"จรัญ"อดีตตุลาการฯ ชี้ศาลรธน.ไม่มีอำนาจวินิจฉัยสั่งสภางดโหวตนายกฯ

25 ก.ค. 2566 | 11:35 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2566 | 11:35 น.

"จรัญ"อดีตตุลาการฯ ชี้ศาลรธน.ไม่มีอำนาจวินิจฉัยสั่งสภางดโหวตนายกฯ แม้ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมีสิทธิ์ที่จะส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ม.46 และม.48

ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นศาลรัฐธรรมนูญศาลรัฐธรรมนูญชะลอโหวตรนายกฯรอบ 3 ออกไปก่อน จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ปม มติสภาฯเสนอชื่อ“พิธา”ครั้งที่ 2 เป็นการยื่นญัตติซ้ำ ซึ่งขัดต่อรธน.หรือไม่

ต่อเรื่องดังกล่าวนายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยผ่านรายการโทรทัศน์ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจเหนือคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นขอให้วินิจฉัยกรณีที่ที่ประชุมรัฐสภามีมติว่าการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกลโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 เป็นการยื่นญัตติซ้ำผิดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 ขัดต่อรัฐธรมนูญหรือไม่

ทั้งนี้ แม้ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมีสิทธิ์ที่จะส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ม.46 และม.48 ซึ่งถือเป็นการสิ่งที่ถูกต้องตามหน้าที่ แต่ศาลรัฐธรรมนูญต้องตรวจสอบก่อนว่าจะมีหน้าที่และอำนาจเหนือคดีนี้หรือไม่ โดยจากการตรวจดูข้อกฎหมายแล้วพบว่าไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้

อย่างไรก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะรับและยก หรือไม่รับเลยก็ได้ เหมือนที่เคยปฏิบัติมาในบางกรณี หากเห็นว่าไม่มีโอกาสที่จะรับไว้พิจารณาในอำนาจได้เลย

สำหรับตัวอย่างเหตุผลที่ยกมา คือ "พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 47 บัญญัติเงื่อนไขข้อที่ 1 ให้เห็นว่า เรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอเข้าเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้ ต้องเป็นเรื่องที่ผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยตรง ถูกละเมิดจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือผู้ที่ใช้อำนาจรัฐ
         
แม้ว่าข้อความดังกล่าวคนทั่วไปอาจมองได้ว่าต้องรวมถึงรัฐสภา และศาลทุกศาล แต่ในระบบกฎหมายของไทย เป็นที่ยุติมาตลอดว่า ศาล สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ หรือ เจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจในระดับปกครอง แต่ถือเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน ดังนั้น จึงถือว่าเกินระดับที่ศาลใดศาลหนึ่ง รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ จะเข้าไปแทรกแซง ตรวจสอบการกระทำของรัฐสภาได้

กรณีดังกล่าวนี้เป็นกิจการภายในของรัฐสภา ตามข้อบังคับที่ 1 มาตรา 47 ข้อที่ 2 มาตรา 48 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีได้มาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 บัญญัติว่า ถ้าการกระทำนั้น อ้างว่าใช้กฎหมาย บทบัญญัติกฎหมายใด ก็ให้ผู้ตรวจการส่งและขอให้ศาลรัฐธรรมนูญว่าบทบัญญัติกฎหมายนั้นขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้
         
แต่บทบัญญัติกฎหมายในรัฐธรรมนูญที่จะเข้ามาสู่อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญได้ ต้องเป็นกฎหมายระดับ พ.ร.บ. ยกเว้น พ.ร.ฎ. ที่ออกตามรัฐธรรมนูญโดยตรงเท่านั้น กฎหมายที่ต่ำกว่า พ.ร.บ. ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่การตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าจะตรวจสอบจริงๆ ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง โดยศาลปกครองเองก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะไปตรวจสอบการกระทำระดับนโยบายของรัฐ หรือระดับการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของคณะรัฐมนตรี หรือรัฐสภา

ดังนั้น ในเรื่องนี้เมื่อไม่ใช่บทบัญญัติของกฎหมายระดับพ.ร.บ.ว่าจะขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยได้ ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 48 และ มาตรา.46 วรรคสุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจที่จะไม่รับไว้ตั้งแต่ต้นได้เลย และในกรณีนี้ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตราใดเลย ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญไปตรวจสอบข้อบังคับของรัฐสภาที่ประกาศใช้ไปแล้ว
          
และการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจสั่งวิธีการชั่วคราวให้รัฐสภาระงับการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน โดยอ้างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 71 ไม่สามารถทำได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจสั่งห้ามคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่ หรือ ห้ามรัฐสภาทำหน้าที่ แต่อาจสั่งให้รัฐมนตรี สส. หรือ สว.หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวได้หากทำผิดรัฐธรรมนูญ
          
ขณะที่หากเกิดกรณีเสียงข้างมากในรัฐสภา ตีความข้อบังคับตามใจชอบนั้น ก็มีกลไกทางรัฐศาสตร์ check and balance ทางการเมือง คือ ฝ่ายค้าน หรือฝ่ายข้างน้อย อาจตั้งเรื่องว่าเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรมหรือไม่ สุจริตหรือไม่ ตั้งกระบวนการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง มีช่องทางที่กฎหมายรัฐธรรมนูญยกเว้นไว้ว่าให้ศาลเข้าไปตรวจสอบได้ แต่ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นศาลฎีกานักการเมือง