บิ๊กเอกชนกังวล ตั้งรัฐบาลล่าช้า ฉุดเศรษฐกิจถอยหลัง

14 ก.ค. 2566 | 15:46 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2566 | 16:00 น.

จนถึง ณ เวลานี้ การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของไทยยังฝุ่นตลบ การเมืองมีโอกาสพลิกขั้วพลิกข้างสูงหลังนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้รับเสียงโหวตจากสมาชิกรัฐสภาไม่เพียงพอให้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และยังต้องรอลุ้นในการโหวตรอบใหม่

ขณะที่อีกด่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัย โดยระบุรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงมีหลักฐานปรากฎว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนในวันรับสมัครเลือกตั้งซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เสียงสะท้อนจากผู้นำภาคเอกชน หากการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่มีความล่าช้าจะมีผลกระทบประเทศไทยอย่างไรบ้างนั้น

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาคเอกชนยังคาดหวังการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะยังเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่ได้มีการกำหนดออกมาชัดเจนแล้ว และเชื่อว่า ส.ส. และส.ว.ทุกคนมีดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อให้กระบวนการทางรัฐสภาสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นตามกรอบที่วางไว้ และเอกชนยังคงคาดหวังว่าทุกฝ่ายจะช่วยกันสนับสนุนให้เกิดรัฐบาลใหม่โดยเร็วที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามในระหว่างการรอจัดตั้งรัฐบาลใหม่นี้ ภาพที่เห็นคือนักลงทุนต่างประเทศยังมีความลังเล และชะลอการลงทุน ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญกับทิศทางการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ รวมถึงหากการจัดตั้งรัฐบาลมีความล่าช้าจะส่งผลให้การจัดทำงบประมาณ และนโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆ ล่าช้าไปด้วย ซึ่งจะกระทบต่อภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันเอกชนในประเทศก็ต้องปรับรูปแบบและแนวทางการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับหลายนโยบายที่ว่าที่รัฐบาลใหม่จะนำมาใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องค่าแรงขั้นตํ่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายด้านภาษี เหล่านี้ล้วนต้องรอความชัดเจน

ดังนั้นเอกชนหวังว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ควรเป็นไปอย่างรวดเร็วไม่ยืดเยื้อ เพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายต่าง ๆ ในการเดินหน้าเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมได้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้

บิ๊กเอกชนกังวล ตั้งรัฐบาลล่าช้า ฉุดเศรษฐกิจถอยหลัง

  • หวังเร่งกระตุ้นศก.รับมือแล้ง

สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่ภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลใหม่เข้ามาดำเนินการใน 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.รัฐบาลชุดใหม่ควรเร่งใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะการรวบรวมและเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐในส่วนต่าง ๆ ให้รวดเร็วและมากที่สุด ตลอดจนเร่งจัดทำงบประมาณที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 2.รักษาเสถียรภาพของค่าเงิน โดยภาคเอกชนเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทของไทยมีความผันผวนไม่แน่นอน ซึ่งการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทจะช่วยลดความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจ สร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ โดยเห็นว่าปัจจุบันค่าเงินที่อยู่ในระดับ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯเป็นระดับที่เหมาะสม ภาคส่งออกสามารถแข่งขันได้

3.ปัญหาภัยแล้ง ปีนี้สัญญาณภัยแล้งจากเอลนีโญมีความชัดเจน หากรัฐบาลใหม่เข้ามาควรเร่งเตรียมแผนรับมือทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นควรมีการบูรณาการแผนการใช้นํ้า และการกักเก็บนํ้าอย่างมีระบบ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและพื้นที่อุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้นํ้ามาก เชื่อว่าหากมีการวางแผนที่ดีจะช่วยให้ภาคการเกษตรมีผลผลิตที่เพียงพอ ไม่ขาดแคลน ซึ่งจะช่วยให้ภาคการเกษตรสามารถเติบโตและจะเป็นส่วนเสริมภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยด้วย

  • หวั่นกระทบท่องเที่ยวทุบจีดีพี

ขณะที่ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจเอกชนอยากให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่เป็นไปตามไทม์ไลน์คือภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพราะหากการจัดตั้งรัฐบาลมีความล่าช้าออกไปมากเท่าไร จะยิ่งสร้างปัญหาตามมา รวมถึงจะฉุดรั้งเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นการลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศ และอาจกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว เพราะหากมีการประท้วงหรือเดินขบวนจะทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวไม่ดี นักท่องเที่ยวที่วางแผนจะมาเที่ยวไทยช่วงไฮซีซั่นปลายปีนี้อาจเปลี่ยนแผนไปประเทศอื่น

บิ๊กเอกชนกังวล ตั้งรัฐบาลล่าช้า ฉุดเศรษฐกิจถอยหลัง

อย่างไรก็ดีในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.ประจำเดือนกรกฎาคมล่าสุดยังคงคาดการณ์ขยายตัวของจีดีพีไทยปีนี้ไว้ที่ 3.0-3.5% เพราะเห็นว่าแม้เครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักคือภาคการส่งออกยังติดลบต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดย กกร.ได้ปรับคาดการณ์ส่งออกลดลงเป็น -2.0% ถึง 0.0% แต่ยังคาดหวังเครื่องยนต์จากภาคการท่องเที่ยวปีนี้น่าจะดี โดยคาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามา 28-30 ล้านคน นำเม็ดเงินเข้าประเทศกว่า 2 ล้านล้านบาท หากสถานการณ์ทางการเมืองไม่มีเหตุการณ์แทรกซ้อน ไม่มีเรื่องการประท้วงหรือเดินขบวน สร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวที่ดีต่างชาติยังมาตามแผนเดินทางเดิม จะส่งผลต่อการขยายตัวของจีดีพีประเทศได้

สำหรับเรื่องที่อยากให้รัฐบาลใหม่เร่งผลักดันในลำดับต้น ๆ คือการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน การกระตุ้นเศรษฐกิจ การสร้างความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศเพื่อดึงการลงทุน และท่องเที่ยว การกิโยติน(ยกเลิก) กฎหมายที่ล้าสมัยที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ เร่งผลักดันการส่งออกไปยังตลาดที่ยังขยายตัวได้ เช่น จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐฯ และยุโรปที่ชะลอตัว และเร่งเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ใหม่ ๆ เพื่อสร้างแต้มต่อให้ภาคส่งออกไทย

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3905 วันที่ 16 -19 กรกฎาคม พ.ศ. 2566