"สุทิน คลังแสง"สมุหกลาโหม ทหารรับได้??

29 ส.ค. 2566 | 10:34 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ส.ค. 2566 | 14:32 น.
1.5 k

ทำความรู้จัก"สุทิน คลังแสง"สส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเพื่อไทย ติดโผรมว.กลาโหมพลเรือน คนที่ 5 ของไทย หลังตัวเต็ง"อดีตบิ๊กทหาร-ตำรวจ"ถูกมวลชนเสื้อแดงถล่ม

ในบรรดาโผ ครม.เศรษฐา 1 แคนดิเดตรัฐมนตรีที่เรียกเสียงฮือฮามากที่สุด  ไม่พ้นเก้าอี้ รมว.กลาโหม ล่าสุดชื่อ"สุทิน คลังแสง"ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 9 พรรคเพื่อไทย  กลับมาอยู่ในโผ "รมว.กลาโหม"อีกครั้ง

จากก่อนหน้านี้มีชื่อ อดีตบิ๊กทหาร  อย่าง "บิ๊กเล็ก" พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.)และอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แต่ถูกสกัดจากแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง  ไม่อยากให้นายทหารที่มีความใกล้ชิดกับ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา"และกล่าวหาว่าโยงกับเหตุการณ์สลายชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553
    

นอกจากนั้นมีชื่อ "บิ๊กน้อย"พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แต่ล่าสุด เมื่อ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.วิชญ์ ตัดสินใจเขียนใบลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ให้เหตุผลในการลาออกว่า ไม่อยากอยู่ขวางหูขวางตาใครขอทำงานด้านกีฬาเท่านั้น  และไม่ถนัดการเมืองมาตั้งแต่ต้น

รวมทั้งชื่อ "บิ๊กป๊อด" พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ"อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)น้องชายของ"บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่ถูกติงว่าส่งตำรวจไปคุมทหาร
    
ท้ายที่สุดชื่อ"สุทิน คลังแสง"ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 9 พรรคเพื่อไทย  กลับมาอยู่ในโผ “รมว.กลาโหม “อีกครั้ง หลังจากก่อนหน้านี้ “สุทิน” พูดทีเล่นทีจริง แซวตัวเองที่จะได้นั่ง รมว.กลาโหม เพราะมีนามสกุล "คลังแสง" 

พลิกปูม “สุทิน คลังแสง”

ล่าสุด“สุทิน”ออกตัวแรง ประกาศพร้อมเป็น “รมว.กลาโหม ส่วนที่มีเสียงวิจารณ์ว่าตำแหน่ง รมว.กลาโหม ควรเป็นทหาร เพราะอาจไม่คุ้นชินที่พลเรือนมารับหน้าที่ จึงอาจเป็นห่วง แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็มีพลเรือนอยู่ในตำแหน่งนี้จำนวนมาก  รวมถึงเป็นผู้หญิงด้วย 
 

หลายคนแคลงใจ “สุทิน คลังแสง”เป็นใครมาจากไหน จึงอาจหาญประกาศความพร้อมนั่งเก้าอี้ใหญ่ คุมกระทรวงด้านความมั่นคงของประเทศ ที่มีกำลังพลทั้ง 3 เหล่าทัพ  มากถึง 305,860  นาย

นายสุทิน คลังแสง

เมื่อพลิกปูม“สุทิน คลังแสง” พบว่า เขาเป็น สส. ปาตี้ลิสต์ ลำดับที่ 9 พรรคเพื่อไทย   เป็นอดีตสส. มหาสารคาม 4 สมัย  บทบาทที่โดดเด่นที่ผ่านมา เป็นประธานวิปฝ่ายค้าน  ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล "บิ๊กตู่"โดยเฉพาะการเปิดซักฟอกคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ด้านการศึกษา สุทิน จบปริญญาเอก Social Science, Magadh University, Indiaปริญญาโท คณะไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ,ปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคามผู้ช่วยและอดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

หากย้อนไปไกลกว่านั้น จะเห็นว่า รมว.กลาโหม  41 คน  (พ.ศ. 2475 - ปัจจุบัน) ล้วนมาจากนายทหารระดับสูงทั้งสิ้น  ยกตัวอย่าง  รมว.กลาโหมคนแรกของไทย คือนายพลเรือโท พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) 2.นายพลตรี พระยาประเสริฐสงคราม (เทียบ คมกฤส) 3.นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) 4.นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตะสังคะ) 

5.นายพลตรี หลวงพรหมโยธี (มังกร ผลโยธิน) 6.พลโท หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต (พิชิต เกรียงศักดิ์พิชิต) 7.พลเรือเอก สินธุ์ กมลนาวิน 8.พลโท หลวงสินาดโยธารักษ์ (ชิต มั่นศิลป์) 9.พลโท จิร วิชิตสงคราม และพลโท หลวงชาตินักรบ (ศุข ชาตินักรบ)  เป็นต้น 

รวมทั้ง หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ล้วนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม 
  นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ที่มา 4 รมว.กลาโหมพลเรือน    

ขณะที่อดีตรมว.กลาโหม ที่มาจากพลเรือน ในอดีตมี 4 คนคือ ชวน หลีกภัย ,สมัคร สุนทรเวช ,สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  เป็นนายกรัฐมนตรีเช่นกัน

โดย“ชวน หลีกภัย” เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมควบเก้าอี้รมว.กลาโหม เพื่อกระชับอำนาจทางการเมือง เนื่องจากในห้วงนั้นความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองกับกองทัพไม่ราบรื่นนัก

ขณะที่ สมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นั่งควบเก้าอี้กลาโหม เพื่อสร้างบรรยากาศ ไม่ให้เกิดบรรยากาศการเป็นศัตรูกับบรรดาบิ๊กทหาร

นายชวน หลีกภัย

ส่วน “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ควบตำแหน่ง กลาโหม เพื่อถ่วงดุลอำนาจการเมืองกับบรรดาบิ๊กทหาร ขณะนั้นมีกระแสต่อต้านจากหลายฝ่ายในกองทัพ โดยมุ่งเป้าโจมตี ไม่มีประสบการณ์ทางการทหาร

ถ้า “สุทิน” ได้นั่งเก้าอี้ รมว.กลาโหม จริงตามโผที่ออกมาล่าสุด

เท่ากับว่า “สุทิน” จะเป็นรมว.กลาโหมที่มาจาก พลเรือนคนที่ 5 ของไทย  และเป็นคนแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่เป็นรมว.กลาโหม แต่ไม่ได้นั่งควบเก้าอี้นายกรัฐมนตรี  

ต้องจับตา นามสกุล“คลังแสง”จะทำให้เหล่าผบ.เหล่าทัพ ยอมรับได้มากน้อยเพียงใด