ปชป. กังขา “แจกเงินดิจิทัล” 1 หมื่นบาท เอื้อธุรกิจครอบครัวหรือไม่

10 เม.ย. 2566 | 14:33 น.
อัปเดตล่าสุด :10 เม.ย. 2566 | 15:44 น.

“เกียรติ สิทธีอมร” พรรคประชาธิปัตย์ กังขา นโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อไทย เอื้อธุรกิจครอบครัวหรือไม่ บี้คนออกนโยบายชี้แจง ตั้งข้อสังเกตุกฎหมายไม่รองรับ ธปท.บอกชัดใช้ชำระหนี้ไม่ได้

นายเกียรติ สิทธีอมร คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า พรรคประชาธิปัตย์ มีท่าที มีความเห็น และมีคำถามถึงนโยบาย "แจกเงินดิจิทัล" 1 หมื่นบาท ให้กับคนไทย 55 ล้านคน ของพรรคเพื่อไทย ทั้งหมด 5 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. พรรคการเมืองต้องออกแบบนโยบายแล้วต้องรับผิดชอบตอบโจทย์ให้ชัดเจน เพราะนโยบายการแจกเงินดิจิทัลยังไม่มีความชัดเจนว่าจะแจกใน 6 เดือน หรือ แจกเพียง 1 ครั้ง เช่นเดียวกับแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ในการทำนโยบายก็ยังระบุไม่ได้ชัดเจน ล่าสุดยังต้องรอดูว่าการไปชี้แจงกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ได้ได้ข้อสรุปอย่างไร 

“คำถามตอนนี้อยู่ที่กกต.ว่า พรรคการเมืองเสนอนโยบายแบบนี้ทำได้หรือไม่ หรือ โยนหินถามทางไปวัน ๆ สุดท้ายไม่รู้ว่าเมื่อประชาชนได้ฟังนโยบายแล้ว เหมือนรู้สึกว่าจะมีข่าวดี แต่จริง ๆ ยังไม่รู้ว่านโยบายนี้จะทำยังไร แล้วผลกระทบเป็นอย่างไร”

2. พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยการการนำเงินภาษีประชาชนไปแจกคนรวย เพราะจำนวนคนที่จะได้รับเงินดิจิทัล 55 ล้านคน อาจมีคนที่ต้องการความช่วยเหลือเพียงแค่ 10-15 ล้านคนเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 35 ล้านคน ไม่ได้ต้องการเงินช่วยเหลือ แต่กลับเอาภาษีไปให้เขาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายแบบนี้ขอยืนยันว่า เพราะยังมีอีกหลายวิธีที่ทำได้

3. ทำไมต้องกำหนดว่าจะแจกคนไทยอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ถ้านโยบายแจ้งชัดเจนว่าจะช่วยนักเรียนที่กู้เงินกยศ. เรื่องนี้เห็นด้วย แต่หากจะช่วยนักเรียนที่มีฐานะดี ขับรถไปเรียนหรือพ่อแม่ขับรถมารับมาส่งทุกวัน ไม่เห็นด้วยแน่นอน เพราะการนำภาษีของประชาชนที่ได้มายาก และเอาไปใช้ในลักษณะนี้ไม่ได้

4. การจัดเก็บภาษีของรัฐมีจำกัด ขณะที่ภาระของประเทศมีมาก ทุกบาททุกสตางค์ต้องเข้าเป้าไม่ใช่กระจายเป็นเหมือนเบี้ยหัวแตก ซึ่งวิธีที่จะช่วยแจกเงินให้ง่ายขึ้น แนะนำว่า ให้ไปช่วยคนมีรายได้น้อยที่ไม่มีบัญชีธนาคาร หรือ มีเงินในบัญชีธนาคารไม่ถึง 10,000 บาทก็เอาเงินเติมไปให้ ถือว่าตรงเป้ากว่า และง่ายกว่ามาก ที่สำคัญคือทำให้เงินส่งไปถึงมือกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นต้องช่วยจริง ๆ โดยที่ไม่ต้องผ่านกระเป๋าดิจิทัลของใคร

5. ทำไมต้องเป็นเงินดิจิทัล ซึ่งกรณีนี้ นายเกียรติ ระบุว่า ที่ผ่านมาพยายามทำความเข้าใจเรื่องนี้ และได้คุยกับเพื่อนในแวดวงก็ทราบมาว่า ที่ผ่านมาบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เข้าไปซื้อหุ้นบริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัล เมื่อปี 2564 จึงตั้งข้อสังเกตว่าทำไมถึงพอดีกันอย่างนี้

“ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องถึงต้องบังคับให้คนถึง 80% ของประชากรทั้งประเทศต้องใช้เงินดิจิทัล รับฟังไม่ขึ้น แต่เท่าที่เห็นได้ชัดคือ คนที่จะขายสกุลเงินดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัวหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ทราบ แต่เมื่อถึงวันที่ขายทรัพย์สินดิจิทัลเพื่อแจกประชาชน บริษัทนี้จะรวยทันที”

นายเกียรติ ยอมรับอีกว่า ปัจจุบันนี้ค่าเงินดิจิทัลมีความผันผวนมาก โดยใน 1 เดือนที่ผ่านมามูลค่าลดลงไปมาก และส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และธนาคารพาณิชย์ในยุโรป และสุดท้ายเมื่อทำแล้วไม่ทราบว่า ร้านค้าต่าง ๆ มีความพร้อมหรือไม่ในการรับเงินดิจิทัล เมื่อรับแล้วจะไปขึ้นเงินกับใคร และจะโดนลดค่าเงินด้วยหรือไม่

“เหตุผลตอนนี้มันมีไม่พอ เพราะเท่าที่เห็น เห็นประโยชน์ของบริษัทเงินดิจิทัล แต่ไม่เห็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติในแนวทางนี้ อยากให้ช่วยตอบเรื่องนี้ เพราะตัวเองมีความรู้น้อย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และอยากให้คนที่นำเสนอนโยบายช่วยตอบ ซึ่งจริง ๆ ถ้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ตรงเป้าใช้เงินน้อยได้ผลมากมันมีวิธีอื่นเยอะ แต่วิธีนี้กลับใช้เงินมากและได้ผลน้อย”

นอกจากนี้ยังต้องข้อสังเกตว่า ในการทำนโยบายนี้อาจมีส่วนต่างเกิดขึ้นจากเงินที่ใส่ไปด้วยหรือไม่ ซึ่งจะต้องไปดูกันอีกทีว่าเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันในแง่ของกฎหมายการดูแลเงินดิจิทัล ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับ แถมที่ผ่านมายังมีการแจ้งด้วยว่า ห้ามใช้เงินดิจิทัลในการชำระหนี้ด้วย

ส่วนกรณีการตั้งข้อสังเกตว่า การออกเงินดิจิทัลอาจมีการนำทุนสำรองมาเป็นแบ็คอัพเพทื่อสร้างความน่าเชื่อถือนั้น เห็นว่า ถ้าทำจริงเป็นเรื่องที่อันตรายมาก และมีความเสี่ยงต่อระบบการเงินของประเทศ