จับตา "เพื่อไทย-ก้าวไกล" 8 พรรคเอ็มโอยู ถกจัดตั้งรัฐบาล-โหวตนายกฯรอบสาม

25 ก.ค. 2566 | 00:37 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2566 | 10:05 น.

เกาะติด ประชุม 8 พรรคร่วมตามเอ็มโอยู นำโดย "เพื่อไทย-ก้าวไกล"  หาข้อสรุปสูตรจัดตั้งรัฐบาล และโหวตเลือกนายกฯรอบสาม จะจบอย่างไรอัพเดทข่าวล่าสุดที่นี่ 

เกาะติดความคืบหน้าในการหาสูตรในการจัดตั้งรัฐบาล 2566 และการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 เป็นครั้งที่ 3 หรือ โหวตเลือกนายกฯรอบ 3 ว่าจะมีความชัดเจนอย่างไร

โดยในวันนี้ (25ก.ค.66) พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ที่รับไม้ต่อจากพรรคก้าวไกล จะเป็นเจ้าภาพในการประชุมกับแกนนำ 8 พรรคร่วมรัฐบาลตามเอ็มโอยู ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทยพรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ 

ล่าสุดเช้าวันที่ 25 ก.ค  มีการแจ้งกำหนดการกับสื่อมวลชน โดยมีการเปลี่ยนเวลาและสถานที่ในการหารือ จากเดิมเวลา 14.00 น. เปลี่ยนเป็นเวลา 15.00 น. และสถานที่จากที่ทำการพรรคเพื่อไทย เป็น ที่อาคารรัฐสภา ห้อง CB 308(หลังประชุมแล้วมีการแถลงข่าว)

พรรคเพื่อไทย หารือและชนแก้วช็อกมินต์กับพรรครวมไทยสร้างชาติ

สำหรับการประชุม 8 พรรค เพื่อข้อยุติร่วมกันเพราะยังเกิดความคลุมเคลือหลังจากพรรคก้าวไกลได้ส่งไม้ต่อในการจัดตั้งรัฐบาล ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยได้เชิญพรรคการเมืองอื่นที่อยู่นอกเอ็มโอยูมาหารือเมื่อช่วงเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมาเพื่อทางออกในวิกฤติประเทศ ได้แก่พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนากล้า 

จนเกิดความระแวงในหมู่พรรคร่วมตามเอ็มโอยู โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล เพราะทุกพรรคที่เพื่อไทยเชิญมาพูดคุยนั้น มีคีย์แมสเซเดียวกันคือ ไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคที่จะแก้มาตรา 112 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่มีการประชุมกันครั้งแรกของ 8 พรรค หลังจากมติรัฐสภาเสียงข้างมากไม่ให้เสนอชื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในการโหวตเลือกนายกฯรอบสอง ทำให้พรรคก้าวไกลต้องมอบอำนาจให้พรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาลในฐานะพรรคที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2 

พรรคเพื่อไทย หารือและชนแก้วช็อกมินต์กับพรรคภูมิใจไทย

โดยหลังการประชุมร่วมกันในวันที่ 21 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงภายหลังการหารือร่วมกับ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ว่า หลังจากพรรคก้าวไกล ได้ส่งมอบภารกิจให้พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งที่ประชุมได้หารือจนมีข้อสรุป โดยในการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 นี้ ซึ่งจะมีการเสนอรายชื่อเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น 

ที่ประชุมร่วม 8 พรรค มีมติให้พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมควรแต่งตั้งเป็นนายกฯ ในบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย โดยทางพรรคก้าวไกล จะเป็นผู้เสนอชื่อนายกฯ ต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา แต่ในส่วนของวิธีการที่จะได้มาซึ่งเสียงสนับสนุนเพื่อโหวตเลือกนายกฯ ที่ประชุมเสนอแนวทางไว้ดังนี้  

แนวทางที่หนึ่ง

  • ทั้ง 8 พรรคร่วมที่มี 312 เสียง จะแสวงหาเสียงสนับสนุนจากกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้ครบตามจำนวน คืออีก 63 เสียง และอาจจะมีเงื่อนไขที่ สว. ตั้งเงื่อนไขไว้กรณีเกี่ยวกับประเด็น มาตรา 112 โดยพรรคเพื่อไทยจะเป็นผู้พูดคุยถึงเงื่อนไขดังกล่าว 
  • ส่วนกรณี ส.ว.สามารถให้ข้อมูลและการลดเงื่อนไขเกี่ยวกับประเด็น มาตรา 112 พรรคเพื่อไทยจะรับมามาหารือกับพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลทั้งหมด 

 

แนวทางที่สอง

  • ที่ประชุมเห็นว่า ในระหว่างการไปแสดงหาเสียงจาก สว. ไม่เพียงพอ ก็ให้สิทธิพรรคเพื่อไทยไปพูดคุยพรรคการเมืองอื่นได้ตามที่เพื่อไทยเห็นสมควร เพื่อให้ได้มาซึ่งเสียงสนับสนุนของสภาผู้แทนราษฎร โดยให้เป็นเสรีภาพของพรรคเพื่อไทย

 

แนวทางที่สาม

  • คือแนวทางอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ที่ประชุมให้สิทธิกับพรรคเพื่อไทยเพื่อไปดำเนินการต่อไป

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล

ส่วนท่าทีของพรรคก้าวไกลล่าสุด เมื่อวันที่ 24ก.ค.66 นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เรียกประชุม สส.ของพรรค ผ่านระบบออนไลน์ ถึงแนวทางการจัดตั้งรัฐบาล ก่อนที่จะไปหารือกับแกนนำ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลในวันที่ 25ก.ค.

นายชัยธวัช ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนช่วงหนึ่งว่า ขอให้รอฟังวันที่ 25 ก.ค. เราเคยยืนยันมาหลายครั้งเรื่อง ม.112 ว่าเป็นแค่ข้ออ้าง สุดท้ายหลายพรรคการเมืองก็พูดออกมาชัดเจน เพราะถึงอย่างไรก็จะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล เพราะมีอุดมการณ์และวิธีทำงานการเมืองที่แตกต่างกัน ตอนนี้พรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดตั้งรัฐบาล อยู่ที่การตัดสินใจของพรรคเพื่อไทย