จีนไฟเขียวให้นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้เงินหยวนดิจิทัล

21 ก.ค. 2564 | 05:40 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ค. 2564 | 13:21 น.

แบงก์ชาติจีนไฟเขียวให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในจีนใช้เงินหยวนดิจิทัลได้แล้วโดยไม่ต้องมีบัญชีธนาคารในจีน สถิติชี้หลังทดลองระบบมาครบ 1 ปี มีการเปิดใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลส่วนตัวแล้วกว่า 20.87 ล้านใบ มีการทำธุรกรรมเป็นมูลค่า 3.45 หมื่นล้านหยวน

ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศจีนจะสามารถใช้ สกุลเงินดิจิทัล ของประเทศจีน หรือ หยวนดิจิทัล (e-CNY) ที่ออกโดย PBOC ได้โดยไม่ต้องมีบัญชีธนาคารในจีน

 

ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือพัฒนาขึ้นมาก จนกลายเป็นรูปแบบการชำระเงินที่ใช้เป็นส่วนใหญ่ในจีน ผู้ประกอบการต่างๆ มักเลือกที่จะไม่รับชำระเงินด้วยเงินสด ในขณะที่บัตรเครดิตนั้นไม่ได้รับความนิยมในจีนมากเท่ากับในสหรัฐอเมริกา

 

PBOC ได้พัฒนาสกุลเงินหยวนดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 และเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16 ก.ค.) PBOC ก็ได้เผยแพร่ “สมุดปกขาว” ซึ่งรายงานความคืบหน้าในการพัฒนาสกุลเงินหยวนดิจิทัลทั้งในรูปแบบภาษาจีนและภาษาอังกฤษ โดยระบุว่า ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังจีนจะสามารถเปิดใช้กระเป๋าเงิน e-CNY เพื่อใช้ชำระเงินทั่วไปได้โดยไม่ต้องมีบัญชีธนาคารในประเทศจีน

 

PBOC เปิดเผยว่า ระบบ e-CNY เก็บข้อมูลธุรกรรมน้อยกว่าการชำระเงินทางออนไลน์ทั่วไป นอกจากนี้ ระบบภายในของ PBOC ยังจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเงินหยวนดิจิทัลแยกกับข้อมูลส่วนอื่นๆ


จีนไฟเขียวให้นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้เงินหยวนดิจิทัล

สถิติ ณ ปลายเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาชี้ว่า หลังจากมีการทดลองใช้เงินดิจิทัลหยวนทั่วประเทศมาเป็นเวลา 1 ปี มีการเปิดใช้กระเป๋าเงินส่วนตัวแล้วกว่า 20.87 ล้านใบ และกระเป๋าเงินบริษัทกว่า 3.51 ล้านใบ โดยมีการทำธุรกรรมเป็นมูลค่า 3.45 หมื่นล้านหยวน (5.39 พันล้านดอลลาร์)

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาชาวต่างชาติไม่สามารถรับเงินดิจิทัลหยวนที่รัฐบาลจีนแจกจ่าย หรือเข้าร่วมในการทดลองใช้เงินดิจิทัลหยวนครั้งอื่นๆ ได้ เนื่องจากมีการจำกัดการใช้เพียงในกลุ่มผู้มีถิ่นพำนักในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง หรือมาเก๊าเท่านั้น

 

สมุดปกขาว หรือ White Paper ที่ PBOC เผยแพร่เมื่อเร็ว ๆนี้ ระบุว่า หยวนดิจิทัลเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง หรือ ธนาคารประชาชนจีน (PBOC) จัดการโดยผู้ดำเนินการที่ได้รับอนุญาต และเป็นเครื่องมือการชำระเงินแบบไฮบริดที่อิงมูลค่า บัญชีเสมือน และบัญชีเป็นพื้นฐาน โดยมีสถานะเป็นเงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายและเชื่อมโยงกับบัญชีต่างๆ

 

ทั้งนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบัน การทำธุรกรรมที่ใช้เงินสดในจีนครองส่วนแบ่งลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะเศรษฐกิจดิจิทัลพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันสกุลเงินดิจิทัลที่เรียกว่าคริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrency) ต่างๆ อย่างบิตคอยน์ (Bitcoin) อาจมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางการเงินและทางสังคม เนื่องจากไม่มีมูลค่าที่แท้จริง มีความผันผวนของราคาอย่างรุนแรง มีประสิทธิภาพการซื้อขายต่ำ และใช้พลังงานปริมาณมาก

 

การพัฒนาระบบหยวนดิจิทัลจึงมีเป้าหมายเพื่อสร้างสกุลเงินเหรินหมินปี (RMB) ในรูปแบบใหม่ ที่ตอบสนองความต้องการเงินสดของประชาชนในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

 

“ระบบหยวนดิจิทัล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินสำหรับร้านค้าปลีกที่เชื่อถือได้ มีประสิทธิภาพ ปรับตัวได้ และเปิดกว้าง จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลของจีน ส่งเสริมการรวมกลุ่มทางการเงิน และทำให้ระบบเงินตราและการชำระเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น” ข้อความในสมุดปกขาวระบุ