ประวัติ"เศรษฐา ทวีสิน"แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย

16 ก.ค. 2566 | 09:49 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2566 | 16:52 น.
1.9 k

เปิดประวัติ"เศรษฐา ทวีสิน" แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย รอจังหวะส้มหล่น "นายกรัฐมนตรีคนที่ 30" หลังพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก้าวไกล"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ลั่นพร้อมเปิดทางให้พรรคอันดับสอง หากพ่ายโหวตเลือกนายกฯและยกเลิกมาตรา 272 ไม่สำเร็จ

สปอร์ตไลท์ จับชื่อของ "เศรษฐา ทวีสิน" แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทยทันที หลังจากที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์  ประกาศโรดแมปพรรคก้าวไกล ในการต่อสู้ 2 สมรภูมิว่า หากไม่ผ่านการโหวตนายกรัฐมนตรีที่จะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 19 ก.ค.66 และเสียงสว.ไม่ถึง 84 เสียง ในการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 272  พรรคก้าวไกล พร้อมจะเปิดทางให้พรรคอันดับที่สอง "เพื่อไทย" เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

 

รู้จัก "เศรษฐา ทวีสิน"

เศรษฐา ทวีสิน  เป็นนักธุรกิจ อดีตประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน ) ปัจจุบันประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ของแพทองธาร ชินวัตร ( อุ๊งอิ๊ง ) และเป็นหนึ่งในบุคคลที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีไทยจากพรรคเพื่อไทย 

ปัจจุบันอายุ 61 ปี  มีชื่อเล่น นิด  เป็นบุตรคนเดียวของร้อยเอกอำนวย ทวีสิน กับชดช้อย (สกุลเดิม: จูตระกูล) ในด้านชีวิตครอบครัว สมรสกับแพทย์หญิงพักตร์พิไล (สกุลเดิม: ปลัดรักษา) หรือ "หมออ้อม "มีบุตร 3 คน คือ นายณภัทร ทวีสิน "น้อบ", นายวรัตม์ ทวีสิน “แน้บ” และคนเล็กสุด นางสาวชนัญดา ทวีสิน “นุ้บ"” 

เศรษฐา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการเงินที่มหาวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาแคลร์มอนต์ ( Claremont Graduate University) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ หลังจบการศึกษาระดับปริญญาโทในปี พ.ศ. 2529 เข้าทำงานที่ พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เป็นเวลา 4 ปี ต่อมาได้ย้ายไปทำงานที่ บจก.แสนสำราญ ของอภิชาติ จูตระกูล ลูกพี่ลูกน้องของเขา หลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่อบริษัท เป็น บมจ.แสนสิริ โดยเขาได้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทดังกล่าว

บทบาททางการเมือง

ในการชุมนุม พ.ศ. 2556–2557  เศรษฐาแสดงความไม่เห็นด้วยกับพฤติการณ์ของ กปปส.ต่อมาหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกคำสั่งเรียกให้เขาไปรายงานตัว ณ หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ หลังจากนั้นเมื่อเกิดการระบาดทั่วของโควิด-19 และการประท้วงซึ่งนำโดยกลุ่มเยาวชน เป็นอีกครั้งที่ "เศรษฐา" ได้วิจารณ์การบริหารสถานการณ์ดังกล่าวของรัฐบาล

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เขาได้ประกาศว่าตนได้สมัครเป็นสมาชิกของพรรคเพื่อไทย ผ่านบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขา ต่อมาในเดือนมีนาคมปี 2566  พรรคเพื่อไทยแต่งตั้งเป็น "ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวของพรรคเพื่อไทย" โดยเป็นที่ปรึกษาให้กับแพทองธาร ชินวัตร จากนั้นเขาได้ลาออกจากแสนสิริ โดยไม่รับเงินเดือน พร้อมโอนหุ้นที่เคยถืออยู่ในบริษัทจำนวน 13 แห่ง ให้บุคคลอื่น รวมถึงชนัญดา บุตรคนเล็กของเขาอีกด้วย

โดยตอนหนึ่งในจดหมายที่เปิดผนึกถึงเพื่อพนักงานเครือแสนสิริ ลงวันที่ 8 มี.ค. เศรษฐา ระบุถึงความตั้งใจในการเข้ามาเข้าบริหารประเทศ โดยมุ่งมั่นที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศ ว่า  

“ผมมีความตั้งใจที่จะนำประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ มาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้มุ่งไปข้างหน้า เร่งพัฒนาให้ประเทศไทยกลับมายิ่งใหญ่ในสายตาประชาคมโลก และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และโอกาส มุ่งมั่นที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นสถานที่ที่น่าอยู่ยิ่งขึ้นไปอีกสำหรับคนไทยทุกคน รวมถึงแขกที่มาเยือนจากทั่วโลก และเพื่อทุ่มเทให้กับหน้าที่ใหม่นี้ ผมตัดสินใจที่จะลางานชั่วคราวโดยไม่ขอรับค่าตอบแทน เพื่อไปลงมือทำงานพัฒนาประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น และสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ" 

 

โดยหลังจากวางมือบทบาทนักธุรกิจแล้ว  เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย เดินหน้าขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียง โดยชูนโยบาย"ไฮไลท์"ของพรรค ฯ นั่นก็คือ นโยบาย“กระเป๋าเงินดิจิทัล แจกเงิน 1 หมื่นบาท” ให้กับคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาในขณะนั้น เป็นอย่างมาก ก่อนที่หลังเลือกตั้ง ทางพรรคฯจะออกมาประกาศชะลอแผน  โดยให้เหตุผลเรื่องข้อจำกัดด้านงบประมาณ เพราะต้องใช้งบประมาณมากถึง 5.6 แสนล้านบาท

บทบาทด้านนักธุรกิจ 

ข้อมูลจาก บมจ.แสนสิริ (SIRI )  "เศรษฐา" เข้ามารับตำแหน่งงานครั้งแรกที่บริษัท ฯ เมื่อวันที่  22 พ.ย. 2538 หรือกว่า 28 ปี ประสบการณ์การทำงาน 5 ปีย้อนหลัง ดำรงตำแหน่งกรรมการในกว่า 30 บริษัท อาทิ กรรมการบริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (เดิมชื่อ บมจ.บริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ จำกัด ), บริษัท สิริพัฒน์ โฟร์ จำกัด, บริษัท สิริพัฒน์ วัน จำกัด, บริษัท สิริพัฒน์ เท็น จำกัด, บริษัท สิริพัฒน์ ไนน์ จำกัด เป็นต้น จนกระทั่งต้นเดือนเมษายน 2566

เขาประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งของแสนสิริ พร้อมโอนหุ้นทั้งหมดของ บมจ.แสนสิริ (SIRI) จำนวนกว่า 661,002,734 หุ้น ให้แก่นางสาวชนัญดา ทวีสิน ผู้เป็นบุตรสาว โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจเตรียมพร้อมทำงานการเมืองในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย
 
บทบาทด้านนักธุรกิจที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า เศรษฐา เป็นผู้นำทางความคิดที่ขับเคลื่อนแนวคิดใหม่ๆ ให้กับวงการอสังหาฯบ้านเราไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในแวดวงอสังหาฯ (Prop Tech) การผลักดันเรื่องความเท่าเทียมในสังคมและองค์กร จนแสนสิริได้เป็นหนึ่งในองค์กรต้นแบบด้านความเท่าเทียม ไปจนถึงการตั้งเป้าให้แสนสิริเป็นองค์กร Net-zero ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

ผลการดำเนินงานของ บมจ.แสนสิริ (SIRI) ปี 2565 ทำกำไรสุทธิทุบสถิติสูงสุดในรอบ 38 ปี ทะลุ 4,280 ล้านบาท เติบโต 112% จากปี 2564 โดยมีรายได้รวม 34,983 ล้านบาทเพิ่มขึ้น +18% จากปี 2564

ขณะที่ไตรมาสแรกปี 66 บมจ.แสนสิริ ทำกำไรสุทธิ 1,582 ล้านบาท เติบโต 423% จากไตรมาสเดียวกันของปี 2565 โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 8,505 ล้านบาท เติบโต YoY ที่ 63%

คงจะลุ้นต่อว่า หลังเดือน ก.ค. 2566 ชื่อ เก้าอี้นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 30 จะเป็นของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ " จากพรรคก้าวไกล หรือจะเป็นนายกรัฐมนตรีส้มหล่น "เศรษฐา ทวีสิน"  แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย