อัฟกานิสถานหลังไร้เงาทหารสหรัฐ ส่องชีวิตผู้ถูกทิ้งในเงื้อมมือตาลีบัน

01 ก.ย. 2564 | 15:18 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.ย. 2564 | 22:36 น.
1.6 k

ฝูงบินสุดท้ายของกองทัพสหรัฐเหินขึ้นฟ้าบอกลาประเทศอัฟกานิสถานไปแล้วเมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ปฏิบัติการถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถานจบสิ้น และเป็นการยุติการทำสงครามนานนับ 20 ปีกับผู้ก่อการร้ายในอัฟกานิสถานหลังจากสหรัฐถูกโจมตีในเหตุการณ์ 9/11 เมื่อปี 2544

"ผมขอประกาศ ณ ที่นี้ว่า การถอนทหารสหรัฐ ออกจาก อัฟกานิสถาน ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว และ ภารกิจการอพยพพลเมือง ชาวอเมริกัน พลเมืองของประเทศที่สาม และชาวอัฟกานิสถานได้สิ้นสุดลงแล้วเช่นกัน" พลเอกเคนเนธ แมคเคนซี ผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐ แถลงต่อสื่อมวลชน

 

สถานการณ์ในอัฟกานิสถาน หลังการถอนทหารของสหรัฐ และชีวิตของชาวอัฟกันต้องเผชิญกับชะตากรรมภายใต้ การปกครองของกลุ่มตาลีบัน อย่างไรบ้าง เนื้อหาของบทความเจาะลึกโดยสำนักข่าว อินโฟเควสท์ ชิ้นนี้เป็นปฐมบทหน้าแรก  

 

ตื่นเช้ารับวันใหม่ ไร้เงาทหารสหรัฐ

กลุ่มตาลีบัน เริ่ม "ฉลอง" ด้วยการยิงปืนในกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถานนานประมาณ 1 ชั่วโมง สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนในกรุงคาบูล หลังเสียงยิงปืนจบลง โฆษกกลุ่มตาลีบันทวีตข้อความว่า "เสียงปืนที่ได้ยินในกรุงคาบูลคือการยิงฉลอง ประชาชนในกรุงคาบูลไม่ต้องกังวลอะไร เรากำลังพยายามควบคุมสถานการณ์อยู่"

สำหรับอัฟกานิสถานแล้ว วันที่ 31 ส.ค.นับเป็นวันแรกในรอบเกือบ 20 ปีที่ชาวอัฟกันราว 38 ล้านคนตื่นเช้าขึ้นมาโดยไร้เงาทหารสหรัฐ หลังสงครามที่ยาวนานที่สุดของสหรัฐได้ปิดฉากลง ไม่เหลือทหารอเมริกันแม้แต่นายเดียว เพื่อเผชิญหน้ากับอัฟกานิสถานในเงื้อมมือของกลุ่มตาลีบัน ซึ่งเมื่อครั้งที่ตาลีบันครองอำนาจในช่วงปีพ.ศ. 2539-2544 กลุ่มตาลีบันได้ปกครองประเทศอย่างเข้มงวด มีการประหารผู้คนต่อหน้าสาธารณะ การประหารด้วยการขว้างหินใส่จนตาย การใช้กฎหมายชารีอะห์ที่เข้มงวด ห้ามผู้หญิงทำงาน ห้ามเด็กหญิงเข้าเรียน ผู้หญิงต้องปิดบังใบหน้าและต้องมีญาติฝ่ายชายไปด้วยหากต้องการออกนอกบ้าน ขณะที่ผู้ชายถูกห้ามเล็มหนวดเครา จนท้ายที่สุดทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ

เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีที่ชาวอัฟกันตื่นขึ้นมาโดยไร้เงาทหารสหรัฐ

อย่างไรก็ดี ในครั้งนี้กลุ่มตาลีบันได้ให้ “คำมั่น” ว่าจะปกครองประเทศโดยลดความเข้มงวดลง และจะเปิดโอกาสให้พลเมืองต่างชาติและชาวอัฟกันที่มีเอกสารเดินทางออกนอกประเทศได้ด้วย

 

ทว่าชาวอัฟกันหลายคนยังคงไม่ไว้วางใจในท่าทีดังกล่าว และยังไม่มั่นใจว่ากลุ่มตาลีบันจะบริหารประเทศให้เจริญรุ่งเรืองได้

 

ประชาชนขาดความเชื่อมั่น ไม่เชื่อกลุ่มตาลีบันจะทำตามสัญญา

สหรัฐและชาติพันธมิตรอพยพผู้คนจากกรุงคาบูลไปได้กว่า 123,000 คน แต่ยังมีชาวอัฟกันอีกหลายหมื่นคนที่เคยช่วยเหลือชาติตะวันตกระหว่างสงคราม ไม่ได้ถูกอพยพไปด้วย

 

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ชาวอัฟกันที่มีเอกสารถูกต้องตามกฎหมายนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสนามบินเมื่อก่อนสิ้นเดือนส.ค. ส่งผลให้ชาวอัฟกันที่ต้องการออกนอกประเทศรู้สึกหมดหนทาง

 

ขณะนี้ชาวอัฟกันมีปัญหาอย่างอื่นที่ต้องกังวลแทน นั่นคือการขาดแคลนเงินสด ซึ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน โดยมีชาวอัฟกันหลายรายต่อแถวหน้าธนาคารตั้งแต่ 6 โมงเช้าซึ่งยังไม่ใช่เวลาเปิดทำการ แต่ก็ต้องกลับบ้านมือเปล่าเพราะตู้กดเงินไม่มีเงินสดเหลือแล้ว นอกจากนี้ ประชาชนบางส่วนยังเรียกร้องให้กลุ่มตาลีบันรีบเปิดทางให้ชาวอัฟกันออกไปทำงานเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัวด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงซึ่งถูกกลุ่มตาลีบันไล่ออกจากออฟฟิศเพื่อให้พวกพ้องของตัวเองเข้าไปทำงานแทน

 

อดีตข้าราชการรายหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อได้แสดงความกังวลกับสื่อต่างประเทศเกี่ยวกับลัทธิรากฐานนิยมที่ยึดมั่นในหลักการอิสลาม โดยชาวอัฟกันหลายรายไม่รู้สึกว่าจะได้รับอิสรภาพและเสียเวลาตลอด 20 ปีที่ผ่านมาไปโดยเปล่าประโยชน์ นอกจากนี้ ชาวอัฟกันบางส่วนยังไม่เชื่อว่ากลุ่มตาลีบันจะเคารพสิทธิพื้นฐานของประชาชน ซึ่งรวมถึงสิทธิของสตรีและชนกลุ่มน้อย เนื่องจากกลุ่มตาลีบันไม่เชื่อในหลักการเหล่านี้

 

ด้านนักศึกษาแพทย์รายหนึ่งซึ่งเป็นหญิงจากชนกลุ่มน้อยได้แสดงความสิ้นหวังหลังสหรัฐถอนกำลังทหารออกไปแล้ว โดยเธอรู้สึกหมดหวังที่จะได้เรียนจบเป็นหมอและทำงานเป็นหมอรับใช้ชาติ เนื่องจากกลุ่มตาลีบันต้องการให้ผู้หญิงอยู่แต่ในบ้าน ขณะที่กลุ่มตาลีบันยืนยันว่าผู้หญิงจะมีโอกาสได้เรียนในระดับมหาวิทยาลัย แต่จะแยกชายหญิงไม่ให้เรียนด้วยกัน และนักศึกษาหญิงจะมีอาจารย์เป็นเพศหญิงหรือไม่ก็ชายสูงอายุเท่านั้น

อนาคตของสตรียังไม่รู้จะเป็นเช่นไร

ขณะเดียวกัน ชาวอัฟกันอีกรายซึ่งเป็นคุณพ่อลูก 6 ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของลูกๆ โดยระบุว่ากลุ่มตาลีบันบีบบังคับให้เขายกลูกชายให้ ซึ่งตนปกป้องลูกๆ ไม่ได้เพราะไม่มีอาวุธ และยังแทบจะไม่มีอาหารประทังชีวิต

 

"สงครามอาจจบลงไปแล้วในทางกายภาพ แต่การต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดไม่ได้จบลงไปด้วย" เขากล่าว และเพิ่มเติมว่า "เมื่อไม่มีประชาคมโลกอยู่ข้างๆ เราก็ถูกทิ้งให้ดูแลตัวเองกันเอาเอง"

 

อยู่ที่เดิมก็ลำบาก อยากย้ายประเทศก็ยุ่งยาก

การถอนทหารสหรัฐออกจากอัฟกานิสถานทำให้ความฝันในการย้ายประเทศของชาวอัฟกันที่เคยทำงานให้รัฐบาลสหรัฐหรือนาโต้ต้องสลายไป โดยคาดกันว่ามีชาวอัฟกันที่มีสิทธิย้ายไปประเทศอื่นแต่ถูกทิ้งไว้ในประเทศหลังต่างชาติถอนกำลังทหารออกไปแล้วหลายหมื่นราย

 

การถอนกำลังทหารและยกให้กลุ่มตาลีบันเข้ามาควบคุมสนามบินแทนนั้น ทำให้ประเทศอื่นๆ เลิกล้มความพยายามในการอพยพผู้คนไปด้วย และพากันปิดสถานทูตในประเทศ ส่งผลให้ชาวอัฟกันหลายคนที่ตกเป็นเป้าของกลุ่มตาลีบันเพราะเคยทำงานให้ชาติตะวันตกต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ โดยจะอยู่ในประเทศของตัวเองก็ลำบาก จะย้ายประเทศก็ไม่สามารถทำเอกสารได้

 

รัฐบาลต่างชาติหลายรายได้ให้คำมั่นที่จะช่วยเหลือชาวอัฟกันที่เคยทำงานให้พวกเขาต่อไป เนื่องจากคนกลุ่มนี้อาจตกเป็นเป้าของกลุ่มตาลีบัน แต่ก็ไม่มีรัฐบาลใดที่ให้ทิศทางชัดเจน เนื่องจากต่างรอดูว่ารัฐบาลของกลุ่มตาลีบันจะมีหน้าตาอย่างไร โดยได้แต่จับตาดูว่ากลุ่มตาลีบันจะทำตามคำมั่นว่าจะให้อิสรภาพแก่พลเมืองต่างชาติและชาวอัฟกันกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ซึ่ง ณ เวลานี้ก็มีรายงานข่าวแล้วว่า กลุ่มตาลีบันยังไม่ได้ทำตามสัญญา

 

ด้านสหรัฐนั้นก็ยอมรับว่ารัฐบาลอพยพคนไม่ได้ทั้งหมด ทั้งยังไม่มีแผนส่งเจ้าหน้าที่การทูตไปประจำการอยู่ที่อัฟกานิสถานในอนาคตอันใกล้ด้วย โดยชาวอัฟกันที่ต้องการทำเอกสารขออพยพไปสหรัฐ "ต้องไปทำที่ประเทศกาตาร์" สำหรับชาวอัฟกานิสถานที่ต้องการอพยพไปสหรัฐนั้น การเดินทางไปมาภายในประเทศตัวเองโดยไม่ให้ตกเป็นเป้าก็ว่ายากแล้ว การที่จะไปทำเอกสารในต่างประเทศคงไม่ต้องพูดถึง

 

สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษได้เผยแพร่เรื่องราวของชาวอัฟกันรายหนึ่งซึ่งรัฐบาลอังกฤษอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศได้ แต่เขาก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะแม้แต่จะขึ้นเครื่องบินก็ยังไม่สามารถทำได้ โดยในขณะนั้นสหรัฐยังมีกำลังทหารอยู่ แต่กลุ่มตาลีบันไม่ยอมให้เขาเดินทางไปยังสนามบิน และขณะนี้เมื่อสหรัฐถอนกำลังทหารออกไปแล้ว กลุ่มตาลีบันกลับไล่ล่าเขาแทน ซึ่งครั้งนี้อาจจะไม่ใช่แค่ไม่ยอมให้เดินทางไปยังสนามบิน แต่อาจเป็นการไล่ล่าเพื่อปลิดชีวิตเขา

 

อัฟกานิสถานในยุคตาลีบัน

แล้วผู้คนที่ยังต้องอยู่ต่อไปในอัฟกานิสถานจะคาดหวังอะไรได้บ้าง

ประเทศที่เผชิญสงครามมาเป็นเวลานานย่อมมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจเป็นปกติ กลุ่มตาลีบันจำเป็นต้องกอบกู้เศรษฐกิจที่ย่ำแย่มานานเพราะสงคราม โดยไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากต่างชาติอย่างที่รัฐบาลชุดก่อนหน้าได้รับ ซึ่งนอกเหนือจากปัญหาเศรษฐกิจแล้ว อัฟกานิสถานยังมีปัญหาภัยแล้งที่รอให้กลุ่มตาลีบันเข้ามาแก้ไขด้วย

 

ราคาสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น แป้ง น้ำมันปรุงอาหาร และเชื้อเพลิงต่างทะยานขึ้น พนักงานไม่ได้รับเงินเดือน แถมเงินสดก็กดไม่ได้เพราะตู้เอทีเอ็มบางที่ลูกค้าล้นจนไม่มีเงินเหลือให้กด

ราคาสินค้าประจำวันได้พุ่งทะยานขึ้น

นักวิเคราะห์มองว่า วิกฤติดังกล่าวอาจทำให้ประเทศล่มสลายทางการเงินและประชาชนเผชิญกับความหิวโหยเป็นวงกว้าง โดยอัฟกานิสถานเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลและพึ่งพาการนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีกเพราะกลุ่มตาลีบันไม่ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ ทำให้การนำเข้าสินค้ายากลำบาก และไม่สามารถเข้าถึงทุนสำรองระหว่างประเทศเนื่องจากถูกอายัดไว้

 

ประเทศที่เคยให้เงินสนับสนุน เช่น สหรัฐ รวมถึงองค์กรนานาชาติอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก ก็หยุดให้เงินอัฟกานิสถานแล้ว โดยที่ผ่านมานั้น เงินช่วยเหลือจากต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนกว่า 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่า GDP ของอัฟกานิสถานอาจหดตัวลงถึง 10-20% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เทียบได้กับระดับความเสียหายที่เกิดขึ้นในซีเรีย เลบานอน และเมียนมา

 

ความไม่แน่นอนทางการเงินเช่นนี้ก่อให้เกิดความกังวลว่า กลุ่มตาลีบันอาจหันไปพึ่งพายาเสพติดเป็นแหล่งรายได้สำคัญแทน แม้โฆษกกลุ่มตาลีบันเคยวาดภาพสวยหรูไว้ว่าอัฟกานิสถานจะเป็นประเทศที่ปลอดยาเสพติด โดยจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการกอบกู้เศรษฐกิจให้เจริญรุ่งเรืองเมื่อความขัดแย้งในประเทศหมดสิ้นไปแล้ว

 

หลายฝ่ายไม่เชื่อคำประกาศดังกล่าวเมื่อประเมินจากพฤติกรรมที่ผ่านมาของกลุ่มตาลีบัน โดยรายงานจากสหประชาชาติ (UN) ได้เปิดเผยให้เห็นถึงเส้นทางเงินทุนของกลุ่มตาลีบันซึ่งล้วนมาจากกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย

 

รายงานดังกล่าวระบุว่า "แหล่งเงินทุนหลักของกลุ่มตาลีบันยังคงเป็นอาชญากรรม รวมถึงการลักลอบค้ายาเสพติดและปลูกต้นฝิ่น การกรรโชกทรัพย์ ลักพาตัวเรียกค่าไถ่ แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวจากแร่ และเก็บภาษีในพื้นที่ที่ตนเองมีอำนาจ" ซึ่งคาดว่าเม็ดเงินเหล่านี้สูงถึงปีละ 1.6 พันล้านดอลลาร์

 

อย่างไรก็ดี GDP ของอัฟกานิสถานอยู่ที่ประมาณ 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว เท่ากับว่ากลุ่มตาลีบันมีรายได้ไม่ถึง 10% ของ GDP ทั้งประเทศ นั่นหมายความว่ากลุ่มตาลีบันอาจต้องหันไปพึ่งพาระบบเศรษฐกิจใต้ดินในการหาเงินบริหารประเทศในยามที่ขาดเงินหนุนจากต่างชาติ ซึ่งเป็นที่กังวลกันว่า ระบบเศรษฐกิจใต้ดินที่ว่านี้จะมีอะไรซุกซ่อนอยู่บ้าง

 

หากกลุ่มตาลีบันต้องเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจจริงๆ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ต้นฝิ่น จะกลายเป็นแหล่งรายได้ของประเทศ เพราะแม้อัฟกานิสถานจะมีทรัพยากรธรรมชาติอย่างทองแดง เหล็ก ปรอท แร่หายาก และหินอ่อน แต่ทิศทางในอนาคตก็ยังไม่แน่นอนเพราะส่วนใหญ่เป็นการหาแร่แบบผิดกฎหมายหรือไม่ก็ไม่มีการควบคุม ทำให้เงินไม่เข้าประเทศ

 

ปัจจุบันกลุ่มตาลีบันยังไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการ แต่ก็ได้มีการเจรจากับผู้นำนอกกลุ่มตาลีบันอยู่บ้าง รวมถึงอดีตประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีความหลากหลายมากขึ้น และจะมีผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจริง ๆ เข้ามามีบทบาทอยู่บ้าง

 

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายรายไม่ได้คาดหวังว่าอนาคตจะสดใสเช่นนั้น หลังจากที่นายโมฮัมหมัด อิดริส สมาชิกอาวุโสรายหนึ่งของกลุ่มตาลีบันได้รับการแต่งตั้งเป็นรักษาการผู้ว่าการธนาคารกลางอัฟกานิสถานทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีพื้นฐานด้านเศรษฐกิจมาก่อน ทำให้หลายฝ่ายมองว่า รัฐบาลชุดใหม่น่าจะให้ความสำคัญกับอุดมการณ์มากกว่าประสบการณ์

         

ทั้งนี้ อนาคตของอัฟกานิสถานจะขึ้นอยู่กับทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มตาลีบันกับประเทศอื่นๆ โดยความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ปากีสถานและอิหร่าน หรือแม้แต่สหรัฐและยุโรป อาจจะปูทางไปสู่การค้าข้ามพรมแดนและดึงเงินช่วยเหลือจากต่างชาติให้กลับมาดังเดิม

 

ประชาคมโลกคงต้องติดตามดูสถานการณ์ของอัฟกานิสถานภายใต้บังเหียนของกลุ่มตาลีบันกันต่อไปว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

 

ข้อมูลจาก In Focus / สำนักข่าวอินโฟเควสท์