เลือกตั้ง 2566 : วิเคราะห์แคมเปญ 4 พรรคการเมืองใหญ่ ยกแรก “กูรู” ให้ “เกรด C”

30 มี.ค. 2566 | 10:00 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มี.ค. 2566 | 10:20 น.

ผู้เชี่ยวชาญ วงการโฆษณาให้คะแนน แคมเปญเลือกตั้ง 2566 ของ 4 พรรคการเมืองใหญ่ ยกแรก ให้เกรด C ชี้การสื่อสารต้องชัดเจน ตรงประเด็น ถูกใจ FC แต่ยังไม่ไร้อิทธิพลสร้างกลุ่มใหม่

การเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ทำให้การเมืองไทยคึกคักขึ้นทันที เมื่อ “พรรคการเมือง” ต่างชิงส่งแคมเปญแนะนำตัว นำเสนอผลงานที่เคยสร้างมา พร้อมบอกถึงนโยบายพรรค หวังเข้าถึงประชาชน โดยเฉพาะ 4 พรรคใหญ่ ประกอบด้วย

"พรรคประชาธิปัตย์" ที่นำร่องปล่อยเพลง “เช้าวันใหม่” โหมโรงเลือกตั้ง พร้อมสโลแกนพรรค “ทำได้ไว ทำได้จริง” ตามด้วย

"พรรคเพื่อไทย" ที่มาสร้างแลนด์สไลด์ ภายใต้แคมเปญ “คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน” ที่รวมนโยบายเด็ดๆแบบรอบด้าน

"พรรครวมไทยสร้างชาติ" ของลุงตู่ ที่มาด้วยสโลแกน “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” นำร่องด้วยแคมเปญชุด “ไอติม”  ตามด้วยคลิปโฆษณา “เงยหน้า” ที่มากระตุกต่อมคนรุ่นใหม่

"พรรคพลังประชารัฐ" ที่บิ๊กป้อมนำทัพ พร้อมชูแนวคิด “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ซึ่งเชื่อว่าหลายคนได้เห็นแคมเปญต่างๆที่ส่งออกมา มีทั้งคำชมและคำบ่น

 

แต่สำหรับในวงการโฆษณาแล้วนั้น ผลงานแคมเปญของทั้ง 4 พรรคการเมืองใหญ่เป็นอย่างไร ลองมาฟัง “รติ พันธุ์ทวี” นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย สะท้อนให้ฟัง

รติ พันธุ์ทวี

“รติ” บอกว่า สิ่งหนึ่งที่ได้เห็นคือ รู้สึกว่าเป็นความแปลกใหม่ของการแข่งขันทางการเมือง การเลือกตั้งที่ไม่เคยเห็นภาพแบบนี้มาก่อน เป็นสิ่งใหม่ที่รู้สึกว่า เป็นเรื่องใหม่ๆที่ดี แต่ในแง่ของหลักการโฆษณา ใจความสำคัญประเด็นหลักจะถูกสื่อสารได้อย่างชัดเจนหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง

เพราะจะเห็นว่าแต่ละพรรคพยายามสร้างภาพตัวเองให้ชัดขึ้น และเรื่อง “แบรนด์” เป็นเรื่องสำคัญ วันนี้เห็นได้ชัดเจนว่า branding ก็มีนัยยะสำคัญต่อพรรคการเมือง เพราะต้องแสดงตัวออกมาให้ชัดเจนว่า สิ่งที่เขาจะตอบสนองความต้องการของประชาชนคืออะไร และเขาจะเป็นประโยชน์อย่างไรให้กับประชาชน

พรรคประชาธิปัตย์

หมดยุคที่จะออกมาปาหี่ เน้นมันสะใจ คงไม่มีแล้ว"

ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ๆในยุคปัจจุบัน เขามีตรรกะ มีวิธีคิดและมีอะไรหลายอย่าง ที่เขาต้องการตัดสินใจด้วยตนเอง อย่ามาปาหี่หลอก แต่ก็เห็นได้ว่า แต่ละพรรคต้องการแสดงออกถึงความติดดิน การเข้าถึง  ความรู้สึกเข้าถึงได้ แต่ถ้าถามถึงประเด็นใจความสำคัญของเนื้อหาก็จะมีบางพรรคที่รู้สึกว่าชัด  บางอันยังไม่ชัด

พรรคเพื่อไทย

ตอนนี้ยังพูดไม่ได้ เพราะบางพรรคอาจจะมีแคมเปญต่อเนื่อง อาจจะมีตัวตามออกมาอีก จะไม่แฟร์สำหรับเขาที่จะตัดสินเขา แต่เท่าที่เห็นคือ บางอันชัด บางอันไม่ชัด ในยุคสมัยนี้ ถ้าพูดในหลักการสื่อสาร คุณต้องชัดเจน  ภาษาคือ Get to the point  และผู้รับฟังการสื่อสารนั้นเขาจะได้ประโยชน์อะไร จากการบอกเล่าของคุณอันนี้เป็นหัวใจสำคัญซึ่งอาจจะยังไม่ครบถ้วนในบางพรรค”

“รติ” บอกว่า ทันทีที่ดู ไม่ว่าจะเป็นพรรคใดก็ตามรู้สึกว่า “มีพลัง” ในการสร้างความเหนียวแน่น ภาษาตลาดเรียกว่า ได้ลูกค้าปัจจุบัน แต่จะมีอิทธิพลในการเข้าถึงลูกค้าใหม่หรือไม่ อันนี้ “ไม่รู้”

เพราะถ้าคุณชอบพรรคนี้อยู่แล้ว คุณก็จะชอบพรรคนี้ต่อไป แต่คนใหม่ๆที่ยังไม่ชอบคุณ เขาจะมาชอบคุณหรือเปล่าอันนี้ไม่แน่ใจ เพราะดูจากวิธีนำเสนอนั้นเป็นการนำเสนอที่รู้สึกว่า คนที่เป็นแฟนคลับอยู่แล้ว ก็จะเป็นแฟนคลับ เขาก็จะชอบ แต่จะมีอิทธิพลในการสร้างลูกค้ากลุ่มใหม่หรือไม่ อันนี้อาจจะต้องติดตามดูต่อไป

“เป็นการทำเพื่อให้คนที่ชอบแล้วชอบต่อไป แต่จะสร้างผู้บริโภคหรือกลุ่มลูกค้าใหม่ หรือไม่ อันนี้ยังไม่ชัดและบอกได้ว่าไม่สร้าง ดูจากที่เห็นไม่สร้าง ยกเว้นคุณจะมีแคมเปญต่อเนื่องในการที่จะดึงดูดคนอื่นให้มาชอบคุณ”

“รติ” ยังสรุปถึงสิ่งที่พรรคการเมืองควรจะต้องมองคือ 1. ต้องมีประเด็นหลัก มีคีย์ message ใจความที่ต้องการสื่อสารให้ชัดเจน 2. อะไรคือประโยชน์ของผู้ที่ได้รับสารนั้น พูดง่ายๆ คือ  “ประชาชน” จะได้รับอะไร และต้องชัดกว่านี้ 3. อาจจะต้องมีพลังในการเรียกร้องความสนใจในมุมที่กว้างขึ้น

พรรครวมไทยสร้างชาติ

“ถือว่าเป็นยกแรก เพราะเพิ่งเริ่ม too soon ยังเร็วไปที่จะบอกได้ เพราะอาจจะมีหมัด  2  3 มา 4  ตามมา แต่มีความชัดเจนมากว่า “Branding” มีนัยยะสำคัญในวงการเลือกตั้งแล้ววันนี้ และแต่ละแบรนด์มีความกระตือรือร้นที่จะสร้างภาพลักษณ์ของตัวเองให้ชัดเจนว่าเขาเป็นใคร อันนี้ชัด

“4 แคมเปญนี้ให้คะแนนรวมๆ แค่ผ่าน หากเป็นแค่ “น้ำจิ้ม” ก็ผ่าน อาจจะได้เกรด C เพราะยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่อย่างที่บอก อาจจะมีหมัด 2 หมัด 3 ตามมา ซึ่งจะอาจจะไม่แฟร์ สรุปว่าต้องรอดูสักครึ่งทาง แล้วจะมาประเมินอีกครั้ง”

พรรคพลังประชารัฐ

สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือ “สื่อ” มีความสำคัญและมีบทบาทมากขึ้นนับจากนี้  เพราะแคมเปญและเนื้อหาของพรรคที่นำเสนอไว้ค่อนข้างยาวมาก ด้วยพฤติกรรมผู้ชม อาจจะไม่ดูจนจบ ดังนั้นพรรคต้องมีวิธีที่จะสื่อสารและต้องวัดกันว่า 1. ช่องทางที่เขาจะใช้ในการสื่อสารคืออะไร อันนี้จะมีผลกระทบในเชิงธุรกิจของสื่อ

2. เขาจะมีความสามารถในการกระชับข้อความให้เข้าถึงอย่างรวดเร็วและมีพลังได้อย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องมอนิเตอร์ ในหลักของวิชาการของการสื่อสาร เพราะวันนี้พูดในเชิงทฤษฏีการสื่อสาร เป็นเพียงแค่การสร้างการรับรู้ในวงกว้าง แต่ยังไม่ได้เจาะลงลึกในใจความสำคัญของสิ่งที่คุณต้องการสื่อสาร ยังไม่เห็นว่าเขาไปทำกิจกรรมในช่องทางที่เข้าถึงผู้รับสารที่ไหน อย่างไร   

“วันนี้สื่อโซเชียลน่าจะมีอิทธิพลสำคัญในทุกกลุ่ม แต่จะเลือกใช้แพลตฟอร์มใด เฟซบุ๊ค อินสตราแกรม หรือ TikTok แต่ละพรรคจะมีกลยุทธ์ในการเลือกสื่อแบบไหน ต้องจับตาต่อไป”