ลุ้นระทึก! ผลตรวจกล่องดำ "โบอิ้ง 737 Max" ทั่วโลกงดบิน-ระงับส่งมอบ "สายการบิน" จ่อฟ้องเรียกค่าชดเชย

15 มี.ค. 2562 | 14:57 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2562 | 15:07 น.
2.9 k

แม้ว่าเมื่อต้นสัปดาห์ (11 มี.ค.) สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) เพิ่งจะออกมาประกาศรับรองว่า เครื่องบิน "โบอิ้ง 737 แม็กซ์ 8" ซึ่งเป็นเครื่องบินรุ่นที่ทำสถิติตกลง 2 ลำ ภายใน 5 เดือนที่ผ่านมา เป็นเครื่องบินที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยสำหรับการบิน แต่ในที่สุด "สหรัฐอเมริกา" ประเทศต้นกำเนิดเครื่องบินโบอิ้ง ก็ได้ตัดสินใจห้ามการใช้เครื่องบินโบอิ้ง 737 แม็กซ์ "ทั้งหมด" เป็นการชั่วคราวแล้ว เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยเป็นการดำเนินการฉุกเฉินของ FAA ภายใต้คำสั่งของประธานาธิบดี ซึ่งหลังจากนั้น บริษัท โบอิ้ง ผู้ผลิตเครื่องบินรุ่นดังกล่าว ก็ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนความเคลื่อนไหวของ FAA โดยโบอิ้งระบุว่า จะระงับการใช้เครื่องบิน "737 แม็กซ์" ทั่วโลก ซึ่งมีอยู่ประมาณ 371 ลำ เป็นการชั่วคราว ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ทำให้มีการระงับส่งมอบเครื่องบิน "โบอิ้ง 737 แม็กซ์" ลำใหม่แก่ลูกค้าด้วย แม้โรงงานจะยังเดินสายการผลิตอยู่ก็ตาม

ทั้งนี้ ประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ของสหรัฐฯ ออกคำสั่งฉุกเฉินดังกล่าว โดยระบุว่า เป็นการห้ามบินชั่วคราว จนกว่า บริษัทโบอิ้ง ผู้ผลิตเครื่องบินรุ่นนี้ จะมีวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลใหม่ที่รวบรวมได้จากจุดที่เครื่องบินตกล่าสุดในประเทศเอธิโอเปีย เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (10 มี.ค.) และข้อมูลจากดาวเทียมที่เก็บรายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับเส้นทางบิน ซึ่งเชื่อมโยงอุบัติเหตุเครื่องบิน "โบอิ้ง 737 แม็กซ์ 8" ตก 2 ครั้ง ในระยะห่างกันไม่ถึง 5 เดือน โดยลำแรกเป็นเครื่องบินของสายการบินไลอ้อนแอร์ ตกนอกชายฝั่งอินโดนีเซีย เมื่อเดือน ต.ค. 2561 มีผู้เสียชีวิต 189 ราย ลำที่ 2 เป็นของสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลนส์ เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 157 ราย ทั้ง 2 เหตุการณ์ เป็นเครื่องบิน "โบอิ้ง 737 แม็กซ์ 8" ลำใหม่ อายุการใช้งานไม่ถึง 1 ปี แม้ผลการตรวจสอบหลักฐานและการสอบสวนสาเหตุเครื่องบินตกทั้ง 2 เหตุการณ์ จะยังไม่ชี้ชัดออกมา แต่ก็มีข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่า อุบัติภัยทางอากาศทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ มีบางสิ่งบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน และนำไปสู่การสอบสวนเพิ่มเติม

 

ลุ้นระทึก! ผลตรวจกล่องดำ \"โบอิ้ง 737 Max\" ทั่วโลกงดบิน-ระงับส่งมอบ \"สายการบิน\" จ่อฟ้องเรียกค่าชดเชย

สหรัฐฯ และบราซิล เป็นประเทศล่าสุดที่ออกมาตรการดังกล่าว หลังจากก่อนหน้านี้ หลายประเทศ เช่น แคนาดา อังกฤษ สหภาพยุโรป จีน ออสเตรเลีย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย เวียดนาม อียิปต์ และไทย ได้สั่งห้ามเครื่องบินโบอิ้งตระกูลนี้บินในน่านฟ้าของประเทศเป็นการชั่วคราว ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

ผู้ตรวจสอบจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินของสหรัฐฯ และแคนาดา อ้างถึงข้อมูลจากดาวเทียมที่ได้มาใหม่ เป็นหลักฐานในการออกคำสั่งห้ามนำเครื่องบิน "โบอิ้ง 737 แม็กซ์" ขึ้นบินทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยมีการระบุถึงความคล้ายคลึงบางประการระหว่างเหตุการณ์เครื่องบินตก 2 ครั้งดังกล่าว ข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่า มีความเป็นไปได้ว่า เครื่องบินทั้ง 2 ลำ อาจจะตกลงเพราะสาเหตุเดียวกัน นั่นคือ การทำงานที่ผิดพลาดของระบบควบคุมการบินอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม สาเหตุแท้จริงของการตกนั้น ยังไม่สามารถระบุออกมาได้ เนื่องจากยังคงอยู่ในระหว่างการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


⁍ ยิ่งสอบ ยิ่งระทึก

นายมาร์ค การ์โน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของแคนาดา เปิดเผยว่า ข้อมูลจากดาวเทียมที่ติดตามเส้นทางการบิน แสดงให้เห็นถึง "Vertical Variations" หรือ การเคลื่อนที่ในแนวดิ่งของเครื่องบินลำที่ตกของสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลนส์ ว่า คล้ายกับการเคลื่อนที่ของเครื่องบินไลอ้อนแอร์ก่อนที่จะตกลง การสอบสวนสาเหตุการตกของเครื่องบินเอธิโอเปียนแอร์ไลนส์ยังอยู่ในขั้นเบื้องต้น และกล่องดำที่บันทึกข้อมูลการบินและการบันทึกเสียงในห้องนักบิน ที่พบในจุดเครื่องบินตก ก็เพิ่งส่งถึงหน่วยงานตรวจสอบที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา และคงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบอีกหลายวัน ซึ่งอาจจะเป็นหลายสัปดาห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินออกมาระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะหาข้อสรุปใด ๆ หรือ จับเหตุการณ์เครื่องบินตก 2 ครั้ง ข้างต้นมาเชื่อมโยงกัน อีกทั้งยังไม่ควรตัดความเป็นไปได้ใด ๆ ออกไป ไม่ว่าจะเป็น ความผิดพลาดของนักบินเอง หรือ การทำงานที่ขัดข้องของระบบ
 

ลุ้นระทึก! ผลตรวจกล่องดำ \"โบอิ้ง 737 Max\" ทั่วโลกงดบิน-ระงับส่งมอบ \"สายการบิน\" จ่อฟ้องเรียกค่าชดเชย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอุบัติเหตุเครื่องบิน "โบอิ้ง 737 แม็กซ์ 8" ของสายการบินไลอ้อนแอร์ ที่ตกเมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้วนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินที่ได้ตรวจสอบข้อมูลเท่าที่มีการเปิดเผยออกมาแล้ว ให้ความเห็นว่า ระบบควบคุมการบินอัตโนมัติ ที่เรียกว่า M.C.A.S. ซึ่งเพิ่งติดตั้งใหม่ให้เครื่องบินรุ่นนี้ ได้ทำงานตามการป้อนข้อมูลผิดพลาดของเซ็นเซอร์ตัวหนึ่ง ทำให้ระบบปรับหัวเครื่องบินในแนวกดดิ่งลง ซึ่งนักบินก็ได้พยายามหลายครั้งในการที่จะดึงหัวเครื่องบินให้เชิดขึ้น แต่ก็ไม่สามารถขัดขวางระบบอัตโนมัติดังกล่าวได้ การขัดขืนกันระหว่างนักบินและระบบอัตโนมัติเกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ และแสดงให้เห็นในข้อมูลบันทึกการบินที่เกิดการเคลื่อนไหวในแนวดิ่งขึ้น ๆ ลง ๆ หลายระดับความสูง ก่อนที่เครื่องจะตกลงสู่พื้น ผู้เชี่ยวชาญการบินหลายคน รวมทั้ง นายมาร์ค การ์โน รัฐมนตรีคมนาคมของแคนาดา คาดว่าเป็นไปได้ที่ระบบ M.C.A.S. อาจทำงาน และเป็นต้นเหตุการตกของเครื่องบิน "โบอิ้ง 737 แม็กซ์ 8" ของสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลนส์เช่นกัน

ทั้งนี้ ข่าวระบุว่า นักบินของสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลนส์ เที่ยวบิน 302 ที่ประสบเหตุตกลงเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการแจ้งกลับมายังหอบังคับการบิน ว่า ต้องการนำเครื่องบินกลับมายังสนามบินโบเล ในเมืองแอดดิส อะบาบา หลังเพิ่งนำเครื่องทะยานออกจากสนามบินดังกล่าวได้เพียงไม่กี่นาที โดยนักบินระบุว่า มีปัญหาในการควบคุมการบิน และไม่ได้กล่าวถึงปัญหาอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ปัจจัยจากภายนอก หรือ สภาพอากาศ ก่อนหน้านี้ ในปี 2561 เคยมีการร้องเรียนและส่งรายงานจากนักบินของสายการบินอื่น ๆ อย่างน้อย 2 ราย มายัง FAA เพื่อแจ้งเกี่ยวกับปัญหาที่พบในขณะทำการบินด้วยเครื่องบิน "โบอิ้ง 737 แม็กซ์" โดยมีการแจ้งว่า เครื่องบินได้ปักหัวดิ่งลงเมื่อระบบควบคุมการบินอัตโนมัติทำงาน ทำให้กัปตันต้องตัดสินใจหยุดการทำงานของระบบอัตโนมัติ ผู้ช่วยนักบินรายหนึ่งยังรายงานด้วยว่า โบอิ้ง ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินรุ่นนี้ ไม่ได้อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของระบบอัตโนมัติ และคำอธิบายในคู่มือนักบินก็มีไม่มากพอ จนเข้าขั้นอันตรายเลยทีเดียว


นายดอน โธมา ผู้บริหาร บริษัท แอเรียน (Aireon) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบินและเป็นผู้ให้ข้อมูลใหม่ กล่าวว่า จากหลักฐานที่ได้มานั้น พบว่า มีบางสิ่งบางอย่างที่ผิดปกติเกี่ยวกับตัวเครื่องบิน และนั่นเป็นสิ่งที่ควรจะต้องให้ความสำคัญอย่างมาก เช่นเดียวกับ นายวิลเลียม วอลด็อก นักวิชาการด้านความปลอดภัยทางอากาศ จากมหาวิทยาลัยด้านการบิน  Embry-Riddle Aeronautical University ที่เห็นว่า ควรจะต้องมีการตั้งคำถามและตรวจสอบเพื่อไขปริศนา เพราะ 2 เหตุการณ์นี้ เป็นเครื่องบินรุ่นเดียวกัน ที่ตกลงในลักษณะเดียวกัน คือ ดิ่งหัวปักลงกระแทกพื้นและแตกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ กระจัดกระจาย

"ชีวิตคนต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด แต่เรื่องนี้มีชื่อเสียงของแบรนด์เป็นเดิมพันด้วย และไม่ใช่แค่แบรนด์โบอิ้ง แต่เป็นแบรนด์อเมริกา ชื่อเสียงของอเมริกาในวงการการบินระหว่างประเทศ และในความหมายที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น คือ บทบาทของอเมริกาในการสร้างมาตรฐานความปลอดภัย ขีดความสามารถ และความซื่อสัตย์น่าเชื่อถือในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมการบิน" ซาร่า เนลสัน ประธานสมาคมพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ให้ความเห็น

 

ลุ้นระทึก! ผลตรวจกล่องดำ \"โบอิ้ง 737 Max\" ทั่วโลกงดบิน-ระงับส่งมอบ \"สายการบิน\" จ่อฟ้องเรียกค่าชดเชย

⁍ สายการบินปรับแผนให้บริการ

แม้ว่าการประกาศห้ามบินเครื่องบิน "737 แม็กซ์" ทั่วโลก เป็นการชั่วคราวของ บริษัท โบอิ้ง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา จะช่วยให้ราคาหุ้นของบริษัทปรับตัวสูงขึ้น มาอยู่ที่ระดับหุ้นละ 377 ดอลลาร์ แต่ถ้านับจากวันที่เครื่องบินของสายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลนส์ตกเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มูลค่าของ บริษัท โบอิ้ง ในตลาดหลักทรัพย์นั้น ลดวูบลงไปแล้วเกือบ ๆ 26,000 ล้านดอลลาร์

ด้าน สายการบินทั่วโลกที่ใช้เครื่องบินรุ่นนี้อยู่ ได้ปรับแผนการบินและบริการเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้โดยสาร โดยกรณีของ สายการบินเซาธ์เวสต์แอร์ไลน์ ที่เป็นสายการบินที่มีจำนวนเครื่อง "โบอิ้ง 737 แม็กซ์ 8" ในครอบครองมากที่สุด คือ 34 ลำ ได้ปรับกลยุทธ์ โดยเสนอให้ผู้โดยสารที่จองเที่ยวบิน ซึ่งเดิมจะใช้เครื่อง "โบอิ้ง 737 แม็กซ์ 8" แต่บริษัทต้องระงับใช้ตามคำสั่งของ FAA ให้สามารถเปลี่ยนไปจองเที่ยวบินอื่น ๆ (ที่ใช้เครื่องบินรุ่นอื่น) โดยไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใด ๆ หรือ ถ้ามีส่วนต่างของราคาระหว่างเที่ยวบินเก่าและใหม่ ก็ไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่างเช่นกัน แต่ทั้งนี้ ผู้โดยสารต้องจองเที่ยวบินใหม่ให้เรียบร้อยภายใน 14 วันนับจากกำหนดบินเดิม ผู้บริหารของเซาธ์เวสต์แอร์ไลน์ ระบุว่า แม้ทางสายการบินจะมีเครื่องรุ่นนี้ในครอบครองถึง 34 ลำ แต่ก็คิดเป็นสัดส่วนเพียงไม่ถึง 5% ของเครื่องบินทั้งหมดที่บริษัทมีให้บริการอยู่ในแต่ละวัน


อเมริกันแอร์ไลนส์ เผยว่า มีเครื่องบินรุ่นนี้ในครอบครอง 24 ลำ การระงับบินจะส่งผลกระทบต่อเที่ยวบิน แต่บริษัทก็พยายามเร่งแก้ไขปัญหาอยู่ โดยจะพยายามจัดสรรเที่ยวบินใหม่ให้ผู้โดยสารอย่างเร็วที่สุด ขณะที่ ยูไนเต็ด แอร์ไลนส์ เปิดเผยว่า บริษัทใช้เครื่องบิน "โบอิ้ง 737" ตระกูลแม็กซ์ ให้บริการผู้โดยสารราว ๆ วันละ 40 เที่ยวบิน สิ่งที่ทำอยู่ในตอนนี้ คือ การนำเครื่องบินสำรองมาใช้แทนและจัดเที่ยวบินใหม่ให้ผู้โดยสาร

แน่นอนว่า บางสายการบินจะฟ้องร้องขอค่าชดเชยจากโบอิ้ง เช่น สายการบินนอร์เวเจี้ยนแอร์ ที่มีเครื่องบิน "737 แม็กซ์ 8" อยู่ 18 ลำ ผู้บริหารของสายการบิน กล่าวว่า จะขอเรียกร้องค่าชดเชยจากโบอิ้งสำหรับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น รวมทั้งการสูญเสียโอกาสทำรายได้จากการที่ต้องยกเลิกเที่ยวบินและระงับใช้เครื่องบินดังกล่าว

ทั้งนี้ เครื่องบิน "โบอิ้ง 737" ตระกูลแม็กซ์ เป็นเครื่องบินลำตัวแคบที่สายการบินทั่วโลกนิยมใช้ในเที่ยวบินระยะสั้น หรือ เที่ยวบินภายในประเทศ และถือเป็นเครื่องบินที่ขายดีที่สุดตระกูลหนึ่งของ บริษัท โบอิ้ง  นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2560 ทำยอดขายแล้วมากกว่า 4,500 ลำ แต่มีการส่งมอบและใช้งานอยู่ในปัจจุบันไม่ถึง 500 ลำ คิดเป็นสัดส่วนน้อยนิด เมื่อเทียบกับเครื่องบินทั้งหมดที่ให้บริการในเชิงพาณิชย์อยู่ทั่วโลก คาดว่า การระงับใช้เครื่องบินรุ่นดังกล่าวในระยะชั่วคราวจะยังไม่ส่งผลกระทบมากนัก เนื่องจากสามารถใช้เครื่องบินรุ่นอื่นทดแทนได้ ส่วนการตรวจสอบสาเหตุการตกของเครื่องบินรุ่นนี้ คาดว่า อาจจะต้องใช้เวลานานนับเดือน ซึ่งก็อาจจะมีผลให้ต้องระงับการบินยาวนานไปด้วยเช่นกัน

ลุ้นระทึก! ผลตรวจกล่องดำ \"โบอิ้ง 737 Max\" ทั่วโลกงดบิน-ระงับส่งมอบ \"สายการบิน\" จ่อฟ้องเรียกค่าชดเชย