9 เรื่องน่ารู้ก่อนดู “โอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020” (Olympic Games Tokyo 2020)

23 ก.ค. 2564 | 14:38 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2564 | 22:10 น.
1.1 k

ต่อไปนี้เป็น 9 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการจัดงาน "โอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020" (Olympic Games Tokyo 2020 ) ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน และอาจทำให้การดูกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ มีความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น

การแข่งขันกีฬา โอลิมปิกครั้งที่ 32  หรือ "โอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020" ที่กำลังจะเปิดฉากอย่างเป็นทางการในเย็นวันนี้ (23 ก.ค.) ที่สนามกีฬาโอลิมปิก สเตเดียม ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้แนวคิด "Moving Forward" หรือ "ก้าวไปข้างหน้า" เป็นมหกรรมการกีฬาที่จัดขึ้นภายใต้สภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รูปแบบการจัดงานในทุกมิติ ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

 

9 เรื่องน่ารู้ก่อนดู "โตเกียวเกมส์ 2020" นั้น เรารวบรวมไว้แล้ว ดังนี้  

 

1.ทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดการ (ที่ถูกเลื่อนมา) คือการแข่งขันจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 23 ก.ค. ถึง 8 ส.ค. ส่วนการแข่งขันพาราลิมปิกจะเริ่มขึ้นในวันที่ 24 ส.ค. นี่คือมหกรรมกีฬาที่ทันสมัยท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติเนื่องจากแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่บรรเทาเบาบาง และกรุงโตเกียว สถานที่จัดงานก็อยู่ภายใต้ประกาศภาวะฉุกเฉิน ทำให้รูปแบบการจัดงานเปลี่ยนไปจากที่ผู้ชมทั่วโลกคุ้นชิน นั่นคือจะไม่มีผู้เข้าชมในสนามการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติหรือคนญี่ปุ่นเอง

9 เรื่องน่ารู้ก่อนดู “โอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020” (Olympic Games Tokyo 2020)

2.การเตรียมการและการป้องกันโควิดระดับเข้มข้น แม้ว่าไม่มีกฎเกณฑ์บังคับให้นักกีฬาต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิดก่อนเข้าร่วมการแข่งขัน แต่พวกเขาต้องแสดงหลักฐานยืนยันว่ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้วและผลออกมาเป็นลบ (ไม่พบเชื้อ) ทั้งนักกีฬาและคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หากเดินทางถึงญี่ปุ่นแล้วต้องเข้ากักตัว 3 วัน และต้องรับการตรวจหาเชื้อทุกวัน

 

นายโธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) กล่าวว่า 85% ของผู้ที่เข้ามาพักในหมู่บ้านนักกีฬาได้รับวัคซีนมาก่อนที่จะเดินทางถึงญี่ปุ่นแล้ว บรรดาเจ้าหน้าที่ของ IOC ทุกคนที่จะมาร่วมงานโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ครั้งนี้ ก็จะฉีดวัคซีนมาก่อนเช่นกัน บรรดานักกีฬามีสมุดคู่มือ (Playbook) ระบุแนวทางการปฏิบัติตัวเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และพวกเขาจะถูกจำกัดพื้นที่การเดินทางระหว่างพำนักอยู่ที่ญี่ปุ่น

 

3.นักกีฬาและเจ้าหน้าที่จากนานาประเทศจะถูกจำกัดวงอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า “บับเบิล” (bubble) เพื่อกันพวกเขาออกจากสาธารณชนทั่วไป แต่แม้จะมีแนวทางปฎิบัติที่เข้มงวดเหล่านี้ ก็มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อในหมู่บ้านนักกีฬาแล้วมากกว่า 70 คน เพียงไม่กี่วันก่อนที่การแข่งขันจะเริ่มขึ้น

นอกจากนี้ การตรวจพบนักยิมนาสติกทีมชาติสหรัฐอเมริกา ติดเชื้อโควิดนอกหมู่บ้านนักกีฬา ก็ยิ่งสร้างความวิกตกว่าพวกเขาจะทำให้เพื่อนร่วมทีมติดเชื้อไปด้วยแล้วหรือไม่ จนถึงวันที่ 20 ก.ค. มีการตรวจพบนักกีฬาและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโอลิมปิกติดโควิดแล้ว 71 คน

9 เรื่องน่ารู้ก่อนดู “โอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020” (Olympic Games Tokyo 2020)

4.นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เป็นผู้นำเสนอความพร้อม ส่วนผู้ตัดสินใจว่าจะจัดงานหรือไม่นั้นคือคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC)

 

ข้อสัญญาระหว่างเมืองที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันและ IOC หัวข้อที่ 66 ระบุว่า มีหลากหลายเหตุผลที่เจ้าภาพจะสามารถใช้อ้างเพื่อยกเลิกการจัดงาน ซึ่งรวมถึงข้อที่ว่า หาก IOC พิจารณาแล้วมีหลักฐานเชื่อได้ว่า หากจัดแล้วจะเกิดความไม่ปลอดภัยหรือเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อผู้ที่เข้าร่วมการแข่งขัน

 

5.มีใครบ้างไหมที่จะได้เข้าดูการแข่งขันในสนาม?  การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงทำให้มียอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นในกรุงโตเกียว ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นตัดสินใจประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด แฟนกีฬาทุกคนไม่ว่าจะเป็นต่างชาติหรือชาวญี่ปุ่นเอง ถูกห้ามเข้าชมการแข่งขันในสนามทั้งในพื้นที่กรุงโตเกียวและปริมณฑล มีข้อยกเว้นสำหรับสนามแข่งขันที่จัดในต่างจังหวัดที่อัตราการติดเชื้อโควิดอยู่ในระดับต่ำ อาจอนุญาตให้ชาวญี่ปุ่นเข้าชมได้

 

ก่อนหน้าการประกาศห้ามต่างชาติเข้าชมการแข่งขันเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นคาดหมายจะมีชาวต่างชาติเข้าชมการแข่งขันราว 600,000 คน       

สนามโอลิมปิก สเตเดียม ในกรุงโตเกียว

6. ค่าความสูญเสียอย่างน้อย 3 แสนล้านเยนหากต้องเลื่อนการจัดออกไปอีก   

ถ้าหากจะเลื่อนการจัดแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ออกไปอีก ญี่ปุ่นอาจต้องจ่ายอย่างน้อย 300,000 ล้านเยน หรือประมาณ 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยราว 8.6 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยกันออกโดยรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่นโตเกียว และคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกของญี่ปุ่น

 

ข้อสัญญาระหว่างเจ้าภาพจัดงานคือมหานครโตเกียวที่ทำไว้กับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC  (International Olympic Committee) ไม่ได้ระบุเรื่องการเลื่อนจัดงาน

 

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลไม่อนุญาตให้มีผู้เข้าชมการแข่งขันยังส่งผลกระทบต่อตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวที่เคยคาดหมายเอาไว้ก่อนหน้านี้ ว่าอย่างน้อยนักท่องเที่ยวที่มาเข้าชมการแข่งขันอาจสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปจากผลกระทบของโควิด-19

 

ก่อนหน้าการประกาศเลื่อนจัดการแข่งขันเมื่อปีที่ผ่านมา (2020) ญี่ปุ่นเตรียมออกตั๋วเข้าชมการแข่งขันจำนวน 7.8 ล้านใบโดยประมาณ มีการเตรียมออกสินค้าที่ระลึก สื่อโฆษณา และหลากหลายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปี 2020 ดังนั้น การที่ผู้จัดยังคงชื่อการแข่งขัน “โอลิมปิก 2020” เอาไว้แม้ว่าการจัดงานจริง ๆจะเกิดขึ้นในปี 2021 และทาง IOC ก็ยืนยันให้คงโลโก้ หรือตราสัญลักษณ์ “โอลิมปิก2020” เอาไว้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นมาตรการช่วยเหลือสปอนเซอร์และพันธมิตร ที่สนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ที่ได้ทำสื่อประชาสัมพันธ์หรือสินค้าที่ระลึกเป็นปี 2020 ไปแล้ว ไม่ต้องเสียเงินฟรีหรือต้องสั่งทำใหม่ให้สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์


9 เรื่องน่ารู้ก่อนดู “โอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020” (Olympic Games Tokyo 2020)

 

7. การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของเหล่าสปอนเซอร์ การเลื่อนจัดแข่งขันเมื่อปีที่ผ่านมา และแนวทางปฏิบัติที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้บรรดาสปอนเซอร์หรือเจ้าของสินค้าที่สนับสนุนการจัดแข่งขันโตเกียวเกมส์ จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การตลาดไปตาม ๆ กัน

 

ยกตัวอย่างเช่น โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป. ประกาศจะไม่แพร่ภาพโฆษณาทางทีวีระหว่างที่มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและประธานบริษัทก็จะไม่เข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขันที่สนามโอลิมปิก สเตเดียมในวันนี้ด้วย เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมใด ๆในขณะที่ยังคงมีการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

ในส่วนของ IOC นั้นมี สปอนเซอร์หลักในระดับโลก สำหรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกจำนวน 14 ราย รวมถึงโคคา-โคลา และวีซ่า อิงค์.  สปอนเซอร์ระดับเอ็กซ์คลูซีฟเหล่านี้ จ่ายเงินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกที่จัดขึ้นทุกๆ 4 ปี เพื่อให้แบรนด์สินค้าได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับมหกรรมกีฬาระดับโลก     

 

ส่วน สปอนเซอร์ท้องถิ่นของญี่ปุ่นเองสำหรับโตเกียวเกมส์ มีจำนวน 68 ราย อาทิ บริษัทเบียร์อาซาฮี และร้องเท้ากีฬาเอซิคส์ ได้ลงขันสนับสนุนการจัดแข่งขันคิดเป็นเงินรวมกว่า 3,300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่างบจัดการแข่งขันครั้งก่อนที่เคยทำสถิติไว้ถึง 3 เท่า

9 เรื่องน่ารู้ก่อนดู “โอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020” (Olympic Games Tokyo 2020)

8.ในอดีตก็เคยมีการยกเลิกการแข่งขันโอลิมปิกมาก่อนนะ

ในอดีตเคยมีการยกเลิกการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมาแล้ว 5 ครั้ง ซึ่งทั้งหมดมีสาเหตุมาจากการเกิดสงครามโลกในยุคนั้น แบ่งเป็น

  • การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน เคยยกเลิกการจัดในปี ค.ศ.1916, 1940 และ 1944
  • การแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว เคยยกเลิกการจัดในปี ค.ศ. 1940 และ 1944

 

โอลิมปิกปี 1940 เดิมทีกำหนดจัดที่กรุงโตเกียว แต่เนื่องจากภาวะสงครามทำให้มีการประกาศเลื่อนไปก่อน และต่อมาก็ยกเลิกไปเลย

 

นอกจากนี้ ยังมีอยู่เพียงครั้งเดียวที่การจัดแข่งขันโอลิมปิกมีการเปลี่ยนประเทศเจ้าภาพแบบปุบปับ คือในปี 1976 เป็นการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว เมืองเดนเวอร์ (รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา) ซึ่งเป็นเจ้าภาพมีปัญหาการเดินขบวนประท้วงค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น การแข่งขันจึงถูกสับเปลี่ยนไปจัดที่เมืองอินส์บรูก ประเทศออสเตรียแทน

 

9.เรื่องฉาวๆนอกเหนือจากประเด็นโควิด-19

คณะกรรมการจัดงานโตเกียวโอลิมปิกเจอประเด็นวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงเรื่องการเหยียดเพศ หลังจากที่นายฮิโรชิ ซาซากิ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ เอ่ยปากให้นักแสดงตลกหญิงคนหนึ่งที่มีรูปร่างตุ้ยนุ้ยใส่ชุดหมูสาวในพิธีเปิดการแข่งขัน เพื่อสวมบทเป็น “โอลิมพิก” (Olympig หรือหมูสาวโอลิมปิก) ซึ่งเล่นคำกับชื่องาน “โอลิมปิก” (Olympic) แต่ไม่มีใครตลกด้วย ซาซากิถูกกระแสสังคมตำหนิและสุดท้ายต้องลาออก

 

เมื่อเร็ว ๆนี้ ยังมีกรณีของนายโยชิโระ โมริ อดีตหัวหน้าคณะกรรมการจัดงาน ถูกกระแสสังคมกดดันให้ลาออกเช่นกัน หลังจากที่เขาแสดงความเห็นดูแคลนเพศหญิงโดยกล่าวว่าพวกผู้หญิง “พูดมากเกินไป” ในการประชุมบอร์ด

 

ล่าสุดนายเคโกะ โอยามาดะ ซึ่งมีบทบาทในการประพันธ์เพลงสำหรับพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิก ประกาศลาออก ไขก๊อกตัวเองเมื่อไม่กี่วันนี้เอง หลังมีการออกมาแฉบทสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งที่เขายอมรับเองว่า เคยกลั่นแกล้งเพื่อนร่วมชั้นเรียนสมัยวัยเด็กซึ่งเป็นผู้พิการ  

ที่มา: สำนักข่าวบลูมเบิร์ก