นโยบายพรรคก้าวไกลมีอะไรบ้าง 100 วันแรกจะทำยังไง เช็คเลยที่นี่

15 พ.ค. 2566 | 09:13 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2566 | 09:13 น.
23.0 k

นโยบายพรรคก้าวไกลมีอะไรบ้าง 100 วันแรกจะทำยังไง เช็คเลยที่นี่ หลังน่าจะได้เป็นพรรคอันดับ 1 ที่ได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล และนายพิธา ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ฐานเศรษฐกิจรวบรวมไว้ให้หมดแล้ว

นโยบายพรรคก้าวไกลมีอะไรบ้าง กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

หลังจากที่พรรคก้าวไกลน่าจะได้เป็นพรรคอันดับ 1 ในการมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้น ความสนใจที่ต้องจับตาหลังจากนี้ก็คือการทำตามนโยบายทีได้หาเสียงไว้

จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับนโยบายพรรคก้าวไกลที่จะทำภายใน 100 วัน จาก 300 นโยบายพรรคก้าวไกล พบว่า

รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

  • ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยมีเนื้อหาที่ครอบคลุมอย่างน้อย 3 ด้าน
  • ปิดช่องรัฐประหาร เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกฉีกได้ง่าย
  • เพิ่มสิทธิของประชาชนในการต่อต้านรัฐประหาร และ กำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร
  • ห้ามศาลทั้งปวงรับรองรัฐประหาร และกำหนดให้ทุกสถาบันทางการเมืองมีหน้าที่ร่วมกันในการปกป้องประชาธิปไตย
  • ห้ามนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร และ เปิดช่องให้ประชาชนดำเนินคดีกับผู้ก่อรัฐประหารในความผิดฐานกบฎได้
  • ปกป้องเสียงของประชาชน ผ่านการรื้อกลไกที่ถูกใช้ในการสืบทอดอำนาจ
  • ยกเลิกวุฒิสภาของ คสช. ทำให้รัฐสภาเป็นของประชาชน อำนาจ-ที่มามีความชอบธรรม
  • ยกเครื่องศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ ทำให้เป็นกลาง มีระบบตรวจสอบที่ยึดโยงกับประชาชน
  • ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้นโยบายเท่าทันโลก และกำจัดข้ออ้างในการไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
  • ปลดล็อกท้องถิ่น เพื่อให้อำนาจในการกำหนดอนาคตของทุกพื้นที่ทุกจังหวัด อยู่ในมือของประชาชนผู้เกิด-ผู้อาศัย-ผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่ ไม่ใช่ส่วนกลาง
  • ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ขีดเขียนโดยประชาชน กล่าวคือรัฐธรรมนูญต้องร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากเลือกตั้ง 100% และมีอำนาจพิจารณาแก้ไขทั้งฉบับ ทุกหมวดทุกมาตรา เพื่อโอบรับความฝันของทุกคนในประเทศอย่างแท้จริง

ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร

  • ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจทั้งหมด โดยไม่กระทบต่อภารกิจในการรักษาความมั่นคง ผ่านการ
  • ลดยอดพลทหารที่กองทัพเรียกขอที่ไม่จำเป็นต่อภารกิจความมั่นคง (เช่น ยอดผี พลทหารรับใช้ งานที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง)
  • สร้างแรงจูงใจในการสมัครเป็นทหาร (เช่น การสร้าง สวัสดิภาพ-สวัสดิการ-ความก้าวหน้าทางอาชีพที่ดี การกำจัดความรุนแรงในค่าย)

เงินเด็กเล็ก เดือนละ 1,200 บาท

  • เพิ่มและขยายเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิด ถึง 6 ปี มาเป็นเงินเด็กเล็กเดือนละ 1,200 บาท โดยให้ทุกคนแบบถ้วนหน้าไม่ตกหล่น

ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี เริ่มทันทีวันละ 450 บาท

  • ปรับระบบค่าแรงขั้นต่ำให้มีการปรับขึ้นทุกปีตามค่าครองชีพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อให้แรงงานได้ร่วมแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมจากการเติบโตของเศรษฐกิจ และเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนธุรกิจของตัวเองในแต่ละปีได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
  • เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้เริ่มต้นที่วันละ 450 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและดัชนีค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทุกปีจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่สมัยที่ค่าแรง 300 บาทต่อวัน ถูกประกาศใช้เมื่อปี 2554
  • แบ่งเบาภาระค่าแรงที่สูงขึ้นสำหรับ SME ในช่วง 6 เดือนแรก โดยการที่รัฐช่วยสมทบค่าประกันสังคมในส่วนของผู้ว่าจ้าง สำหรับแรงงานที่ถูกกระทบโดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

เงินผู้สูงวัยเดือนละ 3,000 บาท

  • เพิ่มเงินผู้สูงวัยให้เป็นอัตราเดียวแบบถ้วนหน้า เดือนละ 3,000 บาท ภายใน 4 ปี เพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และมีความมั่นคงทางการเงินเพิ่มขึ้น

น้ำประปาดื่มได้ทุกพื้นที่

  • ออกกฎหมายควบคุมมาตรฐานคุณภาพน้ำประปา
  • ปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำประปาทั่วประเทศ
  • อุดหนุนงบประมาณปีละ 7,500 ล้านบาท เป็นแผนระยะยาว 8 ปี
  • วางเป้าหมายให้ประชาชนสามารถดื่มน้ำสะอาดจากก๊อกน้ำได้ ภายใน 10 ปี ลดภาระค่าครองชีพของประชาชนในการซื้อน้ำดื่ม-น้ำใช้

เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด

  • จัดให้มีประชามติภายใน 1 ปี เพื่อถามประชาชนว่าเห็นชอบหรือไม่ ให้มีการยกเลิกผู้ว่าฯแต่งตั้ง เพื่อให้ทุกจังหวัดมีผู้บริหารสูงสุดที่มาจากการเลือกตั้ง
  • หากประชามติได้รับความเห็นชอบจากประชาชน จะปูทางไปสู่
  • การเปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหารจังหวัด จากเดิมที่มีผู้บริหารจังหวัด 2 คน (ผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้ง + นายกฯ อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้ง) ไปสู่รูปแบบใหม่ที่มีผู้บริหารจังหวัด 1 คน (ผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง)
  • การแบ่งโครงการสร้างการบริหารประเทศเป็น 3 ระดับ ที่ล้วนนำโดยผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตั้งแต่ระดับประเทศ นำโดยนายกรัฐมนตรี ระดับจังหวัด นำโดยนายกจังหวัดหรือผู้ว่าฯจังหวัด และระดับเล็กกว่าจังหวัด นำโดยนายกเทศมนตรี / นายก อบต. / นายกเขต

เปิดข้อมูลรัฐทันที ประชาชนเป็นเจ้าของ

  • ข้อมูลของรัฐ คือข้อมูลที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของ รัฐมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล
  • ข้อมูลของรัฐ ต้อง “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” (Open by Default) โดยหากจะปกปิด ต้องร้องขอด้วยเหตุผลที่สมควรเท่านั้น (เช่น ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลที่ต้องลับ)
  • ข้อมูลที่ถูกตีตราว่าเป็นข้อมูล “ความลับราชการ” จะต้องไม่ลับตลอดกาล โดยกำหนดระยะเวลาที่ข้อมูลจะต้องเป็นความลับ และถูกเปิดเผยทั้งหมดเมื่อระยะเวลาสิ้นสุดลง
  • ข้อมูลจะต้องถูกเปิดในรูปแบบที่นำไปวิเคราะห์ต่อได้ (machine readable) เพื่อความสะดวกของประชาชนในการตรวจสอบ (เช่น ถ้าเป็นข้อมูลตัวเลข ก็ควรเป็นรูปแบบ Excel)
  • การประชุมกรรมาธิการทุกคณะของรัฐสภา ต้องมีการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าไปดูย้อนหลังได้ เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าผู้แทนของพวกเขา เข้าไปพูดหรือทำอะไร

ออกแบบหลักสูตรใหม่ เน้นทักษะที่ได้ใช้จริง

  • ร่างหลักสูตรใหม่ภายใน 1 ปี และค่อยๆ ปรับใช้จนสามารถใช้ในทุกระดับชั้นได้ภายใน 4 ปี
  • หลักสูตรจะเน้นการสอนทักษะ-สมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพ (เช่น คิดวิเคราะห์ สื่อสาร ทำงานเป็นทีม เห็นอกเห็นใจผู้อื่น) และการใช้ชีวิต (เช่น ความรู้ทางการเงิน ความรู้ด้านสุขภาพ)
  • ปรับการสอนทุกวิชาให้มุ่งเน้นทักษะสมรรถนะเป็นหลัก (เช่น การสอนภาษาอังกฤษที่เน้นทักษะการสื่อสาร หรือการสอนประวัติศาสตร์ที่เน้นการวิเคราะห์-ถกเถียง-แลกเปลี่ยน)
  • ปรับรูปแบบการเรียนการสอนแนะแนว ที่เน้นการเชื่อมกับโลกภายนอกและกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียนที่ช่วยให้ผู้เรียนค้นพบตัวเอง
  • เพิ่มกิจกรรมทดลองเรียนรู้จากงานจริง หรือ job shadow การจัดคลินิกให้คำปรึกษา 1-ต่อ-1 การจัดสรรบัญชีวิทยากรจากภายนอกในอาชีพที่เด็กสนใจ

กองทุนพิสูจน์สิทธิ 10,000 ล้านบาท ยุติข้อพิพาท-ออกเอกสารสิทธิให้เกษตรกร

  • เร่งแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดิน โดยมีเป้าหมายในการออกเอกสารสิทธิ์รวมกัน 10 ล้านไร่ ภายใน 4 ปี ให้เกษตรกรและประชาชนที่ผ่านการพิสูจน์สิทธิ ด้วยการ ตั้งกองทุนพิสูจน์สิทธิ 10,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มบุคลากร อุปกรณ์ และ ระบบ RTK รังวัดที่ดินด้วยดาวเทียม ที่ต้องใช้ในกระบวนการพิสูจน์สิทธิให้ประชาชน โดยการใช้ข้อมูลหลักฐานต่างๆ ทั้งจากภาพถ่ายทางอากาศ หลักฐานราชการ และหลักฐานของชุมชน/ประชาชน
  • ยกเครื่องกฎหมายที่ดินทั้งหมด 7 ฉบับ เช่น พรบ. ป่าไม้ พรบ. ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อแก้ไม่ให้มีการลิดรอนสิทธิในการครอบครองที่ดินของประชาชนที่พักอาศัยหรือทำมาหากินในที่ดินดังกล่าวมาก่อน

ค่าไฟแฟร์ ถูกและเป็นธรรมสำหรับประชาชน

  • ลดค่าไฟให้กับประชาชนได้อย่างน้อย 70 สตางค์/หน่วย (เฉลี่ยบ้านละ 150 บาท) โดยปรับนโยบายเพื่อให้ความสำคัญกับประชาชนก่อนกลุ่มทุน (เช่น การเปลี่ยนนโยบายก๊าซธรรมชาติให้โรงแยกก๊าซร่วมหารต้นทุนก๊าซใน Energy Pool ด้วย และให้ก๊าซจากอ่าวไทยขายให้โรงไฟฟ้าก่อนโรงงานอุตสาหกรรม หรือขายก๊าซให้โรงงานอุตสาหกรรมในราคา LNG เพื่อให้ก๊าซจากอ่าวไทยราคาถูกกว่าป้อนโรงไฟฟ้าได้มากขึ้น)
  • เจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับสัมปทานทุนใหญ่พลังงานใหม่ เพื่อลดต้นทุนที่เกิดขึ้นจากค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง

กำหนดเพดานปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม เปิดตลาดค้าขายแลกเปลี่ยน (cap & trade)

  • กำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมที่สำคัญ (เช่น ซีเมนต์ ปิโตรเคมี เหล็ก/โลหะ กระดาษ) โดยรัฐ และตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกในรายอุตสาหกรรม
  • เปิดตลาดสำหรับการค้าขายแลกเปลี่ยนโควต้าหรือเครดิตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กรอบเพดานปริมาณที่รัฐกำหนด
  • สนับสนุน green finance เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับอุตสาหกรรมที่ลงทุนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ตรวจสุขภาพประจำปี ฟรีทั้งค่าตรวจ-ค่าเดินทาง

  • ตรวจสุขภาพประจำปีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต พร้อมกับให้ค่าเดินทางสำหรับเดินทางมาตรวจสุขภาพ

เพิ่มแต้มต่อให้ SME หวยใบเสร็จ ซื้อของร้านค้ารายย่อย ทั้งคนซื้อคนขายได้หวย ลุ้นรวยเงินล้าน

  • เพิ่มลูกค้าให้ SMEs โดยการเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนที่เลือกซื้อสินค้า SME ได้รับแถมสลากกินแบ่งของรัฐบาลไปลุ้นรางวัล
  • สำหรับคนซื้อ หรือ ประชาชนทั่วไป: เมื่อซื้อสินค้าจาก SMEs ครบ 500 บาท สามารถแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ 1 ใบ (จำกัดไม่เกิน 2 ใบ/คน/เดือน และ จำนวน 10 ล้านคน/เดือน)
  • เพิ่มโอกาสลุ้นหวยให้ SMEs โดยการนำยอดขายมาแลกเป็นสลากกินแบ่งของรัฐบาลได้ด้วย
  • สำหรับคนขาย หรือ ผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการ: เมื่อขายสินค้าครบ 5,000 บาท สามารถแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ 1 ใบ

รถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด - เติมเงินให้ท้องถิ่น เพิ่มขนส่งสาธารณะ

  • อุดหนุนงบประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่อผลักดันในการเกิดการลงทุนเดินรถเมล์ไฟฟ้า ในทุกเมือง ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ และทำให้ค่าโดยสารรถเมล์อยู่ในราคาที่เหมาะสม ไม่เป็นไปภาระกับประชาชนเกินควร
     

นโยบาย 100 วันแรก

  • ประชามติ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
  • ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกในชายแดนใต้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการคลี่คลายสถานการณ์รุนแรง
  • ประชามติยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ไม่มีใครตกงาน-เสียประโยชน์ โดยจัดให้มีประชามติภายใน 1 ปี เพื่อถามประชาชนว่าเห็นชอบหรือไม่ ให้มีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และโอนถ่ายอำนาจการบริหารจังหวัดไปสู่ท้องถิ่น
  • ยกเลิกกฎระเบียบและคำสั่ง คสช. ที่ล็อกคอ-ล้วงลูกท้องถิ่น
  • ห้ามใช้เงินหลวง โปรโมทตัวเอง ตรวจสอบการใช้งบประชาสัมพันธ์ภาครัฐอย่างเข้มข้น และกำหนดว่าการใช้งบจะต้องเป็นการโฆษณาโครงการหรือผลงานของหน่วยงานเท่านั้น 
  • กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน
  • ครูละเมิดสิทธิ พักใบประกอบทันที
  • เลิกให้ครูนอนเวร เพื่อให้คุณครูสามารถโฟกัสไปที่การเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มที่
  • ยกเลิกพิธีรีตองในการประเมินครู-รับแขก เช่น การจัดแต่งอาคารสถานที่ต้อนรับผู้ประเมิน) เพื่อให้คุณครูสามารถโฟกัสไปที่การเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มที่
  • เปลี่ยนนิคมสหกรณ์เป็นโฉนดทันที
  • หยุดบังคับติดตั้งระบบ AIS ยกเลิกนโยบายกำหนดให้เรือประมงพาณิชน์ติดตั้งระบบ AIS ที่ซ้ำซ้อนกับ VMS ที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้เหลือเพียงระบบเดียว
  • ค่าไฟแฟร์ ถูกและเป็นธรรมสำหรับประชาชน
  • หลังคาสร้างรายได้ เปิดเสรีโซลาร์เซลล์ ประกันราคาซื้อพลังงานสะอาดสำหรับครัวเรือน
  • ลดรายจ่าย SME: หักค่าใช้จ่ายเหมาภาษี เพิ่มจาก 60% เป็น 90%
  • เพิ่มแต้มต่อให้ SME: หวยใบเสร็จ ซื้อของร้านค้ารายย่อย ทั้งคนซื้อคนขายได้หวย ลุ้นรวยเงินล้าน
  • เพิ่มลูกค้าให้ SMEs โดยการเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนที่เลือกซื้อสินค้า SME ได้รับแถมสลากกินแบ่งของรัฐบาลไปลุ้นรางวัล