เลือกตั้ง 2566 : เนชั่นวิเคราะห์เลือกตั้ง ส.ส. ภาคเหนือ 16 จังหวัด

21 เม.ย. 2566 | 15:05 น.
อัปเดตล่าสุด :21 เม.ย. 2566 | 16:01 น.
2.1 k

เลือกตั้ง 2566 : เนชั่นวิเคราะห์สนามเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 16 จังหวัดภาคเหนือ ครั้งที่ 1 ผู้สมัครพรรคไหน ใครนำ คลิกอ่านรายละเอียดได้ที่นี่

ศึกเลือกตั้ง 66 ระดับชาติคึกคักเหล่าบรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองต่างลงพื้นที่หาเสียงกันดุเดือดแบบไม่มีใครยอมใคร แต่หากเจาะลึกลงไปจะพบข้อมูลที่น่าสนใจ โดย "เนชั่นวิเคราะห์"  ครั้งที่ 1 จะพาไปล้วงลึกกันแต่ละจังหวัดแบบรายเขตกันเลยว่า พรรคไหน ผู้สมัครคนใดกระแสตอบรับจากพื้นที่เป็นอย่างไรกันบ้าง 

“เนชั่นวิเคราะห์” สนามเลือกตั้งภาคเหนือ

1.จังหวัดกำแพงเพชร 

จังหวัดกำแพงเพชร การเลือกตั้งในปี 2562 แชมป์เก่าเป็นของพลังประชารัฐ (พปชร.) ยกจังหวัดในทุกเขต สำหรับการเลือกตั้งปี 2566 ก็ยังคงมีแนวโน้มที่พลังประชารัฐจะแลนด์สไลด์ยกจังหวัดได้เช่นเดิมแม้จะมีกระแสพรรคเพื่อไทยและกระแส "อุ๊งอิ๊ง" มาแรงแต่ก็ยังเชื่อว่า ในโค้งแรกยังไม่แรงพอที่จะล้มทีมพลังประชารัฐที่ล้วนแต่เป็นศิษย์เก่าพรรคเพื่อไทยลงได้ 

เขตเลือกตั้งที่ 1 

ยังคงเป็นของเจ้าถิ่นอย่างนายไผ่ ลิกค์ ส.ส.แห่งพรรคพลังประชารัฐ สโลแกน "ใจถึงพึ่งได้" ซึ่งลงพื้นที่เก็บคะแนนเสียงมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีคู่แข่งอย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย ก็ไม่ได้สร้างความหนักใจให้กับเจ้าถิ่น ด้วยเพราะลงพื้นที่มานานและยังได้รับการยอมรับจากชาวกำแพงเพชร

เขต 1 ไผ่ ลิกค์ จากพรรคพลังประชารัฐนำขาด

เขตเลือกตั้งที่ 2 

บอกได้เลยว่า เขตนี้เป็นเขตเลือกตั้งท้าทายของการช่วงชิง เสมือน "เล่นเก้าอี้ดนตรี" หรือมวยคู่เอก จังหวะใครดีก็ได้แต่ที่มาแรงคงหนีไม่พ้น นายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ แห่งพลังประชารัฐ ที่มีสมัครพรรคพวกคนเก่าแก่ที่ยังหนุนอยู่เป็นตัวช่วย และยังมีบารมีของพ่ออย่าง พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ อดีตส.ส.หลายสมัยที่ต้องคดีและหลบอยู่ในเงามืด

เขตเลือกตั้งที่ 2 นี้ นายเพชรภูมิ พลังประชารัฐยังนำขาด

เขตเลือกตั้งที่ 3 

ยังเป็นแชมป์เก่าอย่าง นายอนันต์ ผลอำนวย แห่งพรรคพลังประชารัฐ ทั้งผลงาน ทั้งการลงพื้นที่ เครือข่ายท้องถิ่นแน่นปึ๊ก และอดีตคู่แข่งที่ฟัดกันมาหลายสมัยจากพรรคประชาธิปัตย์ ตอนนี้ไปลงสมัครเป็นนายก อบต.ไปแล้ว แม้จะมีขวากหนามก้างขวางคอชิ้นใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยที่ส่ง นายจรัญ อิสระบัณฑิตกุล อดีต ส.จ.เข้ามาท้าชิง แต่คู่แข่งไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

เขต 3 นายอนันต์ พลังประชารัฐนำขาด

เขตเลือกตั้งที่ 4 

น่าจะเป็นเขตที่พอจะมีสีสันและแชมป์เก่าอย่าง นายปริญญา ฤกษ์หร่าย จากพรรคพลังประชารัฐ จำเป็นต้องออกแรงมากขึ้นเพราะคู่แข่งอย่าง นายธานันท์ หล่าวเจริญ ค่ายเพื่อไทย ถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุด เมื่อเทียบกับผู้มัครจากพรรคเพื่อไทยในเขตอื่น ๆ เพราะนายธานันท์ลงสนามเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง และลงสมัครมาแล้วหลายพรรค ทำให้มีฐานคะแนนเสียงส่วนตัวเป็นกอบเป็นกำอยู่หลายหมื่น

เลือกตั้งครั้งนี้เมื่อต้องลงสมัครในเขตเลือกตั้งที่ 4 ที่เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม จึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้นายธานันท์ ขยับเข้ามาเป็นผู้ท้าชิงนายปริญญาที่น่าจับตามองที่สุด แต่ท้ายที่สุดในโค้งแรกคอการเมืองยังให้นายปริญญา จากพรรคพลังประชารัฐแชมป์เก่าได้เปรียบอยู่หลายช่วงตัว 

เขต 4 นายปริญญา จากพลังประชารัฐ นำแบบมีนายธานันท์ จากเพื่อไทยตามมาห่าง ๆ แบบพอมีลุ้น 

สรุปการประเมินยกแรก พรรคพลังประชารัฐยังคงรักษา  4 เขตกำแพงเพชรได้อย่างเหนียวแน่น

2. จังหวัดเชียงราย 

การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 จังหวัดเชียงรายถือว่า พลิกความคาดหมายของคอการเมืองในหลายเขตแบบหักปากกาเซียน เมื่อพรรคน้องใหม่อย่างอนาคตใหม่เอาชนะเจ้าถิ่นอย่างเพื่อไทยไปได้ถึง 2 เขต คือ เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 6

การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยที่หมายมั่นจะสร้างปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ จึงต้องทุ่มทุกสรรพกำลังเพื่อทวงคืน 2 เก้าอี้กลับมาให้ได้ และรอบนี้ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่เป็นเจนอเรชั่นที่ 2 ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาแก้จุดอ่อนสำคัญของพรรคเพื่อไทยในครั้งก่อน 

เขตเลือกตั้งที่ 1  

ร.ต.อ.ธนรัช จงสุทธนามณี ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย แม้จะเป็นน้องใหม่ถอดด้ามแต่ก็ถือว่า มีฐานเสียงแน่นเพราะเป็นลูกชายของนายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย และนางรัตนา จงสุทธนามณี อดีต ส.ส.เชียงราย หลายสมัยซึ่งมีฐานเสียงในเขตเทศบาลนครเชียงราย ต.เวียง ต.รอบเวียง ต.ริมกก

รอบนี้ยังเจอศึกหนักจากพรรคก้าวไกลเจ้าของพื้นที่เขตนี้ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เมื่อก้าวไกลส่ง "ปั๋น"  นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการสโมสรฟุตบอลเชียงราย ยูไนเต็ด ลงสมัคร 

นอกจากฐานเสียงก้าวไกลในเขตนี้ที่มาจากคนรุ่นใหม่ในพื้นที่แล้ว นายชิตวัน ยังได้รับการสนับสนุนจาก นายมิตติ ติยะไพรัช เจ้าของสโมสรเชียงราย ยูไนเต็ดด้วย เนื่องจากตระกูลติยะไพรัช ไม่สบายใจกับการที่พรรคเพื่อไทย ตัดสินใจเลือกตัวแทนจากตัวตระกูล จงสุทธนามณี มาลงสนามเขตนี้ 

เขตนี้อาจมีผลให้พรรคเพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์ในเชียงราย เพราะจากฐานเสียงพรรคก้าวไกล และฐานเสียงของตระกูลติยะไพรัช ทำให้นายชิตวันเหนือกว่า ร.ต.อ.ธนรัช ในระดับหนึ่ง และน่าจะเป็นเขตที่แข่งกันดุเดือดและสูสีอีกเขตหนึ่ง

ยกแรกยังให้ นายชิตวัน จากก้าวไกล นำร.ต.อ.ธนรัช จากเพื่อไทยแบบหาดใจรดต้นคอ 
  
เขตเลือกตั้งที่ 2 

แม้จะมีการจัดเขตเลือกตั้งใหม่โดยมีการนำ ต.นางแล ต.แม่ข้าวต้ม ต.ท่าสุด อ.เมืองเชียงราย ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของตระกูลติยะไพรัช ไปร่วมกับ อ.เวียงชัย และ อ.เวียงเชียงรุ้ง รวมทั้งนำเอา ต.แม่จัน ต.ป่าตึง ต.ป่าซาง ต.ท่าข้าวเปลือก และ ต.สันทราย อ.แม่จัน

แต่เชื่อว่าไม่น่าจะกระทบต่อการที่ "น้องโฮม" นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ลูกสาวของนายยงยุทธ ติยะไพรัช จะเดินเข้าสู่สภาเป็นสมัยแรกในนามพรรคเพื่อไทยได้ เพราะคาดว่า ชาวบ้านจะยังเทคะแนนเสียงให้กับพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม 

เขตเลือกตั้งที่ 3 

นายวิกรม เตชะธีราวัฒน์ บุตรชายของนายวิสิษฐ์ เตชะธีราวัฒน์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในเขตนี้ โดยยังคาดว่า คะแนนเสียงส่วนใหญ่ที่เคยมีให้พ่อจะถูกถ่ายโอนมายังนายวิกรม ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีบารมีของพ่อสนับสนุนอยู่ 

เขตนี้นายวิกรม เพื่อไทยยังนำขาด

เขตเลือกตั้งที่ 4 

น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ลูกสาวของนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย โดยในพื้นที่ยังถือว่า มีฐานเสียงแน่น และยังคะแนนคาดว่า ยังคงจะเกินร้อยละ 80 ของจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

เขต 4 นางสาววิสาระดี เพื่อไทยนำขาด
 
เขตเลือกตั้งที่ 5 

เป็นเขตเดียวที่พรรคเพื่อไทยต้องออกแรงหนักอีกเขตนอกจากเขต 1 เมื่อนายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทยหลายสมัย ที่มีฐานเสียงส่วนตัวในพื้นที่ค่อนข้างหนาแน่น ตัดสินใจย้ายพรรคข้ามขั้วไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย

ทำให้เขตนี้พรรคเพื่อไทยตกที่นั่งลำบาก เพราะฐานเสียงเดิมในพื้นที่เป็นของนายรังสรรค์ทั้งพื้นที่อ.เทิง อ.ขุนตาล อ.พญาเม็งราย และ ต.บุญเรือง อ.เชียงของ ขณะที่ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ อดีตผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสียเปรียบด้านฐานเสียงส่วนตัว 

อย่างไรก็ตาม แม้ฐานเสียงส่วนตัวจะเป็นรองแต่กระแสพรรคเพื่อไทยที่มาแรงในภาคเหนือ ทำให้นายเทอดชาติ ยังครองความได้เปรียบนายรังสรรค์ และมีโอกาสออกนำจนเข้าป้ายได้ในที่สุด

การประเมินยกแรก นายเทอดชาติ จากเพื่อไทยนำจากกระแสพรรคเพื่อไทยและกระแส "อุ๊งอิ๊ง" ที่แรงพอที่จะกลบกระแสฐานคะแนนส่วนตัวของนายรังสรรค์ได้

เขตเลือกตั้งที่ 6 

นายอิทธิเดช แก้วหลวง อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย โดยครั้งนี้ลงสมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย จะกลับมาทวงบัลลังก์คืนจากพรรคอนาคตใหม่ที่ชนะเลือกตั้งไปเมื่อปี 2562 ได้ค่อนข้างแน่ 

เขต 6 นายอิทธิเดช จากพรรคเพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 7 

นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.ลูกหม้อหลายสมัยในนามของพรรคเพื่อไทย โดยคาดว่า เขตนี้ยังคงมีฐานเสียงเหนียวแน่นเหมือนเดิม ในพื้นที่ของ ต.จันจว้า และ ต.จันจว้าใต้ อ.แม่จัน และรวมเอา อ.เชียงแสน อ.ดอยหลวง และ อ.เชียงของ 6 ตำบลยกเว้น ต.บุญเรือง และ อ.เวียงแก่น

เขต 7 นายพิเชษฐ์ จากเพื่อไทยยังเก๋าพอที่จะนำขาดคู่แข่งจากทุกพรรค

โดยรวมการประเมินยกแรก พรรคเพื่อไทยยังไม่สามารถแลนด์สไลด์ทั้ง 7 เขตในจังหวัดเชียงรายเพราะยังมีนายชิตวันจากก้าวไกล เป็นก้างชิ้นใหญ่ที่ต้องฝ่าฟันให้ได้ในโค้งสุดท้าย 

3.จังหวัดเชียงใหม่

เชียงใหม่ ถือเป็นเมืองหลวงของพรรคเพื่อไทยในภาคเหนือ ที่พรรคเพื่อไทยจะต้องกวาดที่นั่งทั้ง 10 เขตให้ได้เพราะนอกจากเป็นฐานคะแนนใหญ่แล้ว ยังถือเป็นศึกศักดิ์ศรีที่แพ้ไม่ได้แม้แต่เขตเดียว 

เขตเลือกตั้งที่ 1 

นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม หรือ ส.ส.ท็อป ทางพรรคเพื่อไทย มองว่ามีภาพความเป็นคนรุ่นใหม่จึงหวังเอาคะแนนกลุ่มคนนี้มาเติมเต็มในฐานเสียงเดิมที่แน่นอยู่แล้วโดยมีคู่แข่งสำคัญอย่างพรรคก้าวไกล ที่ส่ง "พลอย" เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู ลูกสาว "ไพรัช ใหม่ชมภู" อดีตรองนายก อบจ.เชียงใหม่ กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม ของบุญเลิศ บูรณุปกรณ์มาลงสู้ศึกในครั้งนี้ 

การเลือกตั้งครั้งนี้แม้กระแสพรรคเพื่อไทยจะมาแรงแต่เขต 1 ซึ่งเป็นพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ และเป็นเมืองมหาวิทยาลัย ทำให้กระแสพรรคเพื่อไทยอาจมีผลไม่มากนักในเขตนี้และมีผลให้ พลอย-เพชรรัตน์ จากก้าวไกลที่ลงสมัครระบบเขตเป็นครั้งแรก

มีคะแนนนำนายจักรวาล จากเพื่อไทย ดีกรีอดีต ส.ส.เชียงใหม่ เขต 3 ที่การเลือกตั้งครั้งนี้ย้ายมาลงเขต 1 แทนที่นางสาวทัศนีย์  บูรณุปกรณ์  เพราะเจ๊แดง นางเยาวภา ชินวัตร ไม่ไว้ใจตระกูลบูรณุปกรณ์

ยกแรก พลอย จากก้าวไกล นำจักรวาล เพื่อไทยแบบสูสี

เขตเลือกตั้งที่ 2 

โกวิทย์ พิริยะอานันต์ หรือ ส.จ.เก่ง อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)พรรคเพื่อไทย ลงสมัครครั้งแรก และลงพื้นที่ในนามพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอดจะเจอคู่แข่งคนสำคัญอย่าง "การณิก จันทดา" จากพรรคก้าวไกล เภสัชกรสาวและอดีตแอร์โฮสเตสที่ยังใหม่สำหรับการเมืองซึ่งพื้นที่นี้ไม่ง่ายที่พรรคเพื่อไทยจะครองพื้นที่ได้

เขตนี้จะเป็นการต่อกรที่ค่อนข้างสูสีและสนุกระหว่างพรรคการเมืองขั้วเดียวกัน คือ ก้าวไกลกับเพื่อไทยอีกเขต 

สจ.เก่ง จากเพื่อไทยมีจุดอ่อน คือ ลงสมัครครั้งแรกแม้กระแสพรรคดีแต่กระแสตัวบุคคลยังสู้ "การณิก" จากก้าวไกลไม่ได้ 

เขตนี้ "การณิก" จากก้าวไกลนำในช่วงต้นทั้งกระแสคนและกระแสพรรค ส่วน สจ.เก่ง จากเพื่อไทยต้องวัดกระแสพรรคให้มาแรงช่วงโค้งสุดท้ายจึงจะมีโอกาสกลับมาพลิกเอาชนะ "การณิก" ได้  

เขตเลือกตั้งที่ 3 

เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ต้องจับตามองมี นางสาวทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.เขต 1 พรรคเพื่อไทย ที่ถูกโยกมาลงเขต 3 แทน นายจักรพล หรือส.ส.ท็อป แม้จะไม่ต้องออกแรงมากนักเพราะเป็นบ้านเกิด ตระกูลชินวัตร โอกาสเข้าป้ายมีสูง

ยังมีอีกหนึ่งผู้สมัครที่มีความน่าสนใจ คือ "กอล์ฟ" นายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล ที่ลงสมัครในนามพรรคก้าวไกลในเขต 3 ด้วย เป็นคนรุ่นใหม่และยังเป็นลูกชายของ "สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล" นักการเมืองชื่อดังที่มาลงพื้นที่มาโดยตลอดถือว่า เป็นอีกหนึ่งคนที่เพื่อไทยจะประมาทไม่ได้

เขตนี้ "ทัศนีย์" จากเพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 4 

คาดว่า ส.ส.5 สมัยอย่าง "วิทยา ทรงคำ" จากพรรคเพื่อไทยยังคงจะรั้งเก้าอี้ไว้ได้จากกระแสพรรคเพื่อไทยที่ยังมาแรงเหมือนเดิมแม้ว่าจะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูงอย่างพรรคก้าวไกล และพรรคไทยสร้างไทยแต่ฐานเสียงของคนรักเพื่อไทยยังถือว่าเหนียวแน่น

เขต 4 วิทยา เพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 5 

เก้าอี้ยังคาดว่า ยังคงจะเป็นของ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เจ้าของพื้นที่ 4 สมัยโดยบทบาทยังถือว่า มีฐานเสียงจากผู้นำชุมชนคนรักเพื่อไทย แม้ว่าจะมีนายเดชนัฐวิทย์ หรือ ป้ำ เตริยาภิรมย์ ลูกชายนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ หรือ ดร.แป้ง หรือ เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ อดีตนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ที่เคยล้มช้างอย่าง นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ มาแล้วแต่ประสบการณ์ทางการเมือง และฐานเสียงที่หนาแน่น

เขต 5 จุลพันธ์  เพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 6 

นายแพทย์ ไกร ดาบธรรม ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่อาย ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงใหม่ ในการเลือกตั้งปี 2549 และได้รับการเลือกตั้ง อดีต ส.ส.เชียงใหม่ เขต 3 เชียงใหม่ พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา

ก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งอีกสมัยในนามพรรคภูมิใจไทย เขต 7 เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดพรรคภูมิใจไทยแต่ได้รับคะแนนเสียงเป็นลำดับที่ 3 ถือว่าเป็นอีกหนึ่งในบุคคลที่มีประสบการณ์ทางการเมืองเชียงใหม่มานานโดยกระแสในพื้นที่ยังคงเทไปทางพรรคเพื่อไทย

แต่เขตนี้หมอไกร อาจเจอศึกหนักจากพรรคก้าวไกลที่ส่ง "อรพรรณ จันตาเรือง" อดีตรองนายก อบต.เชียงดาว มีฐานเสียงแน่นใน อ.เชียงดาว ลงสมัครเพราะเขตนี้เดิมเพื่อไทยจะส่งนายบรรจงศักดิ์ วงศ์รัตนวรรณ คนสนิทของนายสมพงษ์  อมรวิวัฒน์ ลงสมัคร 

แต่เมื่อทำโพลแล้ว ปรากฏว่า แพ้นางอรพรรณจากก้าวไกล นายสมพงษ์จึงให้บรรจงศักดิ์ ไปลงบัญชีรายชื่อและขยับ นายแพทย์ไกร ที่มีคะแนนนิยมดีใน อ.ไชยปราการ เพื่อสู้กับก้าวไกล ที่มีฐานแน่นใน อ.เชียงดาว 

เขตนี้แม้หมอไกรจะเจอศึกหนักแต่เมื่อเทียบกับนางอรพรรณ จากก้าวไกล เชื่อว่า หมอไกรน่าจะอาศัยความชำนาญพื้นที่ออกนำไปก่อนได้ 

เขต 6 หมอไกร เพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 7 

พรรคเพื่อไทยส่ง นายนิธิกร วุฒินันชัย ผู้สมัครเขต 7 ลูกชายนายประสิทธิ์ วุฒินันชัย ส.ส.เขต 5 เชียงใหม่หลายสมัยเป็นอีกหนึ่งทายาทนักการเมือง ที่ลงพื้นที่แนะนำตัวกับประชนในพื้นที่มาไม่น้อย แม้ต้องมาเจอกับกระดูกชิ้นโตอย่าง นายสันติ ตันสุหัช อดีต ส.ส. จากพรรคไทยรักไทย 2 สมัย ที่่ปีนี้ มาลงในนามพรรครวมไทยสร้างชาติแต่ด้วยกระแสพรรคเพื่อไทยยังแรงอยู่

เขต 7 นายนิธิกร เพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 8 

พรรคเพื่อไทยส่งนายณัฏฐ์พัฒน์ รัฐผไท ลูกชายนายนพคุณ รัฐผไท อดีตส.ส.เขต 2 ห้าสมัยลงสมัครเขตนี้เป็นการเปลี่ยนถ่ายทายาทการเมือง เพื่อเรียกคะแนนจากคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ เพราะแม้ว่าเพื่อไทยจะครองพื้นที่มาอย่างเหนียวแน่นแต่ก็ไม่ประมาทที่จะขยายฐานเสียงไปยังคนรุ่นใหม่ด้วย

เขตนี้จึงนับว่า ไม่ยากสำหรับพรรคเพื่อไทยเพราะแม้ผู้สมัครจะหน้าใหม่แต่เป็นพื้นที่เดิมของผู้เป็นพ่อและชื่อเสียงของพรรคก็ยังเป็นต่อหลายขุม 

เขต 8 นายณัญฐ์พัฒน์  เพื่อไทยนำ 

เขตเลือกตั้งที่ 9 

รอบนี้นายสุรพล เกียรติไชยากร ส.ส.เชียงใหม่ 8 สมัยซ้อน พรรคเพื่อไทยจะกลับมาทวงคืนพื้นที่คืนหลังจากที่ศาลมีคำสั่งชนะคดี กกต.โดยคาดว่ากระแสพรรคเพื่อไทยที่ยังแรงสามารถที่จะเอาชนะ "นางสาวศรีนวล บุญลือ" ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 จากพรรคภูมิใจไทยได้อย่างง่าย ๆ

เขตนี้นายสุรพล เพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 10 

พรรคเพื่อไทย ได้นำคนรุ่นใหม่มาเป็นว่าที่ผู้สมัคร เพื่อดึงเสียงคนรุ่นใหม่ ในเขตนี้มีนิวโหวตเตอร์กว่า 17,000 คน การส่งนางสาวศรีโสภา โกฎคำลือ ผู้สมัครเขต 10 ลูกสาวของนายศรีเรศ โกฎคำลือ อดีต ส.ส.เขต 9 อดีตกำนัน และอดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตาลอำเภอฮอด และเป็น ส.ส.เพื่อไทยสองสมัยว่าด้วยชื่อของกำนัน ศรีเรศ ยังครองใจคนในพื้นที่ซึ่งครั้งนี้ได้วางมือให้ลูกสาว นางสาวศรีโสภา โกฏคำลือ รับไม้ต่อโดยไม่ต้องกังวลคู่แข่งจากพรรคอื่น

เขต 10 นางสาวศรีโสภา เพื่อไทยนำขาด

ภาพรวมจังหวัดเชียงใหม่จะยังคงเป็นเมืองหลวงของเพื่อไทยที่สามารถกวาดที่นั่งได้ครบทั้ง 10 เขตเหมือนเดิม 

4.จังหวัดตาก

ตากเคยเป็นพื้นที่เดิมของพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอดแต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาพรรคพลังประชารัฐชนะการเลือกตั้ง 2 เขต ประชาธิปัตย์ชนะมาเพียงเขตเดียวเท่านั้น

จากนายชัยวุฒิ  บรรณวัฒน์ การเลือกตั้งปี 2566 พรรคภูมิใจไทยเข้ามาแผ่อิทธิพลในพื้นที่นี้ โดยดึงผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ เขตเลือกตั้งที่ 1 และพรรคเพื่อไทยในเขตเลือกตั้งที่ 3 เข้ามาสังกัดพรรคภูมิใจไทย

ส่วนในเขตเลือกตั้งที่ 2 ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐจับมือกับนายชัยวุฒิ  สู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้สนามเลือกตั้งจังหวัดตากเป็นการต่อสู้กันระหว่างพลังประชารัฐกับภูมิใจไทย โดยมีพรรคเพื่อไทยรอสอดแทรกในทุกเขต หากกระแสพรรคมาแรงในช่วงท้ายๆ 

เขตเลือกตั้งที่ 1 

ธนัสถ์ ทวีเกื้อกุลกิจ อดีต ส.ส.จ.ตาก พรรคพลังประชารัฐ บุตรชายนายณัฐธวุฒิ ทวีเกื้อกุลกิจ นายกอบจ.ตาก เลือกตั้งครั้งนี้ย้ายสีเสื้อมาสังกัดพรรคภูมิใจไทย อาศัยความเป็นเจ้าถิ่นเดิม เป็นนักธุรกิจเจ้าของตลาดไท

อีกทั้งยังมีการสร้างคะแนนเสียงมาตลอด ขณะที่คู่แข่งจากพรรคเพื่อไทย ไม่ได้น่ากลัว เขตนี้จึงไม่น่าจะมีคู่แข่งที่ชัดเจนแต่ก็ต้องระวังอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายสมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ จากพรรคเพื่อไทย ที่รอกระแสพรรคมาหนุนฐานคะแนนส่วนตัวในฐานะอดีตพ่อเมือง  

เขต 1 นายธนัสถ์ ภูมิใจไทยนำ 

เขตเลือกตั้งที่ 2 

นายชิงชัย ก่อประภากิจ อดีตรองนายก อบจ.ตาก รอบนี้ลงในนามพรรคพลังประชารัฐ คาดว่า ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ภาคเหนือ) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก หลายสมัย เป็นผู้เบื้องหลังในการผลักดันให้คว้าเก้าอี้ส.ส.ในครั้งนี้ แต่ก็ไม่มองข้าม นายเทอดเกียรติ  ชินสรนันท์ จากพรรคเพื่อไทยเพราะกระแสพรรคเพื่อไทยค่อนข้างแรง เขตนี้นายชิงชัยมีสิทธิ์ถูกนายเทอดเกียรติ จากเพื่อไทยเบียดเอาชนะได้ แบบสู้กันสนุก 

เขต 2 นายเทอดเกียรติ เพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 3 

นายธนิตพล ไชยนันท์ อดีต ส.ส.ตาก ยังคงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ สู้กับ นายชัยณรงค์ มะเดชะ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้สมัครส.ส.พรรคเพื่อไทย และอดีตนายกทต.แม่ระมาด อ.แม่ระมาด

โดยการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาแพ้คะแนนให้กับนายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เพียง 1,500-1,600 คะแนน ถึงพรรคจะโดนโจมตีแต่เป็นคนกว้างขวางในกลุ่มชาติพันธุ์ เขตนี้ นายธนิตพล ยังมีโอกาสรักษาพื้นที่ได้ เพราะคู่ต่อสู้อย่างนายชัยณรงค์มีจุดบอดที่พรรคภูมิใจไทยถูกโจมตีหนักในช่วงนี้

เขต 3 นายธนิตพลประชาธิปัตย์นำ


5.จังหวัดนครสวรรค์ 

สำหรับการเลือกตั้งปากน้ำโพหรือว่าจังหวัดนครรสวรรค์ เมืองสี่แคว แห่งมังกร พักผ่อนบึงบอระเพ็ด ปลารสเด็กปากน้ำโพ การเมืองสนามนี้เด็ดไม่แพ้คำขวัญประจำจังหวัด เพราะปรากฏการณ์ทางการเมืองที่นี่ไม่มีพรรคการเมืองใดผูกขาด การเมืองปากน้ำโพ เรียกว่า เป็นสนามปราบเซียนทางการเมืองก็ว่าได้ เพราะหากเปรียบตระกูลการเมืองปากน้ำโพผลัดกันแพ้ชนะมาต่อเนื่องยาวนานและยังเผ็ดร้อนกว่าที่อื่นเห็นได้จากการรอบสังหารนายอำนาจ ศิริชัย อดีตนายก อบจ.จนปานนี้ยังจับมือใครดมไม่ได้

เซียนการเมืองลองหลับตานึกภาพดูแล้วกันว่า ปากน้ำโพร้อนขนาดไหน หันมาดูสนามเลือกตั้งอันใกล้นี้ 14 พ.ค.2566 โฉมหน้าการเมืองปากน้ำโพจะเปลี่ยนหรือไม่ เป็นคำถามที่รอคอยคำตอบที่พอจะคาดเดาได้ เพราะหากเราเจาะดูในแต่ละเขตเลือกตั้งทั้ง 6 เขต มีส.ส.ได้ 6 คน พอจะเดาได้ไม่อยากเย็นนัก

เขตเลือกตั้งที่ 1 

นายภิญโญ นิโรจน์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ แชมป์เก่า ประกาศเว้นวรรคส่งลูกสาว น.ส.ภัทราวดี นิโรจน์ หรือ บาส ลงสมัครในนามพรรคภูมิใจไทย ชนกับนายสงกรานต์ จิตสุทธิภากรณ์ อดีต ส.ส.ปชป., นายกวี อัศวรักษ์ อดีต สจ.เขตอำเภอเมือง พรรคไทยรักไทย, นายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ พลังประชารัฐ เพื่อนนายวราเทพ รัตนากร หวังเข้าป้ายให้ได้เช่นกัน

เขตนี้ผลแพ้ชนะขึ้นจึงขึ้นอยู่กับ กกต.นครสวรรค์ ที่แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด เมื่อวิเคราะห์แล้วชัดเจนแบ่งเขตแบบนี้ แม้จะเอื้อให้พลพรรคภูมิใจไทย มากที่สุด เพราะได้กระจายฐานคะแนน ต.หนองกรด ต.หนองกระโดน ซึ่งเป็นฐานเดิมของ ปชป. ไปเพิ่มพื้นที่ ต.พระนอน ต.เกรียงไกร ต.กลางแดด ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของนายภิญโญ นิโรจน์ แต่เชื่อว่าเขตนี้ นายสงกรานต์จากประชาธิปัตย์ อดีตส.ส. จะกลับมาทวงคืนเก้าอี้ส.ส.ได้อีกครั้ง โดยมีนางสาวภัทราวดี จากภูมิใจไทยตามมาติดๆ  

เขต 1 นายสงกรานต์ ประชาธิปัตย์ นำ
    
เขตเลือกตั้งที่ 2

เป็นการต่อสู้ระหว่างแชมป์เก่าเก๋าเกมอย่างนายวีระกร คำประกอบ หนีลุงป้อมซบเสี่ยหนูอยู่พรรคภูมิใจไทย ประกาศชนช้างกับคนเสื้อแดงอย่างนายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย หรือแป๊ะยิ้ม จากค่ายวังน้ำยม ที่เผ่นหนีจากพรรคภูมิใจไทยมาซบพรรคเพื่อไทย หวังกระแสพรรคส่งเข้าสภาหินอ่อนให้ได้สักครั้ง ช่วงนี้กระแสพรรคเสื้อแดงไม่ตก แต่กว่าจะผ่านกระดูกขัดมันอย่าง ส.ส.วีระกร ไม่ง่าย

พื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 2 ปากน้ำโพถือเป็นเขตปราบเซียน ผู้กำหนดผลแพ้ชนะอยู่ที่กระแสกระสุน นายวีระกร และนายทรงศักดิ์ มีฐานเสียงพื้นที่เดียวกันคืออำเภอพยุหะคีรี จึงต้องอาศัยบทบาททหารในค่ายจิรประวัติเป็นผู้ตัดสินแพ้ชนะ พรรคพลังประชารัฐจึงส่งนายนัยศาลิน ถนอมมิตรวัฒนา อดีต สจ.เขตอำเภอโกรกพระ เจ้าของโรงสีข้าวใหญ่ลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐ

หวังฐานเสียงในอำเภอโกรกพระที่เหนี่ยวแน่น บวกกับเสียงในค่ายทหารขอเป็นตาอยู่เป็น ส.ส.ในเขตนี้ ภาษาเซียนบอกได้เลยว่าเขตนี้ต้องตัดสินกันช่วงทดเวลาเจ็บหรือดวลจุดโทษเลย

เขตนี้ สิงห์เฒ่า นายวีระกร จากภูมิใจไทยยังอาศัยความเก๋าชิงคะแนนนำไปก่อน 

เขตเลือกตั้งที่ 3 

อำเภอเก้าเลี้ยว อำเภอบรรพตพิสัย และอำเภอชุมแสงบางส่วน เขตนี้ต้องยกให้นายสัญญา นิลสุพรรณ เด็กสร้างเสธหิมาลัย ส.ส.เก่า พรรคพลังประชารัฐ พึ่งประกาศย้ายค่ายเข้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ของลุงตู่ ลงรักษาเก้าอี้ แต่ด้วยกระแสไม่ชอบลุง และต้องเจองานหนักเพราะต้องชนกับคู่แข่งอย่างนายสัญชัย วงศ์สุนทร พรรคเพื่อไทย นางสาวสุพัสสร คล้ายแจ้ง หรือ สจ.เปิ้ล พรรคพลังประชารัฐ, นายนิรุต เรื่องงาม พรรคอนาคตใหม่

ต่างฝ่ายต่างเตรียมพร้อมเดินหน้าหาเสียงกันเต็มที่ เชื่อว่าเขตนี้เด็ก ลุงตู่ ลุงป้อม น่าจะตัดเชือกกันเอง เพราะต่างฝ่ายต่างมีดีคนละแบบต้องดูกันยาวๆ

นายสัญญา นิลสุพรณ แม้ว่าจะย้ายค่ายจากลุงป้อม มาซบลุงตู่ กระแสไม่เอาลุงกระหึ่ม แต่ไม่ส่งผลกระทบมากนัก เพราะเครือข่าย สจ.ในพื้นที่ ผู้นำชุมชน ยังยึดตัวบุคคลมากกว่าพรรคเพราะว่าที่ผ่านมาได้สร้างเครือข่ายไว้แน่นหนาแจกกระสุนระดมต่อเนื่องยาวนานไม่มีแผ่ว

ส่วนคู่แข่งหน้าใหม่ค่ายลุงป้อม สจ.เปิ้ล ถึงจะหน้าใหม่ทางการเมืองแต่ว่ามีความสดมากใครก็ประมาทไม่ได้ จากฐานเสียงในอำเภอชุมแสงเหนียวแน่น การเลือกตั้ง สจ.ที่ผ่านมาชนะคู่แข่งขาดลอยแถมแรงหนุนจากลุงป้อม ส่งทีมงานฉลามดำลงคุมพื้นที่ชนทีมงานเสธหิมาลัยแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน โค้งสุดท้ายเกมอาจพลิกได้

เขต 3 ยกแรกเป็นนายสัญญา จากรวมไทยสร้างชาติที่มาแรงกว่า และออกนำอยู่สจ.เปิ้ล จากพลังประชารัฐอยู่เล็กน้อย

เขตเลือกตั้งที่ 4 

อำเภอท่าตะโก อำเภอไพสาลี และอำเภอหนองบัว เขตอิทธิพลเดิมของนายมานพ ศรีผึ้ง พรรคภูมิใจไทย เด็กในคาถาของนายชาดา ไทยเศรษฐ และนายก อบจ.นครสวรรค์

อยากที่คู่แข่งทางการเมืองจะเจาะได้ ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา สส.ใจถึง พึ่งได้ อย่างนายมานพ ลงพื้นที่ จัดงบประมาณสร้างถนนสายหลัก สายรองจนชาวบ้านปรบมือรัวๆให้ หากไม่สะดุดขาตัวเองจากมีคดีความที่รุมเร้าไม่น่าเหนื่อยมาก

อย่างไรก็ตาม สภาหินอ่อนใครเดินเข้า-ออกง่ายๆ คงไม่มี เพราะว่านายมานพต้องชนกับ พ.ต.ท.นุกูล แสงศิริ พรรคเพื่อไทย อดีต ส.ส.หลายสมัย แถมยังมีแต้มต่อจากกระแสพรรคที่พรุ่งพรวดๆเวลานี้และยังต้องผ่านด่านหินกระดูกชิ้นโตอย่างนางจิตตา หมีทอง พรรคพลังประชารัฐ หรือ สจ.แป๊ว อดีตประธานสภา อบจ.นครสวรรค์ ฐานเสียงในอำเภอท่าตะโกเหนี่ยวแน่น

แถมแว่ว ๆ มาว่า ได้แรงหนุนจากทีมงานฉลามดำตัวพ่อขอล้มแชมป์ให้ได้เช่นกัน เขตเลือกตั้งนี้จึงถือเป็นเขตแห่งศักดิ์ศรีวัดบารมีระหว่างคนบ้านใหญ่แห่งเมืองจังหวัดอุทัยธานี และเครือข่าย พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อย่างแท้จริง ใครแพ้ก็ต้องต้องเอาปิ๊บคลุมหัวกลับบ้าน 

เขตนี้โค้งแรกต้องยกให้นายมานพ จากภูมิใจไทยนำห่าง โดยมีพันตำรวจโทนุกูล ตามมาเรื่อยๆแบบใครแผ่ว คนนั้นตก 

เขตเลือกตั้งที่ 5

อำเภอตากฟ้า อำเภอตาคลี ถือว่าเป็นอิทธิพลของพรรคเพื่อไทยมายาวนาน เนื่องจากเจ้าของพื้นที่เดิมอย่างนายทายาท เกียรติชูศักดิ์ พรรคเพื่อไทย ประกาศเว้นวรรคด้วยปัญหาสุขภาพจึงขอส่งไม้ต่อให้ลูกชายเจ้านายวรภัทร ตั้งภากรณ์ ลูกชาย พ.ต.ท.บรรยิน ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทยแทน

ด้วยอาศัยฐานเสียงเดิม กระแสพรรคที่ยังแรงแรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่หวังรักษาฐานที่มั่นสุดท้ายของพรรคเสื้อแดงไว้ให้ได้ เขตเลือกตั้งนี้บอกได้เลยว่ามีโอกาสเห็น ส.ส.หน้าใหม่เข้าสภา เพราะทุกพรรคต่างมีจุดเด่น จุดด้อยพอกัน 

นายสันติ พร้อมพัฒน์ พรรคพลังประชารัฐ ประกาศส่งนายพรวิพิสิษฐ์ แจ่มใส ลูกชายนายวิจิตร แจ่มใส อดีต ส.ส.นครสวรรค์ท้าชิง ส่วนพรรคภูมิใจไทยของ เสี่ยหนู อนุทิน ชาญวีรกูล ประกาศส่งนายพีระเดช ศิริวันสาณฑ์ ลูกชายธีระวัฒน์ ศิริวันสาณฑ์ อดีต รมช.สาธารณสุข ลงสมัครหวังล้มลูกชาย พ.ต.ท.บรรยิน ให้ได้

ทำให้อุณภูมิการเมืองเขตนี้ร้อนปรอทแตก ต่างงัดกลยุทธวิชาเทพ วิชามารออกมาสู้กันดุเดือด ส่วนใครจะเข้าป้ายได้เป็น ส.ส.หน้าใหม่สมใจ ปัจจัยชี้ขาดนอกจากทุนแล้วต้องมีแรงหนุนจากอำนาจรัฐด้วย

อย่างไรก็ตาม การประเมินช่วงแรก นายวรภัทร จากเพื่อไทยยังขี่กระแสพรรค และควบฐานคะแนนพ่อ นำห่างออกไปก่อน 

เขตเลือกตั้งที่ 6

อำเภอลาดยาว อำเภอแม่วงก์ อำเภอชุมแม่เปิน บอกได้คำเดียวว่าเขตนี้ สูสีมีลุ้นทุกพรรค เพราะเสี่ยใช้ นายนิโรจน์ สุนทรเลขา ส.ส.เก่าพรรคพลังประชารัฐ ประกาศย้ายค่ายนาทีสุดท้ายตามลุงตู่ เข้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ทำให้ลุงป้อม ประวิตร วงษ์สุวรรณ ควันออกหูประกาศล้มแชมป์เก่าให้ได้

พรรคพลังประชารัฐ ประกาศส่งนายธนรัตน์ วิเชียรรัตน์ ลูกคนลาดยาวโดยแท้ ซึ่งก่อนหน้านี้ขึ้นป้ายประกาศลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย สร้างฐานเสียงในพื้นที่ยาวนานพอสมควร ลงท้ายชนหวังล้มแชมป์ให้ได้ แต่ไม่ง่ายเพราะพรรคเพื่อไทยประกาศส่งนางสาวชุติมา เสรีรัฐ อดีต สจ.หลายสมัย หัวคะแนนนายนิโรจน์ สุนทรเลขา ลงหวังคว้าเก้าอี้ให้ได้เช่นกัน

ขณะที่ค่ายพรรคภูมิใจไทย ส.ส.ชาดา ไทยเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค ประกาศส่งนายอภิสิทธิ์ อินทรสิทธิ์ อดีต สจ.หลายสมัย ลงชิงชัยหวังขยายอิทธิพลลุ่มน้ำสะแกกรังมาสู่ลุ่มเจ้าพระยาให้ เขตเลือกตั้งนี้จึงกลายเป็นเขตที่เลือกตั้งที่ผู้ชนะคือผู้ที่มีกระสุนมากที่สุดเท่านั้น

สำหรับการเมืองปากน้ำโพในการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐสามารถคว้าเก้าอี้กได้ 4 เขต พรรคภูมิใจไทย 1 เขต และพรรคเพื่อไทย 1 เขต จากจำนวน ส.ส. 6 เขตเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ปัจจัยทางการเมืองเปลี่ยนมาก กระแสทางการเมืองเปลี่ยนไปรวดเร็ว ผู้สมัครแต่ละพรรคการเมืองต่างย้ายพรรคเอาตัวรอด

ทำให้บริบททางการเมืองของเมืองสี่แควเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของแต่พรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย จะสูญพันธ์หรือไม่ พลังประชารัฐจะรักษา 4 เก้าอี้ไว้ได้หรือไม่ ภูมิใจไทยจะเพิ่มจำนวน ส.ส.ได้หรือไม่ คงเป็นหน้าที่ของชาวนครสวรรค์จะเป็นผู้ให้คำตอบสุดท้ายในวันที่ 14 พ.ค.นี้เท่านั้น 

เขตนี้ คอการเมืองยังให้นายนิโรจน์ จากรวมไทยสร้างชาตินำ

6.จังหวัดน่าน

น่าน จังหวัดสำคัญของพรรคเพื่อไทยอีกพื้นที่ เมื่อหัวหน้าพรรค นายแพทย์ชลน่าน  ศรีแก้ว ตัดสินใจนำทีมลงสมัครส.ส.เขต เพื่อหวังที่จะกวาดทั้ง 3 ที่นั่งในจังหวัดน่าน ให้สมศักดิ์ศรีพื้นที่หัวหน้าพรรค 
 
เขตเลือกตั้งที่ 1  

นายทรงยศ รามสูต พรรคเพื่อไทย  นักการเมืองดังเมืองหนองคาย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย 3 สมัย ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลพล.อ.สุจินดา คราประยูร ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2535 เป็นสามีของสิรินทร รามสูต อดีต ส.ส.เพื่อไทย จังหวัดน่าน 4 สมัย ย้ายมาลงสมัครในพื้นที่นี้ เชื่อว่า กระแสเพื่อไทยที่ยังเหนียวแน่น ผสมกับการลงพื้นที่คู่กับภรรยาเจ้าของพื้นที่ตัวจริง  จะยังทำให้เพื่อไทยรักษาเก้าอี้ส.ส.เขตนี้ได้อย่างแน่นอน 

นายทรงยศ เพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 2 

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2544 สังกัดพรรคไทยรักไทย และได้รับเลือกตั้งมาอีก 4 สมัย ในนามของพรรคเพื่อไทย และยังเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งในพื้นที่ยังไม่มีใครมาแทนได้ แม้จะมีคู่แข่งจะจากพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ไม่น่าจะขึ้นมาเทียบชั้นหมอชลน่านได้ 

เขตนี้ หมอชลน่าน เพื่อไทยนำขาด

เขตเลือกตั้งที่ 3 

ณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ อดีตส.ส.เพื่อไทย 2 สมัย และยังคงลงสู้ศึกในพรรคเดิม ก่อนหน้านี้  รับช่วงต่อจากบิดา ดร.วัลลภ สุริยศิลป์ อดีต ส.ส.8 สมัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 สมัย โดยฐานเสียงของพ่อได้ส่งต่อกันมายังคงเหนียวแน่น อีกทั้งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ขยันลงพื้นที่ที่ได้รับความไว้วางใจจากชาวน่านมาโดยตลอด 

เขต 3 นายณัฐพงษ์ เพื่อไทยนำ

โดยรวม พรรคเพื่อไทยจะรักษาหน้าหัวหน้าพรรค กวาดที่นั่งทั้ง 3 เขตยกจังหวัดได้ค่อนข้างแน่

7.จังหวัดพิจิตร

พิจิตร เมืองชาละวัน หลังหมดยุคผู้อาวุโส ทั้งเสธหนั่น พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ และพันตำรวจโทอดุลย์ บุญเสรฐ เหลือเพียงนายไพฑูรย์  แก้วทอง พิจิตรจึงเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคของตระกูลภัทรประสิทธิ์ ทำให้การเลือกตั้งรอบนี้ต้องจับตาความเคลื่อนไหวของเสี่ยอ้อด นายประดิษฐ์  ภัทรประสิทธิ์ว่าจะมีการจัดทัพอย่างไร   
 
เขตเลือกตั้งที่ 1 

นายภัทรพงศ์ ภัทรประสิทธิ์ พรรคภูมิใจไทย ที่แม้จะลงสนามนี้เป็นครั้งแรกแต่ก็เป็นทายาทจากตระกูลบ้านใหญ่กระเป๋าหนักที่มีฐานการเมืองของนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาช่วยปูฐานเสียงทางการเมืองไว้อย่างเหนียวแน่น

แต่รอบนี้ต้องเจอคู่แข่งจากพรรคเพื่อไทย อย่างนายปุณยวัจน์ เหลืองวิจิตร น้องชายของนางสุณีย์ เหลืองวิจิตร อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกอบจ.พิจิตร ที่มีฐานเสียงในพื้นที่ค่อนข้างแข็ง เมื่อบวกกับกระแสพรรคเพื่อไทยการเลือกตั้งรอบนี้ ทำให้นายปุณยวัจน์น่าจะมีความหวังมากที่จะเป็นส.ส.สมัยแรกในสังกัดพรรคเพื่อไทยได้ 

นอกจากนั้นยังมีนายนายพรชัย  อินทร์สุข จากพลังประชารัฐ เจ้าของเก้าอี้ในการเลือกตั้งสมัยที่ผ่านมา ที่ครั้งนี้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ มอบให้ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ลงมาอัดฉีดตรงเต็มที่ เพื่อรักษาเก้าอี้ไว้ให้ได้ 

ในยกแรกนี้ยังให้ นายปุณยวัจน์ จากเพื่อไทยออกนำทั้งสองคนจากภูมิใจไทยและพลังประชารัฐออกไปก่อน ด้วยกระแสพรรคเพื่อไทยที่มาแรงมาก 

เขต นายปุณยวัจน์ เพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 2 

นายวินัย ภัทรประสิทธิ์ พรรคภูมิใจไทย เป็นเครือญาติกับประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย ถูกวางพื้นฐานทางการเมืองกับทางผู้นำท้องถิ่นมาเป็นเวลานาน เคยเป็นอดีตส.ส.มาก่อน แม้จะมีคู่แข่งอย่างนายภูดิษฐ์ อินทร์สุวรรณ ส.ส คนปัจจุบัน ที่ย้ายจากพลังประชารัฐ มาลงในนาม พรรคเพื่อไทย กลุ่มสามมิตร แต่ยังเชื่อว่าแม้จะเป็นพื้นที่ของคนเสื้อแดง แต่เมื่อไม่มีความเป็นเอกภาพในกลุ่มคนเสื้อแดง จึงคาดนายวินัย จะกวาดคะแนนนำในเขตนี้

เขต 2 วินัย ภูมิใจไทย นำ

เขตเลือกตั้งที่ 3 

นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ พรรคภูมิใจไทย อดีตส.ส.หลายสมัยของจังหวัดพิจิตร ลูกชายของเสธหนั่น มีผู้นำท้องถิ่นที่เป็นฐานคะแนนเสียงให้กับเสธหนั่นยังคงให้การสนับสนุน แม้ว่าพรรคคู่แข่งอย่างพรรคเพื่อไทย ที่มีนายวิชัย ด่านรุ่งโรจน์ หรือสจ.น้ำ จะมาแรงตามกระแสพรรคเพื่อไทย แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ได้รับการช่วยเหลือจะรู้ว่าเป็นเงาของนายศิริวัฒน์ เพราะฉะนั้นในเขตนี้ นายศิริวัฒน์ น่าจะกวาดคะแนน นั่งตำแหน่งส.ส.ได้

เขต 3 ลูกยอด ศิริวัฒน์  ภูมิใจไทยนำ 

สรุป การเลือกตั้งปี 2566 พรรคภูมิใจไทยภายใต้ความร่วมมือของ 3 ตระกูล คือ ภัทรประสิทธิ์ขจรประศาสน์ และแก้วพิจิตร น่าจะกวาดมาได้ครบทั้ง 3 เขต 

8. จังหวัดพิษณุโลก 

เขตเลือกตั้งที่ 1  

เขตนี้ค่อนข้างจะเป็นการแข่งขันที่ค่อนข้างจะดุเดือด และเป็นการแช่งชิงกันในกลุ่มผู้สมัครที่เป็นคนรุ่นใหม่ โดยพรรคพลังประชารัฐส่ง นายอดุลย์วิทย์ วิวัฒธนาฒย์ หรือ ส.จ.อั้ม ลูกชายของนายมนต์ชัย วิวัฒธนาฒย์ นายกอบจ.พิษณุโลกคนปัจจุบัน ( อดีตส.ส.พิษณุโลก) ลงสมัคร

ส่วนพรรคเพื่อไทยส่งนางสาวณัฐทรัชต์ ชามพูนท พรรคเพื่อไทย ลูกสาว นางเปรมฤดี ชามพูนุท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลกลงสมัคร โดยมี หมออ๋อง ปดิพัทธ์ สันติภาดา จากพรรคก้าวไกล แชมป์เก่าเป็นคู่แข่งคนสำคัญของทั้งสองคน
 
เขตนี้ หมออ๋อง จากก้าวไกลที่ทำงานหนักทั้งในพื้นที่และในสภา ยังน่าจะครองความได้เปรียบ 2 ผู้สมัครจากภูมิใจไทยและเพื่อไทย จากฐานเสียงเดิมของก้าวไกลในเขตนี้ บวกกับความนิยมเพื่มเติมในตัวหมออ๋อง โดยมีนางสาวณัฐทรัชต์ จากเพื่อไทยเป็นตัวสอดแทรก แต่ยังต้องอาศัยกระแสพรรคช่วยในช่วงโค้งสุดท้าย 

เขต 1 หมออ๋อง ก้าวไกลนำไปก่อนในช่วงแรก
 
เขตเลือกตั้งที่ 2  

ยังคาดว่าคะแนนจะเทไปที่พรรคเพื่อไทย  ที่มีนายนพพล เหลืองทองนารา อดีตส.ส.ในพื้นที่ 2 สมัย เป็นอีกตัวเต็งในพื้นที่ที่มีฐานเสียงมากในเขตอำเภอพรหมพิราม คู่แข่งจากพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ มีคะแนนไม่น้อยจากการลงสมัครส.ส.ในปี 2562 ที่คว้าคะแนนมาได้กว่า 20,000 คะแนน

เขตนี้ นายนพพล เพื่อไทยนำห่าง  
 
เขตเลือกตั้งที่ 3

นายพงษ์มนู ทองหนัก อดีตรองนายกอบจ.พิษณุโลก และเป็นอดีตผู้สมัครส.ส.ประชาธิปัตย์ครั้งที่แล้ว ที่แพ้พลังประชารัฐไปเพียงหลักร้อยเท่านั้น รอบนี้มาสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ อีกทั้งเปรียบเสมือนกับตัวแทนของจุติ ไกรฤกษ์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ยังคาดว่าจะได้รับคะแนน แซงคนเก่าอนุชา น้อยวงศ์ ย้ายมาสร้างสังกัดภูมิใจไทย

เขต 3 นายพงษ์มนู รวมไทยสร้างชาตินำ
 
เขตเลือกตั้งที่ 4 

สนามนี้เพื่อไทยแค้นส.ส.เก่านายนิยม ช่างพินิจ ยกครอบครัวเพื่อไทยมาช่วยปราศรัยแล้ว 1 รอบตั้งแต่ยังไม่รับสมัคร 1.พรรคภูมิใจไทย นายนิยม ช่างพินิจ อดีตส.ส.ผูกขาดเขตนี้ และอยู่กับไทยรักไทย และเพื่อไทยมาโดยตลอด รอบนี้มาสังกัดภูมิใจไทย   ก็ยังคงเป็นตัวเต็งสำหรับเขตนี้ การเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา จะมีคะแนนขึ้นหลักสี่หมื่นตลอด ถือว่าคว้าคะแนนสูงสุดในจังหวัดพิษณุโลก 

เขต 4 นิยม ช่างพินิจ ภูมิใจไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 5  

นายนคร มาฉิม อดีตส.ส.เขตนี้เมื่อก่อนสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาย้ายสังกัดไปพรรคเพื่อไทย และย้ายล่าสุดลงในนามพรรคภูมิใจไทย เป็นอีกคนที่พอมีฐานเสียงของตนเองและเหนือกว่าคู่แข่ง อีกทั้งยังมีประสบการณ์ทางการเมืองสูงกว่า

อีกทั้งการย้ายพรรคในครั้งนี้ ไร้คู่แข่ง นายมานัส อ่อนอ้าย อดีต ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐที่ไม่ลงเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะป่วย แต่ส่งลูกชายนายชนะชน อ่อนอ้าย ลงในนามของพรรคไทยสร้างไทย 

แต่คู่ต่อสู้คนสำคัญของนายนคร คือ พ.ต.อ.ธรธวัช แจ่มอุดมโชต อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรนครไทยจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ครั้งนี้ เสธฯหิ นายหิมาลัย ผิวพรรณ ลงมาช่วยสนับสนุนเต็มที่ พ.ต.อ.ธรธวัช แม้จะเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ แต่ไม่ใช่คนหน้าใหม่ของจังหวัดพิษณุโลก เพราะวนเวียนเป็นผู้กำกับมาหลายพื้นที่ 

เลือกตั้งรอบนี้ เมื่อมาชนกับนายนคร จากภูมิใจไทยที่เริ่มแผ่ว บวกกับทีมงานที่แข็งแกร่งของเสธฯหิ ทำให้พ.ต.อ.ธรธวัช มีโอกาสสูงที่จะเฉือนนายนครเข้าป้ายได้ไม่ยาก 

ยกแรกพ.ต.อ.ธรธวัช จากรวมไทยสร้างชาตินำ

9.จังหวัดพะเยา

เขตเลือกตั้งที่ 1  

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เมื่อปี 2562 ปัจจุบันนี้ลงเป็นผู้สมัครส.ส.พรรคเดิม โดยชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดพะเยารู้จักเป็นอย่างดี เพราะเป็นคนพะเยา และมีบุคลิกเข้าถึงชาวบ้านง่าย ที่สำคัญน้องชายเป็นนายกอบจ.พะเยา ส่วนนายกเล็กเทศบาลเมืองพะเยายังเป็นทีมที่ทำงาน ทำให้ฐานเสียงในเขต 1 จึงคาดคะแนนชาวพะเยาจะเทมาให้รอ.ธรรมนัสแบบขาดลอย 

เขต 1 ร้อยเอกธรรมนัส พลังประชารัฐนำแบบไม่มีคู่แข่ง

เขตเลือกตั้งที่ 2 

พล.ต.ต.ธรรมนูญ มั่นคง ผู้สมัครส.ส.พรรคเพื่อไทย ถือว่าเป็นนักการเมืองใหม่ถอดด้ามที่ลงสนามจังหวัดพะเยา โดยมีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายสมัย และรอบนี้ขยับขึ้นปาร์ตี้ลิสต์ เป็นผู้ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องต้น โดยมีคู่แข่ง คือ นายอนุรัตน์ ตันบรรจง ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ลูกชายของนายไพรัตน์ ตันบรรจง อดีตนายก อบจ.พะเยา 4 สมัย ที่ทางรอ.ธรรมนัสส่งมาเพื่อเป็นคู่แข่งคนสำคัญ 

อย่างไรก็ตาม มีข้อตกลงลับบางอย่างที่เลี่ยงการแข่งขันระหว่างกัน ทำให้เขต พล.ต.ต.ธรรมนูญ จากเพื่อไทยจะเข้าป้ายในฐานะส.ส.ใหม่พะเยาเขต  2 ในการเลือกตั้งรอบนี้

รอบแรก พล.ต.ต.ธรรมนูญ เพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 3 

จีรเดช ศรีวิราช อดีตส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จังหวัดพะเยา เป็นน้าชายของภรรยารอ.ธรรมนัส มีฐานคะแนนเสียงอำเภอปง อำเภอดอกคำใต้ และอำเภอเชียงม่วน โดยเขตนี้ถือว่าคู่แข่งอย่างดร.อำนาจ วิชัย เลขาฯ นายวรวิทย์ บุรณศิริ อดีตนายก อบจ. พะเยาที่ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย ไม่น่าจะใช้คู่แข่งสำคัญแต่อย่างใด

เขตนี้ จีระเดช พลังประชารัฐนำขาด

10.จังหวัดเพชรบูรณ์

จังหวัดเพชรบูรณ์ การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคพลังประชารัฐภายใต้การนำของนายสันติ พร้อมพัฒน์ และกลุ่มสามมิตร สามารถกวาดชัยชนะได้ยกจังหวัด ครั้งนี้จึงน่าจับตามองว่า เมื่อสามมิตรแยกกัน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แยกตัวกลับพรรคเพื่อไทย จะทำให้พรรคพลังประชารัฐยังมีฤทธิ์พอที่จะยืนหยัดเอาชนะได้ยกจังหวัดได้อีกครั้งหรือไม่ 

เขตเลือกตั้งที่ 1 

เป็นพื้นที่เดิมของ นางสาวพิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ จาก พรรคพลังประชารัฐ และมี นายสุทัศน์ จันทร์แสงศรี จากพรรคเพื่อไทยลงชิงชัย แต่เขตนี้เชื่อว่า นางสาวพิมพ์พร ซึ่งมีฐานคะแนนเสียงของตระกูลพรพฤติพันธ์ ค่อนข้างแข็งแกร่ง จะยังรักษาพื้นที่เอาไว้ได้ โดยมีนายสุทัศน์ จากพรรคเพื่อไทยเป็นตัวสอดแทรก หากกระแสพรรคแรงขึ้นมา หรือหากนายสมศักดิ์ แผ่รัศมีข้ามมาช่วยที่เพชรบูรณ์ แบบเกรงใจเพื่อน

ยกแรกให้นางสาวพิมพ์พร จากพลังประชารัฐนำ

เขตเลือกตั้งที่ 2 

เป็นพื้นที่เดิมฃของ นายจักรัตน์ พั้วช่วย จาก พรรคพลังประชารัฐ มีผู้สมัครหน้าใหม่หลายรายเป็นคู่แข่ง ซึ่งไม่น่าจะสร้างปัญหาอะไรมากนัก

เขตนี้ไม่มีคู่แข่ง นายจักรัตน์เจ้าของพื้นที่จากพลังประชารัฐยืนระยะถึงวันเลือกตั้งแน่นอน 

เขตเลือกตั้งที่ 3 

มีนายยุพราช บัวอินทร์ อดีต ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นตัวเต็งที่กำลังมาแรง เนื่องจากเจ้าตัวลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และมีสนามการเมืองท้องถิ่นคอยเป็นกองหนุน

สำหรับคู่แข่ง เป็นผู้สมัครหน้าใหม่จาก พรรคพลังประชารัฐ ได้แก่ บุญชัย กิตติธาราทรัพย์ ที่ขยับจากการเมืองสนามเล็ก (สจ.) มาท้าชิงในระดับชาติ หากมีการต่อสู้กันเต็มกำลังอาจจะเป็นม้ามืดของพรรคพลังประชารัฐก็เป็นได้ 

รอบแรกการประเมิน ยังให้นายยุพราชจากพรรคประชาธิปัตย์ หวนมา ทวงเก้าอี้เขตนี้ให้ประชาธิปัตย์กลับมาได้แน่นอน

เขตเลือกตั้งที่ 4 

เป็นพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทย คาดหวังและส่ง นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ซึ่งเป็นน้องชายของ นายสุรศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ เป็นตัวแทน แต่ทางฝั่งพรรคพลังประชารัฐก็ปรับแผน ส่ง นายวรโชติ สุคนธ์ขจร" ประธานสภา อบจ.เพชรบูรณ์ และสจ.เพชรบูรณ์ เขต อ.ชนแดน ซึ่งถือคนสนิทของ นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ ลงเป็นคู่ต่อสู้และตัว นางวันเพ็ญ ขยับไปลงเลือกตั้งในเขต 5 ในเรื่องของความได้เปรียบในพื้นที่ อาจทำให้พรรคเพื่อไทย น้ำตาตกก็เป็นได้

ยกแรกยังให้นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ จากพรรคเพื่อไทยออกนำไปหนึ่งช่วงตัว 

เขตเลือกตั้งที่ 5 

เป็นพื้นที่ของ นายสุรศักดิ์ อนรรฆพันธ์ สส. พรรคพลังประชารัฐ แต่เจ้าตัวอาจจะวางมือทางการเมือง พรรคพลังประชารัฐ จึงส่ง นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ เบอร์ใหญ่สุดของบ้านใหญ่พร้อมพัฒน์ ขยับมาลงในเขตเลือกตั้งนี้แต่ทางพรรคเพื่อไทยก็สร้างเซอร์ไพรส์ ด้วยการส่ง สุประวีณ์ อนรรฆพันธ์ (สจ.) หลานชายของนายสุรศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ลงประกบเบอร์ใหญ่แบบไม่คาดคิด ก็คงต้องตามกันต่อไปว่างานนี้จะจบแบบไหน

เขตนี้นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ บ้านใหญ่เพชรบูรณ์ตัวจริง จากพลังประชารัฐ ไม่น่ามีคู่แข่งคนไหนมาทาบได้ 
 
เขตเลือกตั้งที่ 6 

เจ้าของพื้นที่เดิม ได้แก่ นายเอี่ยม ทองใจสด จากพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ลงสมัคร แต่ก็ยังเป็นคนในตระกูล คือ นายอัคร ทองใจสด หลานชายของ นายเอี่ยม และเป็นบุตรชาย ของ นายอัครเดช ทองใจสด นายก อบจ.เพชรบูรณ์ บ้านใหญ่ในสนามเลือกตั้งระดับจังหวัด ที่เดินสายหาเสียงหามรุ่งหามค่ำมานานตั้งแต่ก่อนวันรับสมัคร

ส่วนพรรคเพื่อไทยส่ง นายเกรียงไกร ปานสีทอง อดีตผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ ที่เกือบจะล้มแชมป์ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาลงสมัครหลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบก็ย้ายมาสังกัดพรรคเพื่อไทย และลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีกระแส "อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร" หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย มาช่วยเขย่าคู่แข่งอีกแรง โอกาสเป็น ส.ส.อยู่ไม่ไกล

ยกแรกยังให้นายอัคร จากพรรคพลังประชารัฐนำอยู่เล็กน้อย 

11.จังหวัดแพร่

แพร่ พื้นที่สีแดง และเป็นเพื่อไทยเข้มข้นอีกจังหวัด การเลือกตั้งในปี 2562 มีเพียง 2 เขตเลือกตั้ง ครั้งนั้นพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบพรรค ทำให้เป็นโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐมีโอกาสชนะการเลือกตั้งค่อนข้างสูง

แต่ผลการเลือกตั้งออกมาพรรคอนาคตใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากฐานเสียงของพรรคไทยรักษาชาติเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งแบบขาดลอยทั้ง 2 เขต การเลือกตั้งปีนี้ เพิ่มจาก 2 เขต เป็น 3 เขต ทำให้เป็นโอกาสของอดีตส.ส.ของพรรคเพื่อไทยที่ครั้งก่อนลงสมัครในนามพรรคไทยรักษาชาติ จะกลับมารักษาพื้นที่อีกครั้ง

เขตเลือกตั้งที่ 1 

นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ พรรคเพื่อไทย หมอทศ นอกจากจะเคลื่อนทางการเมืองในกรุงเทพอย่างสม่ำเสมอร่วมกับเด็กรุ่นใหม่แล้ว ยังมีเวลาลงพื้นที่หาเสียงโดยตลอด ทำให้เหนือกว่าคู่แข่งจากทั้งพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เป็นผู้สมัครส.ส.หน้าใหม่หลายขุม

นอกจากนั้นยังมีความพร้อมด้านทีมงานในการหาเสียงที่มีประสบการณ์และชำนาญในการจัดทัพ รวมถึงมีฐานเสียงคะแนนจากพรรคเพื่อไทยมานาน เขตนี้จึงมีโอกาสพลิกจากหมอทศพรยากมาก 

เขต 1 หมอทศพร นำขาด

เขตเลือกตั้งที่ 2 

นายแพทย์นิยม วิวรรธนดิฐกุล พรรคเพื่อไทย เป็นส.ส.จังหวัดแพร่ พรรคเพื่อไทยมาหลายสมัย และเคยลงปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่ผ่านมา มีฐานคะแนนเสียงจากชาวแพร่ และมีผู้สนับสนุนจากตระกูลวงศ์วรรณ ตระกูลใหญ่ของจังหวัดแพร่ ที่ล่าสุดมีนายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายก อบจ.แพร่ เป็นแกนนำคนสำคัญที่ให้การหนุนหลัง เมื่อบวกกับกระแสของพรรคเพื่อไทย ซึ่งยังเป็นที่ชื่นชอบของชาวจังหวัดแพร่ เขตนี้ก็ไร้คู่ทาบเช่นกัน 

เขต 2 หมอนิยม เพื่อไทย นำ

เขตเลือกตั้งที่ 3 

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญกุล พรรคเพื่อไทย เป็นอดีตส.ส.เพื่อไทยหลายสมัย ถือว่าเป็นคนมีบารมีในจังหวัดแพร่ อีกทั้งมีฐานเสียงจากพ่อนายเมธา เอื้ออภิญกุล และยังเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ขณะที่คู่แข่งอย่างพรรคภูมิใจไทย พรรษายังเทียบไม่ได้ เขตนี้ยากจะมีใครมาเทียบเช่นกัน

เขต 3 นายวรวัจน์ นำแบบไม่มีคู่แข่ง 

สรุปจังหวัดแพร่ ยังคงเป็นของพรรคเพื่อไทยแบบเบ็ดเสร็จทั้ง 3 เขต ตอกย้ำกระแสแลนด์สไลด์ของพรรคได้อีกหนึ่งจังหวัด

12. จังหวัดแม่ฮ่องสอน

จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเล็กๆ และเป็นหนึ่งจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ที่พรรคเพื่อไทยยังไม่เคยชนะการเลือกตั้งยกจังหวัดเหมือนจังหวัดอื่นๆ ทั้งภาคเหนือตอนบนถือเป็นพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยเกือบทุกจังหวัด

เลือกตั้งปีนี้ก็น่าจะคงเช่นเดิมที่พรรคเพื่อไทยยังไม่น่าจะชนะการเลือกตั้งทั้ง 2 เขต เมื่อเสธฯหิ ที่วันนี้เป็นนายหิมาลัย ผิวพรรณ ยกเพื่อนทีมเตรียมทหารรุ่น 25 ขึ้นเหนือมาช่วยพรรครวมไทยสร้างชาติกันอย่างเต็มที่

เขตเลือกตั้งที่ 1 

นายจำลอง รุ่งเรือง พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีเสธฯหิ ยกทีมขึ้นมาช่วยประกบหาเสียงบ่อยครั้ง ประกอบนายจำลองเป็นคนเอาใจใส่พื้นที่ และมีความตั้งใจช่วยเหลือ ที่คอยดูแลชาวบ้านในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาโดยตลอด

ในทุก ๆ ปัญหาที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะสิทธิทำกิน ทำให้นายจำลองยังครองใจคนแม่ฮ่องสอนได้แบบเหนียวแน่นเขตนี้โดยรวมเหมือนเขตนี้น่าจะเป็นของพรรครวมไทยสร้างชาติค่อนข้างเด็ดขาด

แต่สถานการณ์ของนายจำลองที่เริ่มมีอายุมากขึ้นทำให้ภาพของนายจำลอง เมื่อเทียบกับคู่แข่งจากพรรพลังประชารัฐ นายปกรณ์ จีนาคำ ที่ ร.อ.ธรรมนัส เป็นผู้สนับสนุนครองความได้เปรียบมากกว่า เขตนี้เป็นการปะทะกันระหว่าง เตรียมทหารรุ่น 25 เสธฯหิ และผู้กองธรรมนัส ว่าใครจะเหนือกว่ากัน 

ในช่วงต้น นายปกรณ์ จากพลังประชารัฐเหนือกว่า นายจำลอง จากรวมไทยสร้างชาติ 

เขตเลือกตั้งที่ 2 

เป็นการแข่งขันกันระหว่าง 2 ตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ คือ นายสมบัติ  ยะสินธุ์ จากพรรคประชาธิปัตย และ นายวิทยา หวานซึ้ง พรรคเพื่อไทย นายวิทยามีจุดเด่นที่เป็นชนเผ่าม้ง และประกอบธุรกิจพืชผลเกษตรรายใหญ่ส่งตลาดไท รวมถึงทำธุรกิจกับชนเผ่าต่างๆ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำให้มีฐานคะแนนเสียงของชาวม้งในพื้นที่ ขณะที่นายสมบัติก็ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มชาติพันธุ์ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเช่นกัน 

คะแนนของนายสมบัติ จากประชาธิปัตย์ และวิทยา จากเพื่อไทย แม้ค่อนข้างสูสีกัน แต่ในช่วงต้น พื้นที้เคยเป็นของประชาธิปัตย์มาก่อน ทำให้ฐานคะแนนเสียงของประชาธิปัตย์น่าจะดีกว่า 

เขตนี้ ให้นายสมบัติจากประชาธิปัตย์เป็นตัวนำ

โดยคาดว่า คะแนนทั้งหมดน่าจะมาจากชาวม้งที่มีความเชื่อมั่นในตัวของนายวิทยา เมื่อผสมกับฐานคะแนนส่วนหนึ่ง ซึ่งมีชาวแม่ฮ่องสอนบางส่วนที่พร้อมใจเทคะแนนให้กับพรรคเพื่อไทย ทำให้นายวิทยาน่าจะมีคะแนนนำในเขตนี้ 

13.จังหวัดลำปาง

จังหวัดลำปาง อีกหนึ่งจังหวัดของพรรคเพื่อไทย การเลือกตั้งปี 2562 พรรคเพื่อไทยชนะยกจังหวัดทั้ง 4 เขต ก่อนที่การเลือกตั้งซ่อมในปี 2563 แทนนายอิทธิรัตน์  จันทรสุรินทร์ บุตรชายของนายพินิจ จันทรสุรินทร์ที่เสียชีวิตจากอาการติดเชื้อในกระแสเลือดด้วยวัยเพียง 56 ปี

พรรคพลังประชารัฐภายใต้การนำของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า จะชนะการเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยไม่ส่งผู้สมัคร แต่การเลือกตั้งปีนี้ นายพินิจที่เริ่มทำใจได้จากการสูญเสียลูกชาย กลับมานำทีมตระกูลจันทรสุรินทร์จับมือกับตระกูลโล่ห์สุนทร ของนายไพโรจน์  โล่ห์สุนทร ลงสมัครนามพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง ทำให้พรรคเพื่อไทยน่าจะกวาดที่นั่งทั้ง 4 ที่ได้ทั้งหมด

เขตเลือกตั้งที่ 1 

นายกิตติกร โล่ห์สุนทร พรรคเพื่อไทย อดีตส.ส.ลำปาง บุตรชาย นายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร ที่มีฐานเสียงเหนียวแน่น จึงคาดว่า คะแนนเสียงจากชาวลำปางในเขตนี้จะเทมาให้ทายาทของอดีตส.ส.ลำปางหลายสมัย 

อย่างไรก็ตาม เขตนี้นายกิตติกร ยังมีคู่แข่งคนเดิม คือ ไก่ นางสาวทิพา  ปวีณาเสถียร นักธุรกิจสาว เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมน้ำแข็งและน้ำดื่ม PS จากพรรคอนาคตใหม่ ที่ครั้งนี้ลงสมัครในนามพรรคก้าวไกล เป็นคาแข่งคนสำคัญ  เพราะเลือกตั้งปี 2562 นายกิตติกร เอาชนะนางสาวทิพา ไปเพียง 2 พันคะแนนเท่านั้น 

เขต 1 แม้ยกแรกจะให้นายกิตติกร เพื่อไทย นำ แต่มีนางสาวทิพา ไล่จี้หลังมาติด ๆ เช่นกัน

เขตเลือกตั้งที่ 2 

นายธนาธร โล่ห์สุนทร พรรคเพื่อไทย อดีตส.ส.ลำปาง ลูกชาย นายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร อดีตส.ส.ลำปางหลายสมัย ผู้กว้างขวางแห่งค่ายบ้านสวน ที่ส่งลูกชายลงสนามเลือกตั้งอีก 1 เขต ซึ่งยังคงมั่นใจว่า คะแนนเสียงของชาวลำปาง ยังคงกากบาทให้กับนายธนาธรแน่นอน

เขต 2 นายธนาธร  เพื่อไทย นำ

เขตเลือกตั้งที่ 3 

นายจรัสฤทธิ์ จันทร์สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย อดีตส.ส.ลำปาง บุตร นายพินิจ จันทร์สุรินทร์ อดีตส.ส.ลำปาง ที่มีพ่อช่วยปูฐานทางการเมืองมาโดยตลอด จึงคาดว่าฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ยังคงจะสนับสนุนให้นั่งเก้าอี้ส.ส.ได้

เขต 3 นายจรัสฤทธิ์  เพื่อไทย นำ

เขตเลือกตั้งที่ 4 

นายพินิจ จันทร์สุรินทร์ ฉายาย่ำบะหินเป๋นน้ำ" ลงสู่ศึกเลือกตั้งเอง คาดว่ายังคงมาแรงคาดว่าจะคว้าที่นั่งในเขตนี้อย่างลอยลำ แม้จะมีคู่แข่งอย่าง ส.ส.เดิม คือหนานแมว นายเดชทวี ศรีวิชัย ที่ชนะการเลือกตั้ง ซ่อมครั้ง แล้ว แต่ปัจจุบันลาออกจากพรคเสรีรวมไทยไปซบพรรคภูมิใจไทย แต่ก็ยังเชื่อว่า ไม่มีบารมีพอ และคะแนนผู้สมัครพรรคเพื่อไทยก็น่าจะนำโด่ง

เขต 4 นายพินิจ เพื่อไทยนำ

สรุป 4 เขตของจังหวัดลำปางจะยังคงเป็นของพรรคเพื่อไทยเช่นเดิม 

14.จังหวัดลำพูน

ลำพูนเมืองแฝดของเชียงใหม่ ยังเป็นพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทยแผ่อิทธิพลครอบคลุมทั้ง 2 เขต การเลือกตั้งปี 2562 พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งทั้ง 2 เขต การเลือกตั้งปีนี้ยังยากที่จะมีพรรคการเมืองคู่แข่งมาช่วงชิงพื้นที่ทั้ง 2 เขตของลำพูนจากพรรคเพื่อไทยได้ 

เขตเลือกตั้งที่ 1 

เก้าอี้ยังคาดว่าจะเป็นของ แชมป์เก่า อย่างนายสงวน พงษ์มณี จากพรรคเพื่อไทย และยังเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำพูน ปี พ.ศ. 2544, 2548, 2550, 2554 คาดว่า พรรคเพื่อไทยยังคงมีคะแนนเสียงที่มากกว่าพรรคอื่นๆแต่คะแนนอาจจะไม่ได้ห่างจากอันดับสองมากนักเพราะในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐของบิ๊กป้อมและพรรครวมไทยสร้างชาติของ บิ๊กตู่ ต่างชูนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน ที่จะเพิ่มวงเงินให้กับผู้ที่ได้สิทธิ์ จุดนี้อาจจะช่วยดึงคะแนนเสียงจากผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปได้

เขต 1 นายสงวนจากเพื่อไทยนำ

เขตเลือกตั้งที่ 2 

จังหวัดลำพูนในการเลือกตั้งครั้งนี้ น่าจะแชมป์เก่ารั้งเก้าอี้ไว้ได้เหมือนเดิม โดยนายรังสรรค์ มณีรัตน์ จากพรรคเพื่อไทย ยังถือว่ามีแต้มสูงในการเดินเข้าสภาพร้อมกันอีกครั้งหนึ่ง แต่คะแนนอาจจะไม่ท่วมท้น ด้วยเหตุผลที่เหมือนกับเขต 1 ที่มีพรรคเด่น ผู้นำพรรคคนดัง หลายพรรค หวังที่จะได้ที่นั่ง ส.ส. ในเขตนี้ แต่ก็จะแรงไม่พอที่จะล้มแชมป์เก่าอย่าง พรรคเพื่อไทยลงได้

เขต 2 นายรังสรรค์ เพื่อไทยนำ

15.จังหวัดสุโขทัย

สุโขทัย เมื่อแกนนำกลุ่มลำน้ำยม สมศักดิ์  เทพสุทิน ที่อยู่พรรคพลังประชารัฐในนามกลุ่มสามมิตร หวนกลับสู่พรรคเพื่อไทยอีกครั้ง การกลับมาคำรบนี้ ย่อมต้องกลับมาแบบมีศักดิ์ศรี ซึ่งหมายถึงจะต้องชนะการเลือกตั้งยกจังหวัดทั้ง 4 เขตเท่านั้น หลังจากการเลือกตั้งในปี 2562 ที่มีเพียง 3 เขตเลือกตั้ง สมศักดิ์ ในนามกลุ่มสามมิตรจะชนะการเลือกตั้งเข้ามาเพียง 2 เขต และแพ้ให้กับพรรคภูมิใจไทยไป 1 เขต 

เขตเลือกตั้งที่ 1 

ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ พรรคเพื่อไทย น้องสาวนายสมศักดิ์ เทพสุทิน จะได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภาอย่างสบายๆ ไม่เหนื่อยมากนักด้วยการลงพื้นที่และทำคะแนนความนิยมส่วนตัวในเขตเลือกตั้งมาอย่างยาวนานตลอด 4 ปี ที่เป็น ส.ส อยู่ในสภาชุดที่แล้ว ดร.พรรณสิริก็ขยันลงพื้นที่พบปะชาวบ้านตลอด 4 ปีไม่เคยว่างเว้นไปพบปะทุกงานในพื้นที่บวกกับคะแนนจัดตั้งที่พี่ชายมีให้เป็นทุนเดิมในการเลือกตั้งครั้งนี้ฟันธงว่า ได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน

เขต 1 ดร.พรรณสิริ เพื่อไทย นำ

เขตเลือกตั้งที่ 2 

นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง พรรคเพื่อไทย ลูกทีมนายสมศักดิ์ เช่นเดียวกัน คะแนนจัดตั้งแน่นหนา ประกอบกับตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ขณะเป็น ส.ส ในสภาชุดที่แล้วก็ขยันลงพื้นที่สม่ำเสมอตุนคะแนนเสียงไว้เยอะ ไม่น่าจะพลาดในการเลือกตั้งครั้งนี้ ฟันธงว่า จะชนะการเลือกตั้งเข้าสู่สภาอีกครั้งอย่างแน่นอน

เขต 2 นายชูศักดิ์ เพื่อไทย นำ

เขตเลือกตั้งที่ 3 

นางสาวประภาพร ทองปากน้ำ พรรคเพื่อไทย ขยันลงพื้นที่ต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมาทำคะแนนนิยมขึ้นมามากพอสมควรแถมเป็นลูกสาวอดีต ส.ส หลายสมัยอย่างนายประศาสตร์ ทองปากน้ำ อีกทั้งในการเลือกตั้งครั้งนี้เข้ามาเป็นลูกทีมสังกัดนายสมศักดิ์ มีคะแนนจัดตั้งแน่นหนาให้

ฟันธงว่า ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาเป็นครั้งแรกแน่นอน โดยมีกระดูกชิ้นโต คือ นายสมเจตน์ ลิมประพันธ์ หลานชายของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร้อยตรีประพาส  ลิมปะพันธุ์ ที่สังกัดพรรคภูมิใจไทยที่บ้านใหญ่บุรีรัมย์ส่งสรรพกำลังมาสนับสนุนเต็มที่ เพียงแต่รอบนี้ยังสู้กระแสพรรคเพื่อไทยบวกฐานคะแนนของนายสมศักดิ์ไม่ได้  

เขต 3 นางสาวประภาพร เพื่อไทย นำ

เขตเลือกตั้งที่ 4 

นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล (พรรคเพื่อไทย) เขตเลือกตั้งนี้เข้าวินชนะแบบสบายๆนอนมาเนื่องจากไม่มีคู่แข่งสำคัญเลย ผู้สมัครเป็นหน้าใหม่ๆเท่านั้น ดังนั้น ในพื้นที่ของจังหวัดสุโขทัย พรรคเพื่อไทยน่าจะแลนด์สไลด์ได้สำเร็จชนะทั้ง 4 เขตเลือกตั้ง ด้วยบารมีของหัวหน้าทีมอย่างนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และ การแบ่งเขตที่เอื้ออำนวยต่อผู้สมัครพรรคเพื่อไทยในทุกเขตเลือกตั้ง

เขต 4 นายจักรวาล เพื่อไทย นำ

สรุปครั้งนี้มีโอกาสเป็นครั้งแรกทีนายสมศักดิ์ จะนำทีมพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งแบบยกทั้งจังหวัดเป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ นายสมศักดิ์ ยังไม่เคยทำทีมชนะการเลือกตั้งแบบยกจังหวัดครบทุกเขตได้เลย

ไม่ว่าจะย้ายไปสังกัดพรรคไหนเพียงแต่จะต้องรักษากระแสพรรคเพื่อไทย และกระหน่ำกระสุนให้ตลอดรอดฝั่งจนถึงวันเลือกตั้ง เพราะหากแผ่ว มีโอกาสที่นายสมเจตน์ จากพรรคภูมิใจไทยจะเจาะไข่แดงในเขตเลือกตั้งที่ 3 ได้ทันที  เพราะคนค่ายนี้แม้กระแสจะแผ่ว แต่กระสุนไม่มีแผ่วแน่นอน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีโอกาสชนะ

16.จังหวัดอุตรดิตถ์ 

อุตรดิตถ์ เมืองลับแล เลือกตั้งปี 2562 มี 2 เขตเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยกวาดมาทั้ง 2 เขต จากส.ส.หนวดงาม นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ และนายวารุจ  ศิริวัฒน์ เลือกตั้งปี 2566 เพิ่มเป็น 3 เขตเลือกตั้ง และมีจุดเปลี่ยนสำคัญที่นายศรัณย์วุฒิ ย้ายไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ และกำลังเป็นกำลังสำคัญ และเป็นอาวุธลับถล่มพรรคเพื่อไทยผ่านเวทีดีเบต และเป็นกระแสในโซเชี่ยลมีเดีย การเลือกตั้งปีนี้จึงน่าจับตามองอย่างยิ่ง 

เขตเลือกตั้งที่ 1 

นางสาวกฤษณา สีหลักษณ์ พรรคเพื่อไทย ด้วยศักยภาพที่มีกลุ่มก้อนใหญ่ อย่าง นายชัยศิริ ศุภรักษ์จินดา นายก อบจ.อุตรดิตถ์ และ กลุ่ม ส.อบจ.อุตรดิตถ์บางส่วน และตัวช่วยใหม่เครือข่ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.)

ที่โอนย้ายเข้ามาอยู่ในสังกัด อบจ.อุตรดิตถ์ และที่สำคัญเครือข่ายสตรี จ.อุตรดิตถ์ ที่มีนางยุพิน ท้าวเทพ เลขานุการสภา อบจ.อุตรดิตถ์ ที่รับบทบาทเป็นประธานกลุ่มสตรี จ.อุตรดิตถ์ ได้เข้ามาเป็นแรงหนุนให้กับ น.ส.กฤษณา ด้วยอีกแรง ประกอบกับการไม่ทิ้งพื้นที่ของ น.ส.กฤษณา จึงยังทำให้ ณ วันนี้ดีกรีเหนือคู่แข่ง

เขต 1 นางสาวกฤษณา เพื่อไทย นำ

เขตเลือกตั้งที่ 2 

นายวารุจ ศิริวัฒน์ พรรคเพื่อไทย น้องชายของนายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ คู่ปรับตลอดกาลกับนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ แต่ก็ไม่เคยกำชัยได้ ด้วยกระแสความนิยมพรรคเพื่อไทย น่าจะเป็นส่วนทำให้ตัดสินใจ ข้ามขั้วจากพรรคพลังประชารัฐ ลงสมัครพรรคเพื่อไทย และยังได้รับแรงหนุนจากกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น และฐานจาก อบจ.อุตรดิตถ์

บวกกับฐานคะแนนเก่าของนายวารุจเอง จึงทำให้ครั้งนี้เจ้าตัวมั่นใจว่า น่าจะได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน เพราะกระดูกชิ้นโตที่คอยขวางคอนายวารุจทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง คือ นายศรัณย์วุฒิ ซึ่งจนถึงวันนี้ความชัดเจนว่า ย้ายไปลงสมัคร ส.ส.เขต 3 จ.อุตรดิตถ์แต่ก็ส่งนางสาวรสรินทร์  ศรัณย์เกตุลูกสาวลงสมัครในเขตนี้ ที่แม้จะหน้าใหม่ แต่ก็ประมาทไม่ได้เช่นกัน 

เขต 2 นายวารุจ เพื่อไทย นำ

เขตเลือกตั้งที่ 3 

นายรวี เล็กอุทัย พรรคเพื่อไทย หนุ่มน้อยหน้ามล ในวัยอายุ 32 ปี บุตรชายของนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่อาศัยลูกขยันลงพื้นที่ร่วมกับชุมชน หน่วยงานต่างๆ งานศพ งานแต่งงาน งานประเพณีต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องแทบทุกกิจกรรม โดยมีพี่เลี้ยงในกลุ่ม อบจ.อุตรดิตถ์ ทำหน้าที่แทนนายทนุศักดิ์ ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ ณ เวลานี้

ดันเจอช้างเก๋าเกมส์การเมือง อย่างนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ อดีต ส.ส.อุตรดิตถ์ ที่ข้ามห้วยไปซบ ลุงตู่ รวมไทยสร้างชาติ กลายเป็นกระดูกชิ้นโต และแข็ง ที่พรรคเพื่อไทย จ.อุตรดิตถ์ ต้องปรับขบวนแผนการต่อสู้เป็นการด่วน

เขต 3 นายรวี เพื่อไทย นำ

สรุปยกแรก แม้เพื่อไทยจะได้เปรียบทั้ง 3 เขตเลือกตั้ง แต่ถ้าต้องการความชัวร์ว่า จะกวาดที่นั่งยกทั้ง 3 เขตได้แน่ งานนี้ต้องหาทางข้ามนายศรัณย์วุฒิ ที่กำลังทำตัวเป็นหมูไม่กลัวน้ำร้อนให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นอาจเสียเก้าอี้ไม่ใช่แค่เขตเดียว เพราะอาจจะเสียให้กับพรรครวมไทยสร้างชาติ และตระกูลศรัณย์เกตุถึง 2 เขต คือ เขตเลือกตั้งที่ 2 และเขตเลือกตั้งที่ 3 

เลือกตั้ง 2566 : เนชั่นวิเคราะห์เลือกตั้ง ส.ส. ภาคเหนือ 16 จังหวัด