สหรัฐเล็งฟันภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ยางรถยนต์ไทย 217% รู้ผล 29 ธ.ค.

06 พ.ย. 2563 | 05:55 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ย. 2563 | 14:01 น.
2.8 k

หลัง พณ. สหรัฐลงดาบสั่งเก็บภาษี CVD ยางรถยนต์เวียดนามไปแล้ววานนี้ (5 พ.ย.) คิวต่อไปเป็นการพิจารณาจัดเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ต่อยางรถยนต์ที่นำเข้าจาก “ไทย-เวียดนาม-เกาหลีใต้-ไต้หวัน”  ลุ้นประกาศผล 29 ธ.ค.นี้

 

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เล็งพิจารณา จัดเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ยางรถยนต์นำเข้าจากไทย และอีก 3 ชาติเอเชีย เป็นรายต่อไป หลังประกาศการจัดเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุนของรัฐบาล (CVD) ต่อยางรถยนต์ที่นำเข้าจากเวียดนามวานนี้ (5 พ.ย.) ซึ่งกรณี CVD ยางรถยนต์เวียดนามจะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในอัตรา 6.23-10.08%

 

การดำเนินการของสหรัฐในครั้งนี้ นับเป็นการใช้มาตรการดังกล่าวเป็นครั้งแรกเพื่อตอบโต้รัฐบาลต่างชาติที่จงใจลดค่าเงินเพื่อเอื้อต่อการส่งออกสินค้า

 

ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่า เวียดนามจงใจลดค่าเงินดองให้อ่อนค่าเกินจริงในปี 2562 เพื่อหวังผลทางการค้า

 

ทั้งนี้ รายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่า เวียดนามได้จงใจลดค่าเงินดองราว 4.7% ในปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยรัฐบาลเวียดนามได้ทำการแทรกแซงค่าเงินดองด้วยการเข้าซื้อสกุลเงินตราต่างประเทศสุทธิคิดเป็นมูลค่า 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว โดยดำเนินการผ่านทางธนาคารกลางเวียดนาม

 

รายงานดังกล่าวเป็นรายงานที่กระทรวงการคลังสหรัฐจัดทำขึ้นเพื่อส่งไปยังกระทรวงพาณิชย์สำหรับการสอบสวนกรณีการนำเข้ายางรถยนต์จากเวียดนาม โดยกระทรวงการคลังสรุปว่าเวียดนามได้จำหน่ายยางรถยนต์ในสหรัฐในราคาที่ต่ำกว่าระดับที่เหมาะสม ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลเข้าแทรกแซงในตลาดปริวรรตเงินตรา

 

ทั้งนี้ สหรัฐได้ขึ้นบัญชีเวียดนามในรายชื่อประเทศที่ปั่นค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้า โดยระบุว่าเวียดนามมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ และมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ขณะที่ธนาคารกลางเวียดนามได้ทำการซื้อสกุลเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มะกันสั่งสอบเอดี ทุบยางรถ 8 หมื่นล้าน เล็งเป้าค่ายยาง

สหรัฐประกาศสอบสวนไทย ทุ่มตลาดยางรถยนต์

ตั้งทีมไทยแลนด์สู้มะกัน แก้ต่างทุ่มตลาดยางรถยนต์ 

 

นอกจากนี้ สหรัฐได้เดินหน้ากระบวนการพิจารณาจัดเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ต่อยางรถยนต์ที่นำเข้าจากไทย เวียดนาม เกาหลีใต้ และไต้หวัน เพื่อพิจารณาว่ามีการจำหน่ายยางดังกล่าวในราคาที่ต่ำกว่าระดับที่เหมาะสมหรือไม่ หลังจากที่ได้รับการร้องเรียนจากสหภาพแรงงานยูไนเต็ด สตีลเวิร์คเกอร์ (USW) ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ผลิตยางรถยนต์ของสหรัฐ

สหรัฐนำเข้ายางรถยนต์ราว 4 พันล้านดอลลาร์จากทั้ง 4 ประเทศดังกล่าว โดยนำเข้าเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์จากไทยในปีที่แล้ว และ 1.2 พันล้านดอลลาร์จากเกาหลีใต้

 

USW ระบุว่า การนำเข้ายางรถยนต์จากทั้ง 4 ประเทศได้พุ่งขึ้นเกือบ 20% นับตั้งแต่ปี 2560 สู่ระดับ 85.3 ล้านเส้น

 

หากการสอบสวนพบว่าทั้ง 4 ประเทศมีการทุ่มยางรถยนต์ราคาถูกในตลาดสหรัฐ รัฐบาลสหรัฐก็จะเรียกเก็บภาษี AD ต่อยางรถยนต์ที่นำเข้าจากประเทศดังกล่าว โดยในกรณีของไทย กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเรียกร้องให้มีการเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 217%

 

ทั้งนี้ สหรัฐจะประกาศผลการพิจารณาจัดเก็บภาษี AD ต่อทั้ง 4 ประเทศในวันที่ 29 ธ.ค.

 

ข้อมูลอ้างอิง 

ประกาศกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ

U.S. slaps duties on Vietnamese tires over undervalued currency

U.S. Commerce Department Postpones Deadline for Anti-Dumping Findings on Certain Southeast Asian Tires