งานวิจัยวัคซีนโควิดสะดุด “เมอร์ค” ยกเลิกวัคซีน 2 ตัวกลางคัน

26 ม.ค. 2564 | 09:15 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ม.ค. 2564 | 09:20 น.

“เมอร์ค” (Merck) บริษัทยายักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 ตัววานนี้ (25 ม.ค.) หลังผลทดลองทางคลินิกในขั้นต้นให้ผลตอบสนองทางภูมิคุ้มกันไม่เป็นที่น่าพอใจ

แถลงการณ์ของ เมอร์ค ผู้ผลิตยารายใหญ่ ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของบริษัท เผยว่า เมอร์คตัดสินใจ ไม่เดินหน้าพัฒนาวัคซีนทดลองโควิด 2 ตัว คือ V590 และ V591 ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีความหวังไว้มาก หลังข้อมูลการทดลองในเบื้องต้นซึ่งเป็นการทดลองวัคซีนในระยะที่1 พบว่า มันล้มเหลวในการก่อการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันเมื่อเปรียบเทียบกับการติดเชื้อโดยธรรมชาติ หรือกับวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน   

 

เมอร์คเป็นบริษัทยายักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ที่เคยมีประวัติแห่งความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนหลายชนิดก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 การขยับตัวของเมอร์คถือว่าช้าเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างไฟเซอร์ และโมเดอร์นา  รายงานข่าวระบุว่า เมอร์คใช้กลยุทธ์ต่างจากบรรดาคู่แข่ง โดยมุ่งใช้วิธีการดั้งเดิมที่เน้นพัฒนาวัคซีนบนพื้นฐานสร้างความอ่อนแอแก่ไวรัส โดยวัคซีนตัวหนึ่งมีชื่อว่า V590 บริษัทได้หยิบยืมเทคโนโลยีวัคซีนอีโบลาของเมอร์คเองมาใช้ ส่วนวัคซีนอีกตัวชื่อว่า V591 มีพื้นฐานจากวัคซีนโรคหัดที่ใช้กันอยู่ในยุโรป

การขยับตัวของเมอร์คในการพัฒนาวัคซีนต้านโควิดถือว่าตามหลังคู่แข่งอยู่มาก

อย่างไรก็ตาม สื่อท้องถิ่นของสหรัฐรายงานว่า วัคซีนทั้ง 2 ตัวของเมอร์ค ถือว่าล่าช้ากว่าบริษัทอื่นๆ โดย เมอร์ค เพิ่งเสร็จสิ้นการสรรหาอาสาสมัครผู้เข้าร่วมชุดแรกๆ สำหรับศึกษาความปลอดภัยในขั้นต้น ในช่วงใกล้สิ้นปีที่ผ่านมานี้เอง  ผิดกับทางฝั่งไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ที่ตอนนั้น ก็ก้าวไปถึงขั้นที่กำลังเตรียมการรายงานข้อมูลขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับประสิทธิภาพวัคซีนแล้ว และวัคซีนของทั้งสองบริษัทก็ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานของทางการในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งมีการนำไปฉีดให้กับประชากรโลกแล้วนับสิบล้านโดส   ขณะที่เมอร์ค ยังเพิ่งได้ผลชั่วคราวจากการทดลองในเดือนนี้เอง

 

นายนิค คาร์ทโซนิส รองประธานอาวุโสฝ่ายวิจัยทางคลินิกโรคติดเชื้อและวัคซีน แห่งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยของเมอร์ค ยอมรับว่า ผลการทดลองน่าผิดหวังและน่าประหลาดใจอย่างมาก โดยวัคซีนทั้งสองตัวก่อแอนติบอดีที่มีฤทธิ์ลบล้าง (Neutralizing antibody) สำหรับระงับเชื้อไวรัส น้อยกว่าวัคซีนโควิด-19 ตัวอื่นๆ และก่อการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่ำกว่า หากเทียบกับคนที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เองโดยธรรมชาติ

 

หลังจากประเมินแล้ว ผู้นำระดับอาวุโสของเมอร์คตัดสินใจไม่เดินหน้าโครงการ และแถลงว่าหลังจากนี้จะทุ่มเทความสนใจไปที่การวิจัยและพัฒนา “ยา” ที่จะนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 รวมทั้งงานวิจัยด้านอื่น ๆ เกี่ยวกับโควิด-19

 

ข่าวความเคลื่อนไหวของเมอร์คในครั้งนี้ มีขึ้นท่ามกลางความกังวลระดับสูงเกี่ยวกับอุปทานวัคซีนและอัตราการฉีดวัคซีนในสหรัฐที่เป็นไปอย่างล่าช้า นอกจากนี้ การปรากฏตัวของไวรัสโควิดกลายพันธุ์ยังสร้างความวิตกกังวลด้วยว่า วัคซีนต่างๆ ที่ได้รับอนุมัติใช้แล้ว อาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะจัดการกับไวรัสตัวใหม่ที่เกิดจากการกลายพันธุ์นี้

 

ความล้มเหลวของเมอร์ค จะส่งผลให้บริษัทยักษ์ใหญ่รายนี้หลุดออกจากตลาดวัคซีนโควิด-19 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่าสุดท้ายแล้วจะเหลือคู่แข่งขันรายใหญ่เพียง 2 รายที่เป็นคู่ปรับเก่าแก่กันมา คือ ไฟเซอร์ เป็นบริษัทยาแห่งแรกที่ได้รับอนุมัติใช้วัคซีนโควิด-19 กรณีฉุกเฉินในสหรัฐ และอีกรายก็คือ  โมเดอร์นา นั่นเอง

 

ส่วน จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน นั้น มีข่าวความเคลื่อนไหวล่าสุดว่ากำลังจะเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน ซึ่งเป็นผลงานของบริษัทในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า แล้วจากนั้นจึงจะยื่นขอรับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐ