พบช่อง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ส่อรอดปมถือหุ้นสื่อ

10 พ.ค. 2566 | 17:04 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ค. 2566 | 17:42 น.
3.3 k

พบช่อง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ส่อรอดปมถือหุ้นสื่อ เหตุรายได้บริษัท ไอทีวี ไม่ได้มาจากการทำธุรกิจ แต่มาจากผลตอบแทนจากเงินลงทุนและดอกเบี้ย

กรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ  ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบว่าการที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคดดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคก้าวไกล มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่ เนื่องจากมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นสื่อ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น

สำหรับรัฐธรรมนูญมาตรา 98 เป็นบทบัญญัติที่ห้ามบุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยใน (3) บัญญัติว่า เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ 

ขณะที่นายพิธา ออกมาระบุว่า หุ้นดังกล่าวไม่ใช่ของตนเอง เป็นกองมรดก และตัวเองเป็นผู้จัดการมรดก และเคยหารือเรื่องนี้กับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายรายมีความเห็นว่า คำชี้แจงของนายพิธามีน้ำหนักไม่เพียงพอตามหลักกฎหมาย อาจเข้าข่ายส่อขาดคุณสมบัติ ลงสมัคร ส.ส.หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) บัญญัติห้ามมิให้บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจในกรณีดังกล่าวว่า ประเด็นนี้หลักกฎหมายระบุชัดเจนว่า หากหุ้นของผู้ตายยังไม่ถูกแบ่งโดยผู้จัดการมรดก หุ้นนั้นก็ยังอยู่ในชื่อของผู้ตาย แต่ถ้าหากอยู่ในชื่อของผู้อื่นแสดงว่าหุ้นนั้นถูกแบ่งไปให้ผู้มีชื่อแล้ว หุ้นนั้นก็เป็นหุ้นของผู้มีชื่อนั้นไม่ใช่หุ้นของกองมรดก

ถ้าหากมีการแก้ไขในบัญชีผู้ถือหุ้นว่าเป็นของกองมรดก ก็ต้องระบุว่าเป็นหุ้นของกองมรดกใด ถือไว้ในนามของผู้จัดการมรดกชื่ออะไร ซึ่งไม่มีความจำเป็นที่ต้องไปแก้ให้เป็นเช่นนั้น

นอกจากนี้ในแบบ บมจ 006 หากดูจากบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทมหาชนจำกัดที่ต้องนำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า ในใบหุ้นเป็นชื่อของนายพิธาอย่างเดียว จึงน่าจะมีการโอนหุ้นมาเป็นชื่อตัวเองแล้วครบถ้วนบริบูรณ์ เพราะตามปกติ ถ้าเป็นผู้จัดการมรดกใน บมจ 006 ต้องมีวงเล็บตามหลังว่า ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดก แต่ของนายพิธา นั้นไม่มี

อย่างไรก็ตามฐานเศรษฐกิจได้ตรวจสอบงบการเงินของบริษัทไอทีวี พบประเด็นสำคัญที่นายพิธาจะนำไปต่อสู่ทางข้อกฎหมายว่า ปัจจุบันไอทีวี ไม่ได้ดำเนินธุรกิจสื่อสารมวลชนแล้ว คือกรณี บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โทมัสสุ บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชี รายงานไว้ในงบการเงินเกี่ยวกับรายได้ของไอทีวีในปี 2564 จำนวน 23,683,771 บาท เป็นรายได้จากการดำเนินธุรกิจมาจากผลตอบแทนมาจากเงินลงทุนและดอกเบี้ย ไม่มีรายรายได้จากการดำเนินธุรกิจสื่อ หรือกิจการอื่นใดปรากฎอยู่ในงบการเงินของบริษัท 

บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โทมัสสุ  ยังระบุไว้ในรายงานงบการเงิน บริษัท ไอทีวี จํากัด (มหาชน) “บริษัท” เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย

บริษัทใหญ่ในระหว่างปี ได้แก่ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย และถือหุ้น ของบริษัท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ในอัตราร้อยละ 52.92

บริษัทเคยจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2545 และเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ออกประกาศมาให้เพิกถอนหุ้นสามัญของบริษัทจากการเป็นหลักทรัพย์ จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นไป

บริษัทเคยดำเนินธุรกิจหลักเกี่ยวกับการดำเนินการสถานีโทรทัศน์ภายใต้สัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ ระบบ ยู เอช เอฟ (“สัญญาอนุญาตให้ดำเนินการ”) ที่ได้รับจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงานปลัดฯ”) สื่อโฆษณา และการผลิตรายการ โดย ณ วันที่ 7 มีนาคม 2550 สำนักงานปลัดฯ ได้เพิกถอนสัญญาอนุญาตให้ดำเนินการ ดังกล่าวส่งผลให้บริษัทต้องหยุดดำเนินกิจการ

ประเด็นนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายให้ความเห็นกับฐานเศรษฐกิจว่า การที่บริษัทไอทีวีไม่ได้มีรายได้จากการดำเนินธุรกิจสื่อ เป็นช่องทางหนึ่งที่นายพิธาสามารถใช้เป็นข้อต่อสู้ทางกฎหมาย เพราะจะดูเฉพาะวัตถุประสงค์การจดทะเบียนบริษัทอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองถึงที่มาของรายได้บริษัท และอำนาจในการควบคุมบริษัทของนายพิธา และดูว่าบริษัทมีการประกอบธุรกิจสื่อหรือไม่ประกอบด้วย

พบช่อง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ส่อรอดปมถือหุ้นสื่อ

 

ประเด็นนี้มองและตีความได้หลายแบบ ต่างจากกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่แม้บริษัทจะเลิกกิจการไปแล้ว แต่ยังมีรายได้จากการประกอบธุรกิจสื่อ

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ให้ความเห็นกับฐานเศรษฐกิจต่อกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตกรณีการถือหุ้นของนายพิธาที่อาจมีการอ้างบริษัทไอทีวีที่ตนเองถืออยู่นั้นรายได้มาจาก "ดอกเบี้ย" และ "เงินปันผล" ซึ่งนายพิธาอาจจะนำมาเป็นข้อต่อสู้ได้หรือไม่นั้น มองว่า เป็นคนละเรื่องกัน

ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา คือ เรื่องของหนังสือบริคณห์สนธิ และบริษัทดังกล่าวนั้นยังดำเนินกิจการอยู่หรือไม่ อย่างไรก็ดี เรื่องดังกล่าวขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กกต.ว่าจะดำเนินการเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร