และเปิดไฟเขียวให้กองกำลังกลุ่มตาลีบันเข้ายึดเมืองหน้าด่านและเข้าถึงกรุงคาบูล (Kabul) ได้เร็วกว่าที่กำหนดไว้นานนับเดือน

 

ประการสำคัญ การประเมินสถานการณ์การรุกคืบของกองกำลังของกลุ่มตาลีบันอย่างผิดพลาดดังกล่าว ได้นำไปสู่ความวุ่นวายและความเสียหายในระหว่างการถอนตัวจากพื้นที่ อดีตประธานาธิบดีของอัฟกานิสถานต้องทิ้งทำเนียบบินหนีออกนอกประเทศ จนมีควันหลงว่า ผู้นำหุ่นเชิดของสหรัฐฯ หอบหิ้วเงินและของมีค่าปริมาณถึงครึ่งลำเครื่องบินติดไปด้วย

 

กำลังทหารของรัฐบาลท้องถิ่น กองกำลังสนับสนุน และประชาชนชาวอัฟกันและชาวต่างชาติจำนวนมากต้องเสียชีวิต แม้กระทั่งฐานทัพ 11 แห่ง และอาวุธยุทโธปกรณ์ในสภาพที่ดีจำนวนมากก็ถูกยึดเอาไว้ ทำเอาหลายคนอดนึกถึงเหตุการณ์ความล้มเหลวของสหรัฐฯ ในเวียตนาม อิรัก ซีเรีย และอื่นๆ ก่อนหน้านี้ไม่ได้

เมื่อโปรแกรมการถอนตัวเต็มไปด้วยความผิดพลาด องค์การระหว่างประเทศหลายแห่ง อาทิ United Nations Development Programme (UNDP) และ นาโต้ (NATO) ก็พยายามเข้ามามีแทรกแซงเพื่อหวังให้การเปลี่ยนถ่ายอำนาจในครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น สงบสุข ปลอดภัย โดยปรับสู่โหมดของการพัฒนา และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของคนท้องถิ่นทุกเพศ วัย ศาสนา เชื้อชาติ อาชีพ และความเชื่อทางการเมือง

 

นักวิเคราะห์ต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่า สหรัฐฯ ไม่ยึดมั่นในหลักการ ยอมทิ้งเวลาเกือบสองทศวรรษอย่างสูญเปล่า ทำความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และจิตใจของทหารอเมริกันและชาติพันธมิตร และคนท้องถิ่นจำนวนหลายแสนคน และสูญเสียเงินงบประมาณจำนวนนับล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ใช้ในการสนับสนุนการปฏิบัติการนี้ ลงโถส้วมโดยไม่ยี่หระกับยุทธศาสตร์และวัตถุประสงค์หลักที่เคยตั้งไว้

 

นี่ไม่นับรวมถึงการพังทลายอาคารบ้านเรือน โครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก ระบบธุรกิจ การศึกษา และการสาธารณสุขที่มีอยู่เดิมของอัฟกานิสถานลงเกือบหมดสิ้น คนท้องถิ่นนับล้านต้องละทิ้งถิ่นฐานกลายเป็นคนไร้บ้าน และผู้อพยพไปอาศัยอยู่ในประเทศอื่น ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะตามมาด้วยการเรียกร้องเงินชดเชยจากการรุกรานประเทศหรือไม่ในอนาคต

 

หลายฝ่ายยังมองต่ออีกว่า ความผิดพลาดทั้งในด้านยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในครั้งนี้ นอกจากจะกระทบชิ่งต่อไปถึงความเชื่อมั่นของหลายประเทศและภูมิภาคที่มีต่อสหรัฐฯ ในอนาคตแล้ว ยังอาจกลายเป็นบาดแผลใหญ่ของพรรคเดโมแครต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ โจ ไบเดน ในการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในครั้งหน้า

 

อย่างไรก็ดี ขณะที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรถอยฉากออกจากอัฟกานิสถาน แต่โลกกลับเห็นท่าทีเชิงบวกของ จีน รัสเซีย และพันธมิตรอีกขั้วหนึ่งต่อกลุ่มตาลีบัน และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของอัฟกานิสถาน จนเกิดคำถามว่าจีนคาดหวังจะได้รับประโยชน์อะไร จากการจับมือกับกลุ่มตาลีบันในครั้งนี้

 

ประการแรก ความมั่นคงภายในประเทศ ในเชิงระบบ จีนให้ความสำคัญกับเรื่องการเมืองก่อนเศรษฐกิจเสมอ ปัญหาการแบ่งแย่งดินแดนเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนหยิบใส่ไว้ในลำดับต้นๆ จีนไม่อยากเห็นแผนที่ “รูปไก่” ของจีนเปลี่ยนรูปไป เหมือนที่ไทยไม่อยากเห็นส่วนไหนของ “ขวาน” ขาดหายไป

 

ตลอดเวลาหลายสิบปี ซินเจียงนับเป็นพื้นที่ที่อ่อนไหวและเปราะบางเป็นอย่างมาก เราเห็นข่าวมุสลิมอุยกูร์ (Uyghur) ที่เป็นชนกลุ่มน้อย พยายามก่อเหตุเพื่อแบ่งแยกตัวเองจากจีนแผ่นดินใหญ่ และเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ซินเจียงก็เป็นจุดที่ชาติตะวันตกรุมโจมตีเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชน หลายแบรนด์ตะวันตกพร้อมใจกันเข้าร่วมแคมเปญบอยคอตการจัดซื้อเส้นใยฝ้ายของซินเจียง (อ่านต่อฉบับหน้า)

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,710 วันที่ 2 - 4 กันยายน พ.ศ. 2564

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน