ศาลรธน.ใช้เวลา 7 วันรู้ผลปมชงชื่อ“พิธา”โหวตนายกฯ รอบ 2

25 ก.ค. 2566 | 17:21 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2566 | 17:44 น.

“วรวิทย์ กังศศิเทียม"ประธานศาล รธน. ยันพิจารณาคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดินปมเสนอชื่อ “พิธา”โหวตนายกฯ ซ้ำได้หรือไม่ ยึดขั้นตอนตามกฎหมาย ใช้เวลาพิจารณา 7 วันรู้ผล ชี้ทำเร็วไป-ช้าไปมีสิทธิถูกครหาทำองค์กรกลายเป็นตำบลกระสุนตก

วันนี้ (25 ก.ค. 66) นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินเพิ่งยื่นคำร้องผ่านระบบอิเลคทรอนิคส์ ถึงศาลรัฐธรรมนูญไม่เกินครึ่งชั่วโมงที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากรับเรื่องแล้วเจ้าหน้าที่จะใช้เวลาในการตรวจสอบความถูกต้อง 2 วัน แล้วส่งให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเล็กพิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้วินิจฉัยหรือไม่ และใช้เวลาในการพิจารณาอีก 5 วัน

“ศาลรัฐธรรมนูญจะพูดอะไรกลัวเป็นตำบลกระสุนตก จะพิจารณาเร็วเดี๋ยวก็หาว่าจะช่วยใครหรือไม่ พิจารณาช้าก็หาว่าดึงเรื่อง เพราะฉะนั้นก็เดินตามกติกาของกฎหมายที่เขียนไว้ คงไม่เร็วกว่านี้และไม่ช้ากว่านี้" 

ด้านนายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กระบวนการพิจารณาขึ้นอยู่กับรายละเอียดของแต่ละคดี ซึ่งไม่สามารถกำหนดได้ ขึ้นอยู่กับประเด็นและเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ละประเด็นไม่เหมือนกัน 

“ถ้าเป็นเรื่องข้อเท็จจริงจะต้องมีการนำไต่สวนและมีรายละเอียดเยอะ ศาลไม่สามารถรับรู้ได้ว่าจะหยิบเรื่องไหนขึ้นมาทำก่อน ต้องขึ้นอยู่กับสำนักงานฯ ว่าเรื่องไหนพร้อมก่อน ก็นำหยิบขึ้นมาพิจารณาก่อน ซึ่งไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้ แต่กระบวนการตรวจสอบก็ดำเนินการต่อเนื่องทุกกรณี”

ก่อนหน้านี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการลงมติของที่ประชุมรัฐสภา ว่า การเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  เป็นการเสนอญัตติซ้ำ ตามที่ 2 นักวิชาการเสนอ คือ นายพรชัย เทพปัญญา นักวิชาการอิสระ และนายบุญส่ง ชเลธร อาจารย์คณะนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213  เข้าชื่อเพื่อขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยว่า

การที่ที่ประชุมรัฐสภา ในวันที่ 19 ก.ค. มีมติว่าการเสนอชื่อ นายพิธา  ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาลงมติเป็นนายกรัฐมนตรี ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อที่ 41 เป็นการเสนอญัตติซ้ำนั้น เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้หรือไม่ และหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ก็ขอให้มีคำสั่งไปยังที่ประชุมรัฐสภาให้ยุติการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย