"ยุทธพร"หวั่น“เศรษฐา”วืดนายกฯ ส.ว.ไม่มาตามนัด

18 ส.ค. 2566 | 15:52 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2566 | 15:57 น.

"ยุทธพร อิสรชัย"ไม่มั่นใจ 22 ส.ค.ได้นายกฯ หวั่นเสียง ส.ว.โหวต “เศรษฐา ทวีสิน” ไม่มาตามนัด “บิ๊กป้อม” มีสิทธิรับไม้ต่อ เชื่อเดือนนี้ยังไม่ได้นายกฯ

วันนี้ (18 ส.ค. 66) นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แสดงความเห็นถึงการโหวตนายกฯ ที่จะเกิดขึ้นหลังพรรคเพื่อไทย ดึง พรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) เข้าร่วม ว่า การโหวตที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 ส.ค.นี้ โอกาสที่จะโหวตผ่านก็ยัง  50 ต่อ 50  และไม่มั่นใจว่าจะโหวตได้หรือไม่  

เพราะวันนั้นอาจมีเกมการเมืองในสภาเกิดขึ้น โดยเฉพาะการนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มาพูดถึง และการจะขอให้มีการทบทวนมติ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ก็เป็นไปได้ และอาจเกิดเหตุการณ์ที่คล้ายเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนที่เกิดความวุ่นวาย นำไปสู่การปิดประชุม   

อย่างไรก็ตาม เสียงของ ส.ส.ที่จะมาสนับสนุนพรรคเพื่อไทยในขณะนี้ น่าจะมีการโหวตให้กับแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยครบทั้งหมด  แต่จุดที่ต้องจับตาคือเสียงของ ส.ว.จะมาสนับสนุนหรือไม่

ถ้าวันนี้มีพรรคของ 2 ลุงเข้ามาครบถ้วน หรือมาเพียง 1 พรรค ก็จะมีโอกาสได้เสียง ส.ว. ก็จะได้ตัวเลข 376 แต่ผมยังไม่มั่นใจว่าเสียง ส.ว.จะได้ตามนั้นหรือไม่ เพราะมีเงื่อนไขหลายอย่างสำหรับพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะถ้ามีการเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน ก็จะมีประเด็นที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นำมาโจมตี ที่จะต้องชี้แจงสังคม 

และมีประเด็นในเรื่องคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะปิดโอกาสพรรคเพื่อไทย หลายคนอาจมองว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการตัดโอกาสของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ พรรคก้าวไกล ซึ่งมองว่าเรื่องเหล่านี้ จะเป็นแรงกดดันต่อพรรคเพื่อไทยด้วย จะทำให้การโหวตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย สามารถโหวตเคนดิเดต 1 คน ได้เพียงหนึ่งครั้ง ดังนั้น เมื่อมีกระบวนการที่จะกดดันพรรคเพื่อไทย จะมีผลต่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย

นายยุทธพร ยังเห็นว่า แคนดิเดตนายกฯ ทั้ง 9 คน  ใช้งานได้เพียง 4 คน  คือ 2 คน นายเศรษฐา และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย และอีก 2 คน  คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคพรรคภูมิใจไทย  และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ 

ดังนั้น ถ้า นายเศรษฐา โหวตไม่ผ่าน โอกาสที่จะเป็น น.ส.แพทองธาร ในสถานการณ์แบบนี้ก็ยังไม่แน่นอน โอกาสที่ตำแหน่งนายกฯ จะไหลไปสู่ขั้วอำนาจเดิมมีความเป็นไปได้สูง   

นอกจากนี้ ในส่วนของพรรคร่วมจัดตั้งเดิม 8 พรรค พรรคเพื่อไทยอาจถือว่าเป็นแกนนำที่ไม่ได้นำจริงๆ เพราะสุดท้ายพรรคเพื่อไทย จะต้องยอมรับทุกเงื่อนไข และยอมรับทุกอย่างที่เป็นการต่อรอง และเรื่องของโควตารัฐมนตรี รวมทั้งเผชิญกับการเมืองที่มาจาก 250 ส.ว. เพราะมี ส.ว.ส่วนหนึ่งที่ตั้งประเด็นเรื่องจริยธรรมทางการเมืองของนายเศรษฐา 

อีกทั้งการเมืองจาก 8 พรรคร่วมเดิมโดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ซึ่งวันนี้พรรคก้าวไกลชัดเจนว่า จะไม่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาล และอาจมีประเด็นที่เรื่องที่ นายพิธา จะไม่ยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเกมก้าวไกลที่จะกดดันเพื่อไทย ให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขจากมติศาลรัฐธรรมนูญ และมติของสภาที่ห้ามโหวตซ้ำ 

“ผมจึงยังไม่มั่นใจว่าการโหวตในวันที่  22 ส.ค. จะมีนายกฯ ที่ชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน หรือไม่”  

นายยุทธพร ยังเห็นว่า การเดินหน้าของพรรคเพื่อไทย เป็นการตอบโจทย์ถูก แต่ตั้งโจทย์ผิด เพราะเพื่อไทยตอบโจทย์ถูกในเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาล แต่โจทย์ที่ถูกต้องสำหรับเพื่อไทย คือ การฟื้นคืนความเชื่อมั่นจากประชาชน ที่พรรคเพื่อไทยกำลังล้มละลายทางความเชื่อถือ ถ้ามองระยะยาวอยากให้พรรคเพื่อไทยทบทวนจุดยืน  และโจทย์ทางการเมืองที่ถูกต้อง  

เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ถ้า 2 ลุงสนับสนุน และสั่งให้ ส.ว.โหวตหนุนนายเศรษฐา นายยุทธพร ตอบว่า หากพรรค 2 ลุงมาด้วยความจริงใจ ไม่ว่าลุงคนใดคนหนึ่ง หรือ  2 ลุง โอกาสที่เราจะได้เห็นเสียงจาก ส.ว. มาสนับสนุนอย่างน้อย 100  เสียง เป็นไปได้ เสียงมี 314 และบวกกับ 100  เสียง ส.ว. จะได้ 415 ซึ่งจะเกินว่า 376 เสียง  

เมื่อถามต่อว่าจะมีเกมบีบให้ไปถึงการเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร หรือไม่   นายยุทธพร กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ เพราะจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พ.ค. เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เราถึงไม่สามารถปฎิเสธได้ว่า พล.อ.ประวิตร จะไม่อยู่สมการการเมืองนี้แล้ว             

ส่วนประเมินได้หรือไม่ว่าเราจะมีนายกฯ ในเร็วๆ นี้ นายยุทธพร กล่าวว่า ไม่เร็วกว่าเดือนสิงหาคม เพราะถ้าทุกอย่างลงตัว โอกาสในการเลือกนายกฯ คงจะเรียบร้อยในระยะหนึ่งแล้ว แต่วันนี้สะท้อนให้เห็นว่า การเมืองในภาวะไม่ปกติ ขณะนี้ยังมีความไม่ลงตัว โอกาสที่จะเห็นความยืดเยื้อในการเลือกนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาลมีความเป็นไปได้สูงมากๆ  

ทั้งนี้ การจัดตั้งรัฐบาลต้องตอบโจทย์ใน 4 เรื่อง คือ เสียงของประชาชนที่สะท้อนผ่านการเลือกตั้ง การประกาศวางมือทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรคเพื่อไทยต้องเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และความคาดหวังของประชาชนกับภาพการเมืองที่จะเกิดขึ้นจริง ซึ่งการไม่เป็นไปตามผลการเลือกตั้ง ทำให้ไม่เกิดความสมดุลทางการเมือง จึงส่งกระทบต่อการโหวตนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาล