ส่อแววล่ม! ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลตีตก MOU ก้าวไกล

19 พ.ค. 2566 | 17:35 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ค. 2566 | 17:51 น.
2.2 k

ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลปฏิเสธ ไม่เอา MOU ก้าวไกล โดย"เพื่อไทย" ค้านนิรโทษกรรมหวั่นถูกจับโยงเอื้อประโยชน์ช่วย "ทักษิณ" ขณะ"ประชาชาติ"ค้านสมรสเท่าเทียม-สุราเสรี เหตุขัดหลักศาสนา


19 พ.ค. 2566 รายงานข่าวจาก พรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดเผยว่า ข้อตกลงร่วมหรือ MOU ที่ พรรคก้าวไกล ส่งมาให้พรรคร่วมพิจารณานั้น เป็นการลงรายละเอียด โดยยึดหลักนโยบายของพรรคก้าวไกลเป็นหลัก อาทิ คืนความยุติธรรมจากผู้ได้รับผลกระทบรัฐประหาร ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมือง โดยไม่รวมความผิดคดีคอร์รัปชัน และเป็นอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย

ทั้งนี้ พรรคร่วมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย โดยพรรคเพื่อไทยมองว่า หากผลักดันเรื่องดังกล่าว ก็จะถูกโยงว่าทำไปเพื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทางพรรคจึงจะไม่ร่วมเซ็นในเอ็มโอยูหากมีประเด็นนี้ แต่ถ้าพรรคก้าวไกลจะเสนอในนามพรรคในวาระต่อไปก็ไม่ติดใจ

พันธมิตรว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล

ในขณะที่พรรคประชาชาติ ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการผูกขาดอุตสาหกรรมผลิตสุรา และการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพราะขัดกับหลักศาสนาอิสลามที่เป็นฐานเสียงหลักของพรรคประชาชาติ

ในภาพรวม จากประเด็นที่พรรคก้าวไกลเสนอมาในเอ็มโอยูนั้น ทุกพรรคร่วมฯเห็นว่า เป็นประเด็นที่ผูกมัดบีบให้ทุกพรรคยอมรับในเงื่อนไขของพรรคก้าวไกลมากเกินไป จึงอยากให้ปรับโดยเขียนเป็นหลักการกว้างๆ ไว้ก่อน แล้วค่อยนำนโยบายของแต่ละพรรคมาปรับใช้ในภายหลัง 

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาไม่มีการพูดถึงการแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งประเด็นนี้ทุกพรรคเห็นด้วย เพราะไม่มีใครอยากให้นำประเด็นนี้มาผูกมัดในเอ็มโอยู

รายงานข่าวยังระบุว่า ในเอ็มโอยูยังได้กล่าวถึงการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีว่า จะคำนึงถึงความเป็นธรรม เหมาะสม และสอดคล้องกับนโยบายพรรค ให้เกียรติ จริงใจ สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน หากใครได้ตำแหน่งรัฐมนตรีแล้วประพฤติในทางมิชอบ ต้องยุติการดำรงตำแหน่ง แต่ในเรื่องของการจัดสรรโควตารัฐมนตรีนั้น แกนนำพรรค พท. ยังไม่ได้รับการประสานอย่างเป็นทางการจากแกนนำพรรคก้าวไกล และยังไม่อยากให้คุยไปไกลถึงเรื่องดังกล่าว

สุดท้าย อยากให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยก่อน และแปลกใจกับข่าวบางกระแสที่ออกมา ไม่เข้าใจว่าคนที่ปล่อยมีเจตนาจองเก้าอี้ไว้ก่อนหรือไม่ เพราะปกติการแบ่งโควตานั้น ต้องรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองส.ส.อย่างเป็นทางการ แล้วค่อยนำจำนวน ส.ส.พรรคร่วมมาเฉลี่ยว่า แต่ละพรรคควรได้เก้าอี้อย่างไร เช่นเดียวกับตำแหน่งประธานรัฐสภาที่พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้รับการประสานมาแต่อย่างใด