สะพัด! ศาลรธน.จ่อฟัน “พิธา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.

18 ก.ค. 2566 | 07:30 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2566 | 12:02 น.
1.1 k

สะพัด ศาลรธน.เตรียมรับคำร้อง “พิธา” ถือหุ้นสื่อ พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.ไว้วินิจฉัย ในการประชุม 19 ก.ค.นี้ พร้อมกับจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 นี้ เวลา 9.30 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการประชุมเพื่อพิจารณา เรื่องที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ(ส.ส.) ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่นั้น

มีรายงานว่า ในการประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น จะมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และจะมีคำสั่งให้ นายพิธา ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีมติเห็นว่า สมาชิกภาพของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคก้าวไกล มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) จึงให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป

สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ที่จะพิจารณาคดี นายพิธา ประกอบด้วย 

1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาล 

2.นายปัญญา อุดชาชน

3.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม

4.นายจิรนิติ หะวานนท์

5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์

6.นายวิรุฬห์ แสงเทียน

7.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์

8.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ

9.นายนภดล เทพพิทักษ์
 


 

สำหรับคดีถือหุ้นสื่อของ นายพิธา นั้น เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2566 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กกต. ให้ตรวจสอบ กรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค 

กรณีถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด จำนวน 42,000 หุ้น ซึ่งเป็นบริษัทที่กำลังประกอบกิจการอยู่ มีผลประกอบกิจการผ่านงบการเงิน และยังเป็นบริษัทลูกของบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ห้ามไม่ให้ผู้เป็นเจ้าของ หรือ ผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่ 

และหลัง นายพิธา ได้รับการรับรองให้เป็น ส.ส. นายเรืองไกล ก็ได้ยื่นเรื่องให้ กกต. ตรวจสอบสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของ นายพิธา จนนำมาสู่ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย


สำหรับวันที่ 19 ก.ค. ที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีวาระประชุมเรื่องของนายพิธา นั้น เป็นวันเดียวกับการที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา นัดโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นครั้งที่ 2 ในเวลา 09.30 น.