เกาหลีใต้เล็งเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีน mRNA ในเอเชีย

06 ก.ค. 2564 | 14:38 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2564 | 21:41 น.

รัฐบาลเกาหลีใต้มองการณ์ไกล เริ่มเจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน mRNA ชักชวนร่วมลงทุนในประเทศ ยันหากเจรจาสำเร็จพร้อมผลิตได้ 1 พันล้านโดสในทันที มุ่งหน้าเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนในภูมิภาค

เจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลเกาหลีใต้เปิดเผยวานนี้ (5 ก.ค.) ว่า เกาหลีใต้ กำลังเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนประเภท mRNA (messenger Ribonucleic Acid) รวมถึง ไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา เพื่อผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเกาหลีใต้ และพร้อมเสนอกำลังผลิตสูงถึง 1 พันล้านโดสในทันที

 

ทั้งนี้ หลักการทำงานของ วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA คือการเอาชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด- 19 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนามของเชื้อไวรัส (Spike protein) นำมาสังเคราะห์เป็นรหัสคำสั่งที่เรียกว่า S-spike mRNA

 

เมื่อฉีดวัคซีนชนิด mRNA เข้าสู่ร่างกายจะทำให้เซลล์ในร่างกายผลิตโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนามของไวรัส และโปรตีนที่ผลิตจะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Antigen) ให้ร่างกายรู้จักกับเชื้อโรคโควิด-19 และสร้างภูมิคุ้มกัน (Antibody)เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 โดยธรรมชาติ สารพันธุกรรม mRNA เหล่านี้จะถูกขจัดออกจากร่างกายภายในระยะเวลาไม่นาน จึงไม่สะสมหรือฝังตัวอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์ในร่างกาย

ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตวัคซีน ที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวนี้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้แก่ ไฟเซอร์-บิออนเทค (Pfizer-BioNtech) และโมเดอร์นา (Moderna)

เกาหลีใต้เล็งเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีน mRNA ในเอเชีย

สื่อต่างประเทศระบุว่า ถ้ามีการบรรลุข้อตกลง ก็จะช่วยผ่อนคลายปัญหาขาดแคลนวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย ซึ่งมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ล่าช้ากว่าในอเมริกาเหนือและยุโรป และทำให้เกาหลีใต้เข้าใกล้เป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางผลิตวัคซีนรายใหญ่ของภูมิภาค

 

ปัจจุบัน เกาหลีใต้มีข้อตกลงผลิตวัคซีนในประเทศ กับผู้พัฒนาวัคซีน 3 ราย ได้แก่

  • บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า/มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
  • บริษัท โนวาแวกซ์ (สัญชาติอเมริกัน)
  • สถาบันวิจัยของรัสเซีย

นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังมีข้อตกลงการบรรจุขวดกับหีบห่อบรรจุภัณฑ์วัคซีนกับบริษัท โมเดอร์นา

 

"เรามีการพูดคุยอย่างสม่ำเสมอกับบริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่เพื่อผลิตวัคซีน mRNA" ลี คัง-โฮ ผู้อำนวยการใหญ่คณะกรรมการศูนย์กลางวัคซีนโลกภายใต้กระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ และยังกล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้พัฒนาวัคซีนแบบ mRNA ไม่มากนัก เท่าที่มีอยู่ก็ได้แก่ ไฟเซอร์, โมเดอร์นา, เคียวแวค (CureVac บริษัทผู้ผลิตวัคซีนสัญชาติเยอรมัน) และบิออนเทค (บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพและวัคซีน สัญชาติเยอรมันเช่นกัน) จึงมีขีดจำกัดในการผลิตวัคซีนป้อนตอบสนองความต้องการทั่วโลก รัฐบาลเกาหลีใต้มีความตั้งใจที่จะให้ความช่วยเหลือ ด้วยข้อเสนอสร้างโรงงานและทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะเพื่อการผลิตวัคซีน mRNA

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าการเจรจาดำเนินไปถึงขั้นใดแล้ว และข้อตกลงจะเกิดขึ้นได้เมื่อใด โดยบิออนเทคปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้ ขณะที่โมเดอร์นาและเคียวแวค ยังไม่ได้ตอบกลับสำนักข่าวรอยเตอร์